รวมศาสตร์รับมือ อาการวัยทอง
วัยทอง เป็นคำเรียกวัยของผู้หญิงที่เข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือน และไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้นที่เกิดภาวะขาดฮอร์โมนเพศ แต่ในผู้ชายก็พบภาวะนี้เช่นกัน เพียงแต่ในผู้ชายจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ของผู้หญิงจะลดลงแบบฮวบฮาบ จึงทำให้ อาการวัยทอง แสดงออกอย่างชัดเจนได้มากกว่าในผู้หญิง
สำหรับผู้หญิงไทยมักหมดประจำเดือนเมื่ออายุเฉลี่ย 48-50 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่รังไข่เริ่มหยุดทำงาน ในขณะที่ผู้ชายนั้นการสร้างฮอร์โมนเพศชายจะลดลงประมาณปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่อายุย่างเข้าวัย 40 ปี ส่วนใหญ่จะเริ่มเข้าสู่วัยทองเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่นการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ สูบบุหรี่จัด และดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น จนทำให้บางคนอาจจะเข้าสู่วัยทองได้ตั้งแต่อายุ 35 ปีเลยทีเดียว
อาการวัยทอง มักพบอาการดังนี้
ด้วยเพราะฮอร์โมนในผู้หญิงลดลงไปอย่างรวดเร็วในช่วที่เข้าสู่วัยทอง จึงทำให้อาการของผู้หญิงแสดงออกได้ชัดเจนกว่าผู้ชายที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยทอง แต่ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง หรือเพศชาย อาการที่แสดงออกจะมีลักษณะที่คล้ายกันคือ
1. ออกร้อนวูบวาบ
2. ใจสั่น
3. นอนไม่หลับ
4. หงุดหงิดง่าย
5. ขี้น้อยใจง่าย
6. ซึมเศร้า
7. ความจำลดลง
8. ผิวแห้ง เล็บเปราะ
9. ปวดเมื่อยตามตัว
10.เจ็บแสบช่องคลอด
11. กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
สารอาหารรับมือวัยทอง
เมื่อเข้าสู่วัยทอง เรื่องอาหารการกินนับว่ามีส่วนช่วยเหมือนกันนะคะ เราลองมาดูว่าอะไรน่าสนใจบ้าง
- ไฟโตเอสโทรเจน พบในถั่วเหลือง เมล็ดแฟลกซ์ น้ำมะพร้าว ช่วยบรรเทาอาการ้อนวูบวาบและช่องคลอดแห้งได้
- แคลเซียมและวิตามินดี ลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน เพิ่มภูมิคุ้มกัน
- กรดแอมิโนทธิปโตเฟน ช่วยผ่อนคลาย ลดอารมณ์แปรปรวน
- วิตามินเอ ช่วยลดอาการเบื่ออาหาร
- วิตามินอี ช่วยต้านอนุมูลอิสระ แก้อาการช่องคลอดแห้ง
- วิตามินซี ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน ซึ่งช่วยชะลอความเหี่ยวย่น
ศาสตร์จีนเยียวยา อาการวัยทอง
พญ.ศรันยา กตัญญูวงศ์ หรือคุณหมอส้ม แพทย์แผนปัจจุบันผู้ผสมผสานวิธีการรักษาแบบแผนปัจจุบันและแผนจีนเข้าไว้ด้วยกัน อธิบายว่า
ในทางการแพทย์แผนจีนมีมุมมองด้านนี้โดยอิงประโยคที่ว่า เมื่อผู้หญิงเราย่างเข้าอายุ 40 ปีไปแล้ว หยินหรือความเย็นในร่างกายจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง แต่หยางหรือความร้อนยังมีปริมาณเท่าเดิม ทำให้ปริมาณหยางหรือความร้อนในร่างกายเกิน
วิธีแก้คือ การหาทางบำรุงหยินให้เพิ่มปริมาณขึ้นมา โดยลดปริมาณหยางลง เพื่อให้เกิดความสมดุลหยินและหยางกลับมาอยู่ในปริมาณใกล้เคียงกัน ช่วยให้อาการต่างๆ เหล่านี้ลดลงหรือหายไป
เสริมหยินลดอาการวัยทอง
การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายที่ช่วยอาการดังกล่าว ได้แก่ รำไท้เก๊ก ชี่กง ซึ่งเป็นการออกกำลังกายช้าๆ ขยับเรื่อยๆ แต่นานหน่อย สูดลมหายใจเข้าลึกๆ เพื่อให้ข้อต่อโดยเฉพาะข้อเข่าแข็งแรงป้องกันข้อเข่าเสื่อมตอนสูงวัย
อาหารการกิน
ส่วนใหญ่แนะนำให้กินอาหารจำพวกเต้าหู้และนมถั่วเหลือง หลักการนี้อยู่มาเป็นพันๆ ปี ก่อนที่การแพทย์แผนปัจจุบันจะทราบว่ามีสารคล้ายเอสโทรเจนของพืชอยู่ในถั่วเหลือง ซึ่งสามารถลดอาการวัยทองได้ สังเกตจากเมนูอาหารชื่อดังของจีนคือมาโผตู้ฟู่หรือเต้าหู้ของป้ามาโผ
ลดอาการร้อนวูบวาบ
หากมีอาการร้อนวูบวาบหรือเหงื่อออกกลางคืน ทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้จนมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน ขอแนะนำให้เข้ารับการรักษา โดยในทางแผนจีน มีการรักษาหลากหลาย คือ
- ฝังเข็มปรับฮอร์โมน ปรับสมดุล โดยฝังเข็มในจุดที่จะช่วยเอาหยางหรือความร้อนออก
- กินยาจีนบำรุงหยิน และขับหยางหรือความร้อนส่วนเกินออก โดยเน้นไปที่สมุนไพรรสขม รสชาติจึงไม่ค่อยดีนัก
เคล็ดลับดูแลตัวเองของผู้ที่เข้าสู่วัยทอง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
- ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร
- เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
- จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ฝึกการผ่อนคลายอารมณ์ ลดความเครียด และฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ บ่อยๆ
- ในกรณีไม่สามารถผ่อนคลายความเครียดด้วยตนเองได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เรื่องความวิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน และ ปัญหาเพศสัมพันธ์ (ถ้ามี)
- สร้างนิสัยการนอนที่ดี และ พักผ่อนให้เพียงพอ
- บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และกระชับช่องคลอด
- เข้าชมรม อาสาสมัคร หรือหางานอดิเรกใหม่ ๆ ทำ
- ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และคัดกรองเบื้องต้น ในระหว่างและหลังวัยหมดประจำเดือน เช่น ตรวจเลือด ตรวจความหนาแน่นของกระดูก ตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจมะเร็งเต้านม เป็นต้น
- ดื่มน้ำมะพร้าว เพราะมีสารเอสโทรเจนจากพืชอยู่
- เสริมด้วยวิตามินอื่นควรจะเป็นน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส (Evening Primrose Oil) น้ำมันจากเมล็ดแฟลกซ์(Flaxseed Oil) ซึ่งมีการวิจัยกันแล้วว่าช่วยลดอาการวัยทองได้ดี
แม้วัยทองจะเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของร่างกาย เป็นการก้าวผ่านจากวัยเจริญพันธ์เข้าสู่ช่วงสูงวัย จึงส่งผลให้หลายคนกังวลใจ แต่การเอาใจใส่ดูแลสุขภาพให้เหมาะสมกับช่วงวัย รวมถึงหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคแทรกซ้อนอันตรายต่างๆ การพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการวัยทองและรับการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสม จะช่วยให้ผ่านช่วงวัยทอง ไปได้ด้วยสุขภาพที่แข็งแรงและปราศจากโรคภัย
ข้อมูลจาก
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 428
- โรงพยาบาลสมิเวช
บทความอื่นที่น่าสนใจ
How to ฟิต 5 ระบบ สู้ อาการวัยทอง
ทำไม วัยทองเสี่ยงโรค หัวใจและหลอดเลือด และโรคกระดูกพรุน
อาการวัยทอง มาเร็วกว่ากำหนด คืออะไร ปัจจัยใดเป็นตัวเร่ง
ติดตามชีวจิตได้ที่ :
Facebook : นิตยสารชีวจิต
Instagram : Cheewajitmedia
TikTok : cheewajitmediaofficial