วัยทอง

อาการวัยทอง มาเร็วกว่ากำหนด คืออะไร ปัจจัยใดเป็นตัวเร่ง

อาการวัยทอง มาเร็วกว่ากำหนด คืออะไร มีปัจจัยใดเป็นตัวเร่ง มาหาคำตอบกันเลย

อาการวัยทอง มาเร็วกว่ากำหนด คืออะไร แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์ชื่อดัง คอลัมนิสต์และเจ้าของผลงานหนังสือเชิงสุขภาพหลายสิบเล่ม รวมทั้งหนังสือวัยทอง อธิบายว่า

“วัยทองมาจากภาษาอังกฤษ (Golden Period) ภาษาไทยคือ วัยหมดประจำเดือน (Menopause) และต้องเป็นการหมดประจำเดือนตามธรรมชาติในวัยที่เหมาะสมนาน 1 ปี พอครบตามกำหนดก็เรียกว่าวัยทองนั่นเอง”

“คำว่าประจำเดือนหมดตามธรรมชาติในที่นี้ไม่ได้เกี่ยวกับการกินยาคุม การฉีดยาคุม หรือการผ่าตัด การรักษามะเร็งโดยการฉายแสง (รังสีรักษา) เคมีบำบัดแล้ว ประจำเดือนหายไป แต่หมายถึงหมดตามอายุ ถ้าเป็นคนไทยคือ อายุ 48 – 51 ปี หรือบางตำราคือ 49 – 52 ปี”

อาการวัยทอง มาเร็วกว่ากำหนด คืออะไร

หมอชัญวลีอธิบายว่า “การหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ โดยทั่วไปมักไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าหมดประจำเดือนก่อนเกณฑ์มาก ๆ เช่น หมดประจำเดือนตอนอายุ 40 ปี ถือว่าไม่ปกติ เรียกว่า Early Menopause กรณีนี้จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา หรือ ถ้าหมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี ก็ยังถือว่าหมดเร็วไปเช่นกัน ก็ต้องพิจารณา

“ส่วนผู้หญิงที่หมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี ถือว่าหมดประจำเดือนช้าเกินไป กลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งโพรงมดลูกได้มากขึ้น

“สำหรับผู้ชาย กรณีที่เข้าสู่วัยทองเร็วเกินไป เราพบได้ตั้งแต่ อายุ 35 – 40 ปี ข้อสังเกตคือ ลูกอัณฑะจะลดขนาดลงจากปกติ 3 – 5 เชนติเมตร เหลือ 2 – 3 เซนติเมตร สัมพันธ์กับอัตราการผลิตฮอร์โมนเพศชายที่ลดน้อยลง”

ปัยจัยที่ทำให้ อาการวัยทอง มาถึงเร็วกว่ากำหนด ในหญิงและชาย

สิ่งแวดล้อม

ได้แก่ อาหารการกินไม่สมบูรณ์ การขาดสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย กินอาหารรสจัด ของมัน ของทอด แป้ง น้ำตาล

พฤติกรรมการใช้ชีวิต

เช่น ความเครียดเรื้อรัง นอนดึกเป็นนิจ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ ใช้สารเสพติด สูบบุหรี่เป็นประจำ

ผลจากการศึกษาจำนวนไม่น้อยพบว่า การสูบบุรี่เป็นประจำมีส่วนทำให้เข้าสู่วัยทองก่อนผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 5 ปี เนื่องจากสารพิษจำนวนมากในบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดแข็ง ทำให้ส่งเลือด ออกซิเจน และสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่ดี อวัยวะสืบพันธุ์อย่างรังไข่ จึงมีโอกาสฝ่อได้ เป็นเหตุให้ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง

โรคภัยไข้เจ็บเรื้อรัง

เช่น เอสแอลอี โรคที่ทำให้หลอดเลือดส่งเลือดไปเลี้ยงรังไข่หรืออัณฑะได้ไม่ดี เป็นโรคเลือดทาลัสซีเมีย โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งบริเวณอุ้งเชิงกรานชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งโพรงมดลูก กลุ่มโรคที่ทำให้การสร้างฮอร์โมนลดลง เช่น โรคความดัน โลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต

ประสบการณ์การรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่ผ่านมา

เช่น การผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง การรักษาด้วยการฉายแสง(รังสีรักษา) การรักษาด้วยเคมีบำบัด สำหรับผู้ชายจะเป็นการรักษาที่เกี่ยวกับอัณฑะ ลูกอัณฑะได้รับความร้อนมาก โรคคางทูมลงอัณฑะ

ประสบการณ์การกระตุ้นรังไข่ในผู้หญิง

ปัจจุบันเรามีการใช้ฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่มาก เพื่อทำเด็กหลอดแก้ว อุ้มบุญ เหล่านี้จะทำให้หมดประจำเดือนเร็วและเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าปกติได้

การไม่มีลูก และการไม่ได้คุมกำเนิดเลยในผู้หญิง

เพราะรังไข่จะมีไข่จ่ายออกทุกเดือน ตรงกันข้ามกับการมีลูกหลายคนที่จากสถิติพบว่ามักจะเข้าสู่วัยทองช้า จะเห็นว่าผู้หญิงบางคนที่มีลูก 9 – 10 คนมาหมดประจำเดือนตอนอายุ 60 ปีอย่างไม่น่าเชื่อ

นั่นน่าจะสัมพันธ์ว่าการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง รังไข่จะหยุดทำงาน 2 ปี เนื่องจากการตั้งครรภ์ใช้เวลา 9 เดือน ช่วงหลังคลอดก็ให้ลูกกินนมประมาณ 6 เดือน ดังนั้นกว่ารังไข่จะกลับมาทำงาน ไข่ตกตามรอบอีกครั้งก็ประมาณ 2 ปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่เสมอไป ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น การขาดสารอาหาร ร่างกายผอมบางเกินไป

อาหารลดอาการร้อนวูบวาบ

อาหารที่ทำจากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ เทมเป้ แป้งถั่วเหลือง เพราะในถั่วเหลืองมีสารไอโซฟลาโวน (Isoflavone) ซึ่งคล้ายกับเอสโทรเจน จะช่วยชดเชยการขาดเอสโทรเจน และยังช่วยปรับระดับเอสโทรเจนให้ลดลงอยู่ในเกณฑ์ที่สมดุลกับโพรเจสเทอโรนด้วย

อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม วิตามินซี และวิตามินอี ซึ่งจะช่วยให้กระดูกแข็งแรงและปรับระดับไขมันในเลือดให้สมดุล รวมทั้งช่วยป้องกันการเกิดอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกในเวลากลางคืน และช่องคลอดแห้งได้

อาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันจากพืช เช่น ถั่วแดงหลวง ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ถั่วแขก เมล็ดพืชต่างๆ เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน ธัญพืชจำพวกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์

ปลาที่มีไขมันมาก เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาทู ปลาซาบะ ปลาสวาย และ
พุงปลาช่อน สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มกรดไขมันจำเป็นให้ร่างกายนำไปสร้างความชุ่มชื่นแก่ผิวหนัง ช่องคลอด และเยื่อบุช่องคลอด

ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม แอ๊ปเปิ้ล เซอร์รี่ พลัม สับปะรด เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินซีอย่างเพียงพอ

หลีกเลี่ยงอาหารก่อพิษ เช่น กาแฟ เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ไวน์ ช็อกโกแลต ชีส และเลี่ยงอาหารรสจัด เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการร้อนวูบวาบมากขึ้น

บทความอื่นที่น่าสนใจ

6 อาหาร ลดอาการร้อนวูบวาบ ในสาววัยทอง

รู้จัก ฮอร์โมน ก่อนร่างกายสวิง

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

50+ ร่างกายเปลี่ยนไป แค่ไหนกัน

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.