กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง อาการดูไม่หนัก แต่ซ่อนปัญหาสุขภาพใหญ่ให้เราต้องตกใจ

กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง อาการสุดแสบที่มักกวนชีวิตคนวัยทำงาน

รู้ไหมว่า อาการหนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น โฟกัสภาพไม่ได้ มองเห็นภาพซ้อน ที่หลายคนคิดว่ากิดขึ้นตามวัย หรืออาจเพราะการจ้องจอคอมพิวเตอร์และมือถือเป็นเวลานาน แต่อาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ที่ร้ายแรง

รองศาสตราจารย์ พญ.พริมา หิรัญวิวัฒน์กุล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำตอบเกี่ยวกับอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตามาฝาก

โรค กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หรือ โรค MG คืออะไร

Myasthenia Gravis หรือที่เรียกกันย่อๆ ในกลุ่มแพทย์และคนไข้ว่า “โรค MG” เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายระบบของร่างกาย ซึ่งหากเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบริเวณดวงตาก็จะทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ocular Myasthenia Gravis) ภาวะที่เปลือกตาหรือกล้ามเนื้อยึดลูกตาอ่อนแรงหลังจากใช้งานไประยะหนึ่ง

อาการสำคัญคือ หนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น โฟกัสภาพไม่ได้ เกิดภาพซ้อน ลักษณะคือเห็นภาพ 2 ภาพเหลื่อมกันหรือเห็นภาพแยกออกจากกัน เนื่องจากแนวการมองของดวงตาทั้งสองข้างไม่มองไปในตำแหน่งเดียวกัน แต่หากคนไข้ปิดตาข้างใดข้างหนึ่ง ภาพซ้อนดังกล่าวจะหายไป

รศ.พญ.พริมา อธิบายว่า “ลักษณะสำคัญของโรค MG คือ อาการจะไม่คงที่ เป็นๆ หายๆ เมื่อไรที่คนไข้ได้พักผ่อนเต็มที่ ไม่เหนื่อยล้า อาการก็จะดีขึ้น แต่พอใช้งานสายตาไปสักพัก อาการก็จะแย่ลง เช่น เวลาตื่นนอนตอนเช้า ดวงตามีขนาดเท่ากัน แต่พอบ่ายๆ กล้ามเนื้อดวงตาเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาที่ใช้งาน หนังตาจะเริ่มตกลงเรื่อยๆ โฟกัสภาพไม่ได้ เห็นภาพซ้อน”

อย่างไรก็ดี อาการดังกล่าวไม่จำเพาะว่าจะเป็นอาการของโรค MG เท่านั้น แต่อาจเกิดจากการที่เส้นประสาทในสมองมีปัญหาและโรคอื่นๆ ได้เช่นกัน

“จริงๆ แล้ว โรค MG ไม่ได้เกิดขึ้นที่ตาอย่างเดียว แต่สามารถเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ซึ่งโรค MG ที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อตาอาจจะเป็นอาการนำของโรค MG แบบทั่วร่างกายได้ โรค MG แบบที่เกิดขึ้นทั่วร่างกายอาจก่อให้เกิดปัญหากับระบบการกลืนและการหายใจที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น แพทย์ต้องวินิจฉัยด้วยว่าอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่คนไข้เป็นอยู่นั้นมีอาการกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ของร่างกายร่วมด้วยหรือเปล่า”

รศ.พญ.พริมา อธิบายเพิ่มเติมว่าคนไข้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ที่มีปัญหาอยู่เฉพาะที่กล้ามเนื้อตาเท่านั้น นานตั้งแต่ 2-3 ปีขึ้นไป โอกาสที่จะเป็น Myasthenia Gravis หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั่วตัวจะค่อนข้างน้อย

“ในช่วงแรกๆ ที่คนไข้มาพบแพทย์ จะต้องมีการสังเกตอาการเป็นระยะๆ ว่าอาการที่ตาแล้ว มีอาการอื่นอีกหรือไม่ เช่น เวลารับประทานอาหาร มีอาการกลืนติด กลืนลำบาก สำลักบ่อย เวลาพูดบรรยายหรือร้องเพลง ช่วงแรกๆ เสียงจะยังเป็นปกติ ต่อมาเริ่มเสียงเปลี่ยน เสียงพูดเบาลง หรือหายใจไม่เต็มอิ่ม กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงเมื่อใช้งาน และอาการดีขึ้นหลังได้พักผ่อน หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้”

กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

สาเหตุ และการเกิดโรค MG

โรค MG เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่บริเวณรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อลาย ทำให้สารสื่อประสาททำงานลดลง และมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย

“โดยปกติ ร่างกายของคนเรา เวลาที่จะใช้กล้ามเนื้อทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง สมองจะสั่งการผ่านเส้นประสาท แล้วเส้นประสาทจะหลั่งสารสื่อประสาทไปยังกล้ามเนื้อ ซึ่งจะมีตัวรับสารสื่อประสาทอยู่บนตัวกล้ามเนื้อนั้นๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดตัว ทำงานได้ตามปกติ” รศ.พญ.พริมา กล่าว

“ความผิดปกติของโรค MG เกิดจากการที่ร่างกายของเราสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติขึ้นมา โดยจะมีภูมิคุ้มกันอยู่จำพวกหนึ่งที่ชอบเข้าไปแย่งสารสื่อประสาทกับตัวรับบริเวณกล้ามเนื้อ ทำให้สารสื่อประสาทที่หลั่งออกมาจากเส้นประสาททำงานได้น้อยลง กล้ามเนื้อจึงอ่อนแรงลงตามระยะเวลาการใช้งานและสารสื่อประสาทที่ลดลง”

รศ.พญ.พริมา กล่าวเพิ่มเติมว่าโรค MG สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ซึ่งหากคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้ สมาชิกในครอบครัวก็มีโอกาสจะป่วยด้วยโรคนี้ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่พบว่าโรค MG มักจะมาคู่กับโรคไทรอยด์ถึงประมาณ 10-15% ดังนั้น คนไข้ที่ป่วยเป็นโรคไทรอยด์จึงควรสังเกตให้ดีว่ามีโรค MG เข้ามาร่วมด้วยหรือเปล่า

“โดยปกติแล้วโรค MG มักเกิดขึ้นกับคนในผู้หญิงช่วงวัย 20-40 ปี แต่ในผู้ชายจะพบหลัง 50 ปี แต่หากพบในคนไข้ที่อายุมากๆ สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือโรคมะเร็งต่างๆ แม้จะพบน้อย แต่ควรตรวจให้ละเอียด เนื่องจากมีมะเร็งหรือเนื้อร้ายหลายชนิดที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันและก่อให้เกิดปัญหาคล้ายๆ กับโรค MG ได้” รศ.พญ.พริมา กล่าวเสริม

ข้อมูลจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความอื่นที่น่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.