ตับ

ตับ ของเราป่วยด้วยอาการใดได้บ้าง

ตับ ของเราป่วยด้วยอาการใดได้บ้าง

แม้ ตับ จะเป็นอวัยวะมหัศจรรย์สักแค่ไหน แต่ตับก็ป่วยได้เช่นกัน โดยสาเหตุของการป่วยมีทั้งจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการป่วย และเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ทั้งนี้อาการป่วยยอดฮิตที่สามารถเกิดกับตับได้มีดังนี้

ไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ (Non – alcoholic Fatty Liver Disease) เรียกอีกชื่อว่า ไขมันเกาะตับ ไขมันคั่งในตับ หรือไขมันจุกตับ แล้วแต่จะเรียก ความหายคือ ภาวะที่มีไขมัน โดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เข้าไปสะสมอยู่ในตับมากกว่าปกติ (โดยไม่ได้มีสาเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) โดยปกติแล้วตับของเราจะมีไขมันน้อยกว่าร้อยละ 5 หากมากกว่านั้นถือว่า “เริ่มมีภาวะไขมันพอกตับ” อาจแบ่งระดับไขมันพอกตับได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับที่1 หากมีไขมันในตับมากกว่าร้อยละ 5 ถึงประมาณ 1 ใน 3 ของตับทั้งหมด เรียกว่าไขมันพอกตับน้อย

ระดับที่2 หากมีไขมันพอกตับตั้งแต่ 1 ใน 3 ถึง 2 ใน 3 เรียกว่า ไขมันพอกตับปานกลาง

ระดับที่3 หากมีไขมันสะสมในตับมากกว่า 2 ใน 3 เรียกว่า ไขมันพอกตับมาก

ไขมันพอกตับเป็นโรคที่พบได้ในกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย ยิ่งผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยมักพบประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรวัย 35 ปีขึ้นไป โรคไขมันพอกตับจึงถือเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาโรคตับทั้งหมด โดยผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไขมันพอกตับมากที่สุดคือ ผู้ที่เป็นโรคอ้วน

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกรายงานว่า พ.ศ.2557 ทั่วโลกมีประชากรที่น้ำหนักเกินประมาณ 1,900 ล้านคน และในจำนวนนี้กว่า 600 ล้านคนเป็นโรคอ้วน ขณะที่ประเทศไทย กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า เมื่อ พ.ศ.2556 มีผู้เป็นโรคอ้วนถึง 16 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 26 ของคนไทยทั้งประเทศ โดยอาจกล่าวได้ว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนแทบทุกคนมักมีภาวะไขมันพอกตับแทบทั้งสิ้น (แม้ไม่อ้วนก็อาจพบได้)

ทั้งนี้โรคไขมันพอกตับนับเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคตับอักเสบ จนอาจลุกลามไปสู่โรคตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด ไขมันพอกตับจึงเป็นโรคสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ภาวะไขมันพอกตับอาจแบ่งระยะการดำเนินโรคได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่หนึ่ง เป็นระยะมีไขมันก่อตัวอยู่ในเนื้อตับ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลใดๆ กล่าวคือ ไม่มีการอักเสบหรือพังผืดเกิดขึ้นในตับ

ระยะที่สอง เริ่มมีอาการอักเสบของตับ หากปล่อยให้การอักเสบดำเนินไปเรื่อยๆ นานเข้าอาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง

ระยะที่สาม เกิดการอักเสบรุนแรง เซลล์ตับค่อยๆ ถูกทำลายลง กลายเป็นพังผิดในตับ

ระยะที่สี่ เซลล์ตับถูกทำลายไปมากจนตับไม่อาจทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป กลายเป็นตับแข็ง และอาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งตับได้

ทั้งนี้การอักเสบของตับนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของไขมันที่มาเกาะตับว่ามากหรือน้อยอย่างเดียวเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะทานพันธุกรรมของแต่ละคน บางคนที่มีไขมันเกาะตับมาก แต่ร่างกายมีกระบวนการต้านการอักเสบได้ดี ก็อาจไม่ก่อให้เกิดการอักเสบก็เป็นได้ ขณะที่อีกคนหนึ่งมีไขมันเกาะตับไม่มาก แต่ร่างกายมีกระบวนการต้านการอักเสบไม่ค่อยดี ก็อาจส่งผลให้เกิดตับอักเสบได้ นอกจากนี้ยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และการใช้ยาหลายชนิดที่ช่วยส่งเสริมให้โรครุนแรงมากขึ้น

ตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง โรคตับ ไขมันพอกตับ มะเร็งตับ ตับอ่อน

สาเหตุของโรค

ส่วนใหญ่มักเกิดจากการรับประทานมากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะการรับประทานของมัน ของทอด และของหวาน ซึ่งเป็นอาหารประเภทที่ให้พลังงานสูง ร่วมกับการไม่ออกกำลังกาย ตับซึ่งมีหน้าที่สำคัญคือ เก็บพลังงานสำรองไว้ใช้ยามจำเป็นก็จะทำหน้าที่เก็บพลังงานเหล่านั้นในรูปของไขมัน เมื่อสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จากตับที่มีสีแดงเรื่อๆ ก็กลายเป็น “สีเหลือง” แทน เพราะมีไขมันพอกเต็มไปทั่ว โดยไขมันไม่ได้พอกที่ตับเพียงเท่านั้น หากผ่าท้องผู้ป่วยที่อ้วนลงพุดจะพบว่า ไขมันได้พอกอวัยวะอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ “การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว” และภาวะพุงโภชนาการ” ก็ทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับได้เช่นกัน

ภาวะตับอักเสบจากการใช้ยา

แม้ว่ายาจะมีคุณประโยชน์ที่ช่วยบรรเทาอาการป่วยของเราได้ แต่การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ใช้ยาเกินความจำเป็น หรือใช้ยาพร่ำเพรื่อนับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตับอักเสบได้ ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร หรือวิตามิน เพราะยาทุกชนิดถือเป็นสารเคมีทั้งสิ้น และต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ดูดซึมและสลายที่ตับทั้งหมด

พ.ศ.2560 กระทรวงสาธารณสุขเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยมีการใช้ยามูลค่าสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการใช้ยาเกินความจำเป็นถึง 2,370 ล้านบาท ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อดื้อยาถึง 88,000 คน และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามากถึง 38,000 คน นับเป็นอัตราที่สูงมาก

ด้วยอัตราที่สูงเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ภาวะตับอักเสบจากการใช้ยาเป็นต้นเหตุของโรคตับที่ไม่ควรมองข้าม ไม่เพียงเท่านั้น ภาวะตับอักเสบจากการใช้ยาอาจลุกลามไปสู่มะเร็งตับได้

หลายคนอาจสงสัยว่า ยาจะเข้าไปทำร้ายตับได้อย่างไร จริงๆ แล้วยาสามารถทำร้ายตับได้ 2 ลักษณะ ดังนี้

ยาชนิดนั้นมีพิษกับตับโดยตรง

กรณีนี้หากรับประทานมากก็จะได้รับพิษมาก หลายคนอาจคิดว่ายาเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วหนึ่งในยาที่เป็นพิษต่อตับคือยาสามัญประจำบ้านที่เรารู้จักกันดี นั่นคือ “พาราเซตามอล”

ตามปกติแล้วตับจะทำหน้าที่สลายฤทธิ์ของยาพาราเซตามอล โดยขั้นตอนการสลายนี้เองจะเกิดสารที่เป็นพิษต่อตับประมาณร้อยละ 5 ของตัวยา โดยสารชนิดนี้เป็นอนุมูลอิสระ (Oxidant) ที่ร้ายแรงมาก ทำให้ตับอักเสบได้ ขณะเดียวกันถ้าตับของเราแข็งแรงเป็นปกติก็จะส่งสารต้านอนุมูลอิสระมาทำลายสารชนิดนี้ได้ทันท่วงที แต่ถ้าตับป่วยทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จากเดิมที่สารพิษมีอยู่เพียงร้อยละ 5 ก็จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น ขณะเดียวกันสารต้านอนุมูลอิสระก็มีไม่มากพอ จึงเท่ากับว่าเพิ่มความเสี่ยงการเป็นตับอักเสบถึง 2 ทาง

นอกจากยาพาราเซตามอลแล้ว แม้แต่สมุนไพรพื้นบ้านบางอย่าง เช่น ใบขี้เหล็กดิบ ลูกใต้ใบ ชุมเห็ดเทศ บอระเพ็ด รวมทั้งไคร้เครือ (ค้นพบล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560) ก็พบว่ามีฤทธิ์ทำลายเซลล์ตับทำให้เกิดการอักเสบของตับได้เช่นกัน

ทำไมไม่ให้รับประทานพาราเซตามอลนาน ๆ

สาเหตุที่แพทย์แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอลไม่เกินครั้งละ 500-600 มิลลิกรัม และขนาดยาสูงสุดต่อวันคือไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม และไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 5 วัน เป็นเพราะ 2 สาเหตุดังนี้

การที่เรารับประทานยาพาราเซตามอลติดต่อกันนานเกิน 3-5 วันแล้วไข้ไม่ลด อาการปวดไม่หายนั่นแปลว่าโรคที่เป็นต้นเหตุของการป่วยจริงๆ ยังไม่ได้รับการรักษา ถ้าเรารอช้าไปอาจจะสายเกินไป จึงควรหยุดรับประทานยาแล้วมาพบแพทย์

ยาพาราเซตามอลนอกจากจะมีผลต่อตับแล้ว ยังมีผลต่ออวัยวะสำคัญอื่นๆ อีกด้วย เช่น กระพาะอาหารที่เดิมมักเชื่อกันว่า ยาพาราเซตามอลไม่กัดกระเพาะ แต่จริงๆ แล้วกลับกัดกระเพาะได้ นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อไตด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำยังมีความเสี่ยงต่อยาพาราเซตามอลเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยคนธรรมดาอาจจะต้องรับประทานยาประมาณ 8-10 เม็ดต่อวันจึงจะเกิดพิษต่อตับ แต่สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำอาจรับประทานยาพาราเซตามอลเพียง 5 เม็ดก็เกิดพิษได้แล้ว เนื่องจากแอลกอฮอล์จะเข้าไปเพิ่มกระบวนการสลายแอลกอฮอล์ในทางที่ทำให้เกิดสารพิษมากขึ้น ขณะเดียวกันแอลกอฮอล์ก็จะทำให้สารแอนติออกซิแดนต์ลดลงไปด้วย

เมื่อมาทางผิดและไม่มีทางแก้ก็ยิ่งทำให้ตับถูกทำลายมากขึ้น

ผลข้างเคียงจากการแพ้ยา

กรณีนี้จะส่งผลกระทบต่อตับอย่างมาก เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าจะเกิดอาการแพ้ยาขึ้นเมื่อใด หลายคนอาจบอกว่าตนเองไม่เคยมีประวัติการแพ้ยา แต่รู้ไหมว่าเรามีโอกาสแพ้ยาได้ทุกเมื่อ แม้ว่ายาชนิดนั้นเราจะรับประทานมานานแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากยาเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก เมื่อรับประทานเข้าแล้วบังเอิญโมเลกุลของยาเข้าไปจับกับโปรตีนบางชนิดในร่างกาย เกิดเป็นสารชนิดใหม่ขึ้น (โดยปกติเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมปรากฏในร่างกาย ภูมิต้านทานจะเข้าไปกำจัดโดยอัตโนมัติ) ฉะนั้นเมื่อร่างกายตรวจจับได้ว่ามีสารชนิดใหม่เกิดขึ้นในเซลล์ตับ ก็จะส่งภูมิต้านทานไปกำจัดทันที โดยกระบวนการกำจัดนี้เองที่จะทำลายเซลล์ตับไปด้วย สมรภูมิหลังการรบมีสภาพอย่างไร เซลล์ตับก็มีสภาพไม่ต่างกัน

นอกจากยาแล้ว สารเคมีชนิดอื่นๆ เช่น สารเคมีจำพวกปิโตรเคมีควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันบุหรี่ หรือสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง หรือการสูดดม ก็อาจเป็นพิษต่อตับได้เช่นกัน รวมทั้งยังมีสารเคมีที่แฝงมาในรูปแบบของอาหารเสริมที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาด้วย พวกนี้ถือว่าอันตรายต่อตับ

เมื่อทราบว่ายาเข้าไปทำร้ายตับได้ ผู้ป่วยบางคนที่มีโรคประจำตัวไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดัน เบาหวาน ฯลฯ อาจกังวลว่า การรับประทานยาจะทำให้เกิดโรคตับอักเสบแทรกซ้อนขึ้นมา จึงคิดหยุดรับประทานยาด้วยตัวเอง แต่รู้ไหมว่า จริงๆ แล้วการหยุดยาด้วยตัวเองนั้นมีอันตรายมากกว่าโรคตับอักเสบเสียอีก เพราะกว่าที่ตับจะเกิดอาการอักเสบได้นั้นใช้เวลานานพอสมควร แต่หากโรคหัวใจกำเริบ หรือค่าน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น โอกาสในการเสียชีวิตจะมีสูงกว่าหลายเท่านัก

ฉะนั้นไม่ต้องกังวลหากรับประทานยาตามแพทย์สั่ง เพราะแพทย์ทุกคนจะจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้ก็ต่อเมื่อประเมินแล้วว่าการรับประทานยานี้จะมีคุณมากกว่าโทษ แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาพร่ำเพรื่อ หรือรับประทานสมุนไพรตามคำบอกเล่า เขาว่าดีก็กินตามที่เขาบอก เพราะคิดว่าสิ่งที่มาจากธรรมชาติไม่เป็นอันตราย หรือรับประทานวิตามินเพราะอยากบำรุงร่างกาย ยาสมุนไพรหรือวิตามิน จะมีประโยชน์ต่อร่างกายก็ต่อเมื่อรับประทานอย่างถูกต้องเหมาะสมตามอาการของโรคเท่านั้น

ตับแข็ง

ตับแข็ง (Cirrhosis) เป็นภาวะที่ตับเกิดการอักเสบ ได้รับความเสียหายและเกิดแผลเป็นที่มีลักษณะเฉพาะ คือมีเนื้อเยื่อพังผิดเกิดขึ้นในเนื้อตับ ส่งผลให้การทำงานของตับลดลงในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตโปรตีน การเก็บสะสมสาระสำคัญและแร่ธาตุต่างๆ การทำลายสารพิษ รวมทั้งเกิดการปิดกั้นและบิดเบี้ยวของการไหลเวียนเลือดที่ไหลผ่านตับด้วย ทำให้เกิดทางเบี่ยงเป็นเส้นเลือดขอดในทางเดินอาหาร เป็นต้น

สาเหตุ

ตับแข็งเป็นผลพวงจากภาวะตับอักเสบเรื้อรังจากทุกๆ สาเหตุ เช่น จากภาวะไขมันพอกตับ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานาน การใช้ยาเกิดความจำเป็น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ฯลฯ เมื่อตับอักเสบติดต่อกันเป็นเวลานาน เซลล์ตับจะเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดภาวะตับแข็งได้

นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การที่ผู้ป่วยเป็นโรคอื่นๆ ที่พบได้ไม่บ่อย เช่น โรคสะสมธาตุเหล็กมากผิดปกติ หมายความว่าแทนที่จะดูดซึมตามปกติ กลับดูดซึมมากเกินปกติ จนเหล็กเข้าไปสะสมในตับมากและก่อให้เกิดการอักเสบจนเป็น ตับแข็ง หรือ โรควิลสัน (Wilson’s Disease) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ร่างกายขับสารทองแดงออกจากร่างกายได้น้อยกว่าปกติ จนเกิดภาวะคั่งของทองแดงในตับและอวัยวะอื่นๆ ก็ทำให้เกิดตับแข็งได้เช่นกัน หรือภาวะท่อน้ำดีอุดตัน ทำให้น้ำดีไหลย้อนกลับไปที่ตับและทำลายเนื้อตับจนเป็นตับแข็งได้

ลักษณะการเกิด

โดยปกติตับของเราจะมีสีแดงเหมือนตับหมูที่เห็นทั่วไปตามท้องตลาด ผิวเรียบเนียน แต่เมื่อเกิดอาการอักเสบ เซลล์ตับตายจะทำให้ตับมีสีคล้ำขึ้น เมื่อตับอักเสบนานๆ เข้า เซลล์ตับถูกทำลายไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเกิดรอยแผลในตับ พอแผลหายก็กลายเป็นแผลเป็นที่มีลักษณะเป็นพังผืดดึงรั้งเนื้อตับให้บิดเบี้ยวไปจากเดิม คล้ายกับเวลาที่เราโดนมีดบาดแล้วแผลหายกลายเป็นแผลเป็นนั่นเอง

แต่ขณะเดียวกันเซลล์ตับที่ตายก็พยายามแบ่งตัวเพิ่มขึ้นเพื่อเยียวยาตัวเอง ฉะนั้นพังผืดที่เกิดขึ้นก็เหมือนเป็นหนังสติ๊กที่ไปดึงรั้งผิวตับเกิดเป็นเนื้อตับปูดขึ้นมา เมื่อมีแผลเป็นมากขึ้นก็เกิดการดึงรั้งมากขึ้นและค่อยๆ กระจายไปทั่วเนื้อตับ ในที่สุดจากผิวตับที่เรียบเนียนเหมือนผิวมะนาวก็เริ่มขรุขระกลายเป็นผิวมะกรูด หรือที่เรียกว่าตับแข็ง นั่นเอง

ตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง โรคตับ ไขมันพอกตับ มะเร็งตับ ตับอ่อน

ผลที่ตามมาของโรคตับแข็ง

1. เซลล์ตับเหลือน้อยลง ส่งผลให้การทำงานน้อยลงตามไปด้วย

2. พังผืดที่เกิดขึ้นไปดึงรั้งหลอดเลือดที่รับ-ส่งเลือดภายในตับทำให้เลือดไหลเข้า-ออกจากตับได้ยากขึ้น เลือดจึงคั่งค้างอยู่ในหลอดเลือด เมื่อเลือดไม่มีทางไปก็เกิดเหตุการณ์ตามมาได้ 2 รูปแบบดังนี้

– น้ำและน้ำเหลืองจำนวนหนึ่งอาจรั่วไหลไปในช่องท้องเกิดอาการท้องมาน

– เลือดดำที่เข้าไปหล่อเลี้ยงในตับพยายามหาทางเบี่ยงไปสู่เส้นเลือดอื่นๆ เช่น เส้นเลือดฝอยในหลอดอาหาร เป็นต้น เพื่อหาทางกลับสู่หัวใจ ทั้งนี้ทางเบี่ยงที่ไม่ได้ตั้งใจสร้างขึ้นนี้แม้จะสามารถรองรับการไหลเวียนของเลือดได้จริง แต่ก็ไม่ดีนัก เพราะนานวันเข้าเส้นเลือดนั้นๆ จะเกิดการโป่งพอง ผนังบางขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นหากความดันเลือดเพิ่มขึ้น หรือหากเบ่งอุจจาระแรงๆ เส้นเลือดนั้นๆ ก็มีโอกาสแตกและนำไปสู่การเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ในหลอดเลือดเส้นหลักยังมีคุปเฟอร์เซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์สำคัญที่ช่วยดักจับเชื้อโรค เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของการไหลเวียนเลือดไปยังทางเบี่ยงต่างๆ แทนที่เชื้อโรคจะถูกทำลายโดยคุปเฟอร์เซลล์ ก็มีโอกาสเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยโรคตับมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้นด้วย

3. เซลล์ตับพยายามแบ่งตัวเพื่อเยียวยาตัวเอง เมื่อเซลล์แบ่งตัวมากๆ เข้าก็อาจเกิดการแบ่งตัวผิดพลาด ก่อให้เกิดเป็นเซลล์มะเร็งได้

ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคตับแข็งส่วนใหญ่มักมีคำถามว่า ตอนนี้ตับที่ใช้งานได้เหลือกี่เปอร์เซ็นต์ จริงๆ แพทย์ไม่สามารถระบุการทำงานของตับออกเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ เพราะเมื่อตับแข็งจะไม่ได้แข็งเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่จะแข็งพร้อมกันทั้งหมด เหลือเซลล์ตับบางเซลล์เท่านั้นที่สามารถทำงานได้ตามปกติ

อาการ

อาการของผู้ป่วยโรคตับแข็งแบ่งได้ 2 ระยะ คือ ระยะไม่แสดงอาการ และระยะแสดงอาการ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มีภาวะตับแข็งจะอยู่ในระยะไม่แสดงอาการ ซึ่งระยะนี้ใช้เวลานานหลายปี อาจนานนับ 10 ปีกว่าจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ ฉะนั้นหากเราไม่ตรวจสุขภาพแบบเฉพาะเจาะจงจะไม่มีทางรู้เลยว่ากำลังป่วยเป็นโรคตับแข็ง

ทั้งนี้เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะแสดงอาการจะมาพบแพทย์ด้วยอาการหลักๆ คือ

– อ่อนเพลีย เนื่องจากตับมีหน้าที่สร้างพลังงาน เมื่อตับทำงานได้น้อยลงร่างกายก็ได้รับพลังงานน้อยลงด้วย

– มีภาวะดีซ่าน ตัวเหลืองและตาเหลือง เพราะตับไม่สามารถขับน้ำดีออกจากร่างกายได้

– เลือดออกแล้วหยุดยาก เกิดจ้ำเลือดตามตัวได้ง่าย เนื่องจากตับสร้างสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้น้อยลง

– ขาบวม ท้องโต มีน้ำคั่งอยู่ในช่องท้องเนื่องจากตับผลิตโปรตีนแอลบูติน (โปรตีนที่ช่วยโอบอุ้มน้ำและเกลือแร่เอาไว้ในหลอดเลือดได้น้อยลง ส่งผลให้น้ำและเกลือแร่รั่วออกมาสะสมตามท้องและขา

– เหนื่อยง่าย เนื่องจากร่างกายรับออกซิเจนได้ไม่เต็มที่เพราะมีน้ำในช่องท้องมาก น้ำจะดันกะบังลมให้สูงขึ้น ทำให้เวลาเราหายใจเข้า ปอดก็ขยายเพื่อรับอากาศได้ไม่เต็มที่ บางครั้งน้ำอาจรั่วเข้าไปในปอดจะยิ่งทำให้เหนื่อยมากขึ้น

– เบื่ออาหาร อิ่มเร็ว เพราะมีน้ำแน่นอยู่ในช่องท้อง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัด

– ร่างกายไวต่อยาและเกิดผลข้างเคียงของยามากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยโรคตับแข็งจะไม่สามารถขับยาออกจากเลือดได้ในอัตราปกติ ดังนั้นตัวยาจึงสะสมอยู่ในร่างกายและออกฤทธิ์นานขึ้น

– ผู้หญิงอาจมีประจำเดือนผิดปกติ ส่วนผู้ชายอาจมีเต้านมขยายใหญ่ขึ้นและสมรรถภาพทางเพศลดลง

– มีอาการคันที่ผิวหนังทั่วร่างกายอย่างรุนแรง เนื่องจากน้ำดีที่รั่วไหลมาตามผิวหนังไปก่อความระคายเคืองให้เส้นประสาท

– อาจมีอาการทางสมองเพราะตับไม่สามารถขับสารพิษออกมาได้ สารพิษจึงสะสมให้เส้นเลือดและไหลเข้าสู่สมอง โดยผู้ป่วยจะเริ่มละเลยการดูแลตนเอง ไม่มีการตอบโต้ หลงลืมง่าย รวมทั้งไม่มีสมาธิ

– มีเลือดออกอย่างรุนแรงในกระเพาะอาหารส่วนบนหรือหลอดอาหาร เนื่องจากการไหลเวียนเลือดผิดปกติอาจส่งผลให้อาเจียนเป็นเลือด

– มีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดได้มากขึ้น เพราะน้ำที่คั่งค้างในท้องเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ชั้นดีของเชื้อโรคต่างๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตในที่สุด

นอกจากนี้แล้วผู้ป่วยก็อาจมาด้วยอาการของมะเร็งตับ คือ มีเนื้องอกในตับและมีอาการจุกแน่นท้องก็ได้เช่นกัน

กลุ่มเสี่ยง

ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคตับแข็งนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำและมีภาวะไขมันพอกตับ รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทับต่อตับดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

 การวินิจฉัย

แพทย์จะซักประวัติความเสี่ยงของผู้ป่วยก่อน โดยผู้ป่วยต้องมีโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงซึ่งสามารถนำมาสู่การเป็นตับแข็งได้ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานาน มีภาวะไขมันพอกตับ ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น พร้อมกับตรวจดูอาการภายนอกว่ามีท้องมาน ประวัติอาเจียนเป็นเลือดจากการที่เส้นเลือดฝอยในหลอดอาหารแตก ซึ่งเป็นอาการของโรคตับแข็งหรือไม่

จากนั้นจึงตรวจเลือดเพื่อเช็กว่ามีหลักฐานการทำงานของตับที่ผิดปกติ เช่น สร้างโปรตีนได้น้อยลง ระดับแอลบูมินต่ำ ระดับ AST หรือ ALT สูง เป็นต้น หรืออาจตรวจอัลตราซาวนด์ เอกซเรย์ช่องท้องเพื่อดูความผิดปกติของผิวตับว่ามีผิวขรุขระหรือไม่ การตรวจเลือดวัดพังผืด หรือการตรวจอัลตราซาวนด์วัดพังผืด (Fibroscan) รวมถึงอาจเจาะเนื้อตับเพื่อตรวจดูปริมาณพังผืด หากหลักฐานทุกอย่างบ่งชี้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคตับแข็ง ก็จะประเมินอาการแล้วหาแนวทางการรักษาเป็นลำดับถัดไป

การรักษา

จุดประสงค์สำคัญของการรักษาโรคตับแข็ง คือ หยุดการอักเสบและการสร้างพังผืดในเนื้อตับ โดยพฤติกรรมของผู้ป่วยมีบทบาทสำคัญมากในการรักษา

แบ่งการรักษาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1. รักษาที่ต้นเหตุ

ก่อนอื่นแพทย์ต้องทราบก่อนว่าสาเหตุของการเกิดโรคตับแข็งคืออะไร เช่น ผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ผู้ป่วยก็ต้อง งดดื่มประมาณ 3-6 เดือน ตับก็อาจกลับมาทำงานเป็นปกติได้ หรือหากผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ก็ต้องหาทางควบคุมหรือกำจัดไวรัสเหล่านั้น เป็นต้น

อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ตับมีความสามารถในการเยียวยาตัวเอง ฉะนั้นการรักษาที่ต้นเหตุจึงเป็นวิธีสำคัญที่ทำให้ตับกลับคืนสู่การทำงานตามปกติได้

นอกจากนี้ยังต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้เกิดอักเสบและพังผิดให้ได้มากที่สุด เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ยาพร่ำเพรื่อ หากมีอาการบวมตามข้อเท้าและท้องก็ควรลดการรับประทานเกลือและอาหารรสจัด ควรดื่มน้ำสะอาดและรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย เพื่อป้องดันการติดเชื้อ รับประทานอาหารอย่างพอเหมาะ รวมทั้งควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ บี ไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม เนื่องจากผู้ป่วยโรคตับแข็งประสิทธิภาพการทำงานของตับจะด้อยลง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็แย่ลง ทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่รุนแรงมากกว่าปกติ

2. รักษาตามอาการ

เป็นขั้นตอนการรักษาที่ต้องทำควบคู่กับข้อที่ 1 หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการใด ก็จะรักษาตามอาการนั้นๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเพิ่มภาวะทางโภชนาการของผู้ป่วยให้มากขึ้น เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักรับประทานอาหารได้น้อย ประกอบกับตับทำงานผิดปกติทำให้กักเก็บอาหารได้ไม่เต็มที่ ร่างกายจึงไม่มี่พลังงานสำรอง ซ้ำยังต้องอาศัยพลังงานในการหายใจมากกว่าปกติ เพราะน้ำในช่องท้องดันกะบังลมและปอดทำให้รับออกซิเจนได้น้อย เมื่อรับประทานได้น้อย กักเก็บไม่อยู่ และใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ผลที่ตามมาคือผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะทุพโภชนาการอย่างมาก กล้ามเนื้อลีบ ท้องป่องเพราะบวมน้ำ ภูมิต้านทานตก และมีโอกาสติดเชื้อสูง

ฉะนั้นแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยโรคตับรับประทานอาหารโดยการแบ่งเป็นมื้อย่อยๆ วันละ 6-7 มื้อ คือ เช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็น และก่อนนอน เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานหล่อเลี้ยงอยู่ตลอด และต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด (มักเค็ม) และเค็มจัด เพราะจะส่งผลกระทับให้อาการบวมน้ำยิ่งแย่ลง ที่สำคัญน้ำและอาหารต้องสะอาด ถูกสุขอนามัย และปรุงสุก เพราะผู้ป่วยโรคตับภูมิต้านทานร่างกายจะอ่อนแอลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย เชื้อโรคบางชนิดที่พลได้ในสัตว์น้ำเค็ม เช่น หอยแครง หอยนางรมสด และสัตว์น้ำจืด เช่น ปลานิล หรือผักน้ำจืดจำพวกผักกระเฉดอาจเข้าสู่กระแสเลือดจนทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยจึงต้องใส่ใจเรื่องสุขอนามัยมากเป็นพิเศษ

การติดตามผลการรักษา

เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง ตับของเขาไม่สามารถกลับมามีสภาพเป็นปกติได้ ตับมีพังผืดอย่างไรก็ยังคงมีพังผืดอย่างนั้น หรือหากเกิดทางเบี่ยงของเส้นเลือดอย่างไร ก็ยังมีทางเบี่ยงอยู่เช่นเดิมเพียงแต่การทำงานของตับโดยรวมดีขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นเราต้องมีการติดตามผลการรักษาเพื่อดูว่ามีอาการใดๆ แทรกซ้อนหรือไม่

เบื้องต้นจะดูว่า อาการท้องมาน อาการบวมลดลงหรือไม่ หรือมีอาการเส้นเลือดแตกซ้ำหรือเปล่า อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายลดลงไหม รวมทั้งต้องนัดให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ซ้ำทุกๆ 3-6 เดือน เพื่อตรวจเช็กการทำงานของตับ และดูความเสี่ยงว่ามีโอกาสเกิดมะเร็งตับหรือไม่

ข้อมูลจาก หนังสือเมื่อตับประท้วงร่างกายก็พ่ายแพ้ สำนักพิมพ์ AMARIN Health


บทความอื่นที่น่าสนใจ

17 วิธีตรวจ เนื้องอก ด้วยตัวเอง ฉบับสาวทำงาน

เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง

ถ่ายเป็นเลือด สัญญาณผิดปกติในลำไส้ใหญ่

สวยอ่อนเยาว์ ด้วยอาหารเกาหลี

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.