ดื้ออินซูลิน

5 โรค ที่เกิดขึ้นจากภาวะ ดื้ออินซูลิน

5 โรคร้าย จากภาวะ ดื้ออินซูลิน

ก่อนที่เราจะไปรู้ว่าถ้าร่างกายเกิดดื้ออินซูลิน จะเกิดโรคอะไรขึ้นมานั้น เราไปทำความเข้าใจกับอาการนี้กันก่อนค่ะ

ดื้ออินซูลินคือภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินน้อยกว่าปกติ ทำให้ไม่ดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์ ทำให้ร่างกายต้องผลิตอินซูลินมากกว่าปกติ โดยภาวะดื้ออินซูลินนี้มักเกิดเพราะ พันธุกรรม โรคอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย  ส่วนจะทำให้เกิดโรคอะไรบ้างนั้น มาดูกันค่ะ

โรคเบาหวานจากภาระดื้ออินซูลิน

มักเกิดขึ้นช้าๆ โดยในระยะแรกเมื่อเกิดภาวะดื้ออินซูลินตับอ่อนจะสังเคราะห์และหลั่งอินซูลินออกมามากขึ้น เมื่อผ่านไปเป็นเวลานานหลายปีตับอ่อนจะอ่อนล้าและทำให้การหลั่งอินซูลินลดลงและไม่เพียงพอ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและเป็นเบาหวานในที่สุด และหากไม่สามารถคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ต่อไปเรื่อยๆ จะส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานรุนแรง

โรคความดันโลหิตสูงจากภาวะดื้ออินซูลิน

เมื่อระดับอินซูลินสูงขึ้นจะไปกระตุ้นให้ไตดูดโซเดียมกลับมามากขึ้น และทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติไวต่อการกระตุ้น การหมุนเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดงฝอยที่กล้ามเนื้อลดลง ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

ดื้ออินซูลิน

โรคไขมันในเลือดสูงจากภาวะดื้ออินซูลิน

ความผิดปกติของไขมันที่พบบ่อยในคนอ้วนคือ ระดับไตรกลีเซอไรด์ หรือระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น แต่ระดับเอชดีแอลคอเลสเตอรอล (HDL-C) ต่ำลง เพราะตับนำกรดไขมันอิสระไปสร้างเป็นอณูไขมันเพิ่มขึ้นแล้วปล่อยเข้ากระแสเลือด ภาวะดื้ออินซูลินยังทำให้เอนไซม์ที่ย่อยสลายไขมันทำงานลดลงด้วย จนส่งผลให้ไขมันในเลือดสูงขึ้นนั่นเอง เมื่อมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง จึงเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดแดงอุดตัน

โรคไขมันสะสมในตับ (Non-Alcoholic Fatty Liver Disease : NAFLD)

เพราะมีการเคลื่อนย้ายกรดไขมันอิสระส่งไปที่ตับมากขึ้น เกิดการสะสมในรูปไตรกลีเซอไรด์ อีกทั้งยังทำให้เกิดการอักเสบที่เซลล์ตับและกระตุ้น Stellate Cell นำไปสู่การเกิดพังผืดในตับ เกิดภาวะตับแข็ง และอาจเกิดมะเร็งตับได้ในที่สุด

กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome : PCOs)

พบในเพศหญิงที่เป็นผลจากการไม่ตกไข่เรื้อรัง เกิดขึ้นจากภาวะฮอร์โมนเพศชายสูงเกิน (Hyperandrogenemia) และภาวะดื้อต่ออินซูลินที่มีระดับอินซูลินในเลือดสูง ระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนที่มากเกิน ส่งผลให้ไม่มีการตกไข่และเกิดถุงน้ำในรังไข่ โดยกลุ่มอาการ PCOS จะเกิดขึ้นผ่าน 2 กลไก โดยอินซูลินเสริมการกระตุ้น Luteinizing Hormone ช่วยกระตุ้น Theca Cells ภายในรังไข่ ทำให้มีการสร้างฮอร์โมนเพศชายเพิ่มขึ้น ควบคู่กับกระตุ้นการแสดงออกของ CYP17A 1 ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมน เกิด เพศชาย ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงแอนโดรสเตอนิไดโอนให้เป็นเทสทอสเทอโรน เมื่อมีอินซูลินระดับสูงจะลดการสร้าง Sex Hormone Binding Globulin (SHBG) จากตับ ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายในรูปอิสระและออกฤทธิ์ได้มากขึ้น

ที่มา คอลัมน์ เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 540

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 เหตุผลที่ควรหลีกเลี่ยง “น้ำตาลทราย”
แอ๊ปเปิ้ลเขียว ของดีลดน้ำหนัก บำรุงหัวใจ ปอด ลดน้ำตาลในเลือด
อาหารว่างป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำ เพื่อคนลดอ้วน

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.