ศีรษะเล็ก,เด็ก,ทารก,ซิกา

พบเด็กแรกเกิดศีรษะเล็ก 3 ราย รอตรวจสอบเพราะซิกาหรือไม่ ?

ซิกา ในเด็กทารก

นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีการดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัส ซิกา อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่อยู่ในพื้นที่ ที่มีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งมีหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 33 ราย และมี 1 ราย อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ (9 เดือน) พบว่าทารกในครรภ์อาจมีโอกาสศีรษะเล็กได้

เนื่องจากแพทย์อัลตราซาวน์ พบว่าอาจมีความผิดปกติ แต่ต้องรอทางสูตินรีแพทย์ และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจวินิจฉัยยืนยันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สำหรับหญิงตั้งครรภ์รายดังกล่าว อยู่ในพื้นที่ ที่กรมควบคุมโรคและหน่วยงานในพื้นที่ได้ทำการเฝ้าระวังอยู่แล้ว

ซิกา
เฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน ซิกาในเด็กทารก

ส่วนทารกที่คลอดออกมาและมีศีรษะเล็ก 3 รายที่พบนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจาก นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้มีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น และให้ดำเนินการเต็มที่ในการค้นหาและตรวจสอบย้อนหลังเด็กที่คลอดออกมาศีรษะเล็กแต่กำเนิด ทั้งนี้ได้มีการติดตาม และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันว่าเด็กที่คลอดออกมาศีรษะเล็กเพราะเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่  พร้อมทั้งจะนำเรื่องดังกล่าว  เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการ เพื่อพิจารณาถึงกรณีดังกล่าวว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และควรติดตามอย่างไร ต่อไป

นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีที่ทารกแรกเกิดมีโอกาสเกิดภาวะศีรษะเล็กนั้น แท้จริงแล้วสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน

จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเกิดของเด็กมีชีวิตและมีอาการศีรษะเล็ก 4.36 ต่อประชากรแสนคน หรือเฉลี่ยพบได้ 200-300 รายต่อปี ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ

  1. การติดเชื้อในกลุ่ม STORCH (Syphilis, Toxoplasmosis, Rubella, Cytomegalovirus, Herpes) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และปรสิตบางชนิด สามารถติดเชื้อได้ในคนทั่วไป และมีความสำคัญที่ทำให้เกิดความผิดปกติกับทารก ในครรภ์หรือทารกแรกเกิด
  2. ได้รับสารเคมีบางชนิดขณะตั้งครรภ์ เช่น สารโลหะหนัก เป็นต้น
  3. มีความผิดปกติของยีนตั้งแต่กำเนิด
  4. ภาวการณ์ขาดสารอาหารอย่างรุนแรงในขณะตั้งครรภ์

หน้าถัดไป

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่า ภาวะศีรษะเล็ก มีความเชื่อมโยงกับเชื้อไวรัส ซิกา แต่อาจจะไม่ได้เป็นเพียงสาเหตุเดียว อาจมีปัจจัยร่วมอย่างอื่นด้วย ที่ทำให้เกิดศีรษะเล็ก ทั้งนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและวิจัย ต่อไป

อัตราการเกิดความผิดปกติของสมองของทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัส Zika ระหว่างตั้งครรภ์นี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัด

จากข้อมูลรายงานในต่างประเทศอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 – 29 โดยการเกิดภาวะ ศีรษะเล็กแต่กำเนิด ในทารกแรกเกิด สามารถพบได้ ไม่ว่ามารดาจะติดเชื้อไวรัส Zika ในช่วงไตรมาสที่ 1, 2 หรือ 3 พบว่าความเสี่ยงในการเกิด ภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิด ในทารกจะสูงสุดในมารดาที่ติดเชื้อในช่วงไตรมาสที่ 1 รองลงมาคือ ช่วงไตรมาสที่ 2

ซิกา
เฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน ซิกาในเด็กทารก

ส่วนวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคจากยุงลาย คือ การลดจำนวนของยุงลายในธรรมชาติให้น้อยลง และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยให้น้อยลง  ดังนั้น จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนเร่งดำเนินการควบคุมลูกน้ำยุงลายให้ลดลง โดยดำเนินมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่

1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง

2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่

เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น และขอให้ประชาชนเริ่มต้นดำเนินการที่บ้านของตนเองก่อน จากนั้นขยายไปสู่ชุมชน และสถานที่ส่วนรวม เช่น โรงเรียน วัด และสถานที่ทำงาน เป็นต้น

นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กรมควบคุมโรค ได้จัดทำคู่มือป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา สำหรับแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ และร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จัดทำแนวทางปฏิบัติการวินิจัยโรคไวรัสซิกา ว่าต้องมีอะไรบ้าง ในกลุ่มใด โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์

ซิกา
เฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน ซิกาในเด็กทารก

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กที่สงสัยภาวะติดเชื้อไวรัสซิกาแต่กำเนิด ซึ่งเผยแพร่ไปแล้วเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางสำหรับแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย ติดตาม และเฝ้าระวัง ต่อไป

ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย และติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงใช้มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา อย่างเข้มข้นในระดับสูงสุดต่อเนื่อง

ส่วนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกานั้น ส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรง และส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ จะมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีหลักฐานทางระบาดวิทยาที่บ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับอาการศีรษะเล็กในทารกแรกเกิด อาการเหล่านี้จะทุเลาลงได้เองภายในเวลา 2-7 วัน  หากอาการไม่ดีขึ้นขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว

ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ที่มา : กรมควบคุมโรค

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.