ไหล่ติด

ไหล่ติด รักษาได้นะ

ยกแขนไม่ขึ้น ขยับไม่ได้ นั่นแหล่ะ ไหล่ติด

ไหล่ติด แม้ไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไร แต่ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย เพราะอยู่ดีๆ ที่เคยเคลื่นไหวแขนได้ดั่งใจ กลับกลายเป็นว่ายกแขนไม่ได้ นอกจากนั้นแล้วยังได้ยินกันบ่อยๆ ว่าเป็นแล้ว จะเป็นอีก แต่ถึงอย่างนั้นหากดูแลรักษาดีๆ ก็หายได้นะคะ

ไหล่ติด

เป็นอาการที่แขนยกได้ไม่สุด ไม่สามารถชูขึ้นได้ หากยกขึ้นจะรู้สึกปวด และเกิดกับทุกทิศทางการเคลื่อนไหวแขน ไม่ว่าจะไปข้างหน้า ข้างหลัง หรือชูขึ้นสูง นอกจากนั้นแล้วยังทำให้รู้สึกปวดหัวไหล่ โดยผู้ป่วยเมื่อขยับแขนแล้วรู้สึกปวด ก็จะขยับแขนน้อยลง ก็ยิ่งทำให้ไหล่ติดมากยิ่งขึ้น

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ไหล่ติด หรือ Frozen Shoulder เกิดจากการที่ถุง หรือ เส้นเอ็นที่หุ้มข้อไหล่ ซึ่งมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อไหล่ เกิดการอักเสบ บวมและหนาตัวขึ้น จนกลายเป็นการยึดติด จนเกิดการสร้างเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ ทำให้เคลื่อนไหวข้อไหล่ไม่ได้ และมีอาการปวด

เกิดได้จากหลายกรณี รวมถึงยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่อาจเกิดได้จาก

  1. โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไทรอยด์
  2. มีการเคลื่อนไหวน้อย เช่น ผู้ป่วยติดเตียง
  3. เคยประสบอุบัติเหตุที่ข้อไหล่ มีภาวะเส้นเอ็นบริเวณไหล่ฉีกขาด
  4. เกิดการอักเสบของเส้นเอ็นข้อไหล่

ซึ่งทั้ง 2 เหตุนั้นส่งผลให้ใช้หัวไหล่น้อยลง เมื่อผ่านไปเวลานาน การอักเสบจะทำให้เยื่อหุ้มข้อไหล่หนาตัวขึ้น ความสามารถของหัวไหล่ในการเคลื่อนที่ก็ลดลง จนเกิดอาการไหล่ติด

อาการ

อาการข้อไหล่ติด จะมีอาการปวดตื้อๆ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเคลื่อนไหวหัวไหล่ อาการที่ตามมาคือ ไม่สามารถขยับข้อไหล่ได้ มีอาการปวดเวลานอนทับ ยกของ

สำหรับอาการของไหล่ติดนั้นแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

  1. อักเสบ จะมีการปวดหัวไหล่แม้ไม่ได้ใช้งาน และจะปวดมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับการเคลื่อนไหวของหัวไหล่ที่ทำได้น้อยลง โดยจะมีอาการนาน 6 อาทิตย์ – 9 เดือน
  2. ข้อยึด อาการปวดลดน้อยลง แต่ไหล่จะติดมากขึ้น การเคลื่อนไหวหัวไหล่ทำได้น้อยลง จะมีอาการในระยะดังกล่าวนาน 4-9 เดือน
  3. ฟื้นตัว อาการไหล่ติดจะค่อยๆ ดีขึ้น ปวดน้อยลง เคลื่อนไหวได้มากขึ้น ระยะนี้ใช้เวลานานประมาณ 5 เดือน – 2 ปี
ไหล่ติด

การรักษา

ผู้ป่วยหลายรายใช้วิธีบรรเทาอาการปวด โดยไม่รักษาให้ถูกวิธีทำให้อาการไหล่ติดยังคงอยู่ จึงทำให้เกิดความคิดว่าที่ว่า หากไหล่ติดแล้ว จะติดอีก ทั้งที่จริงแล้วนี้เป็นการรักษาที่ผิดวิธีนั่นเอง

แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นโรคที่หายได้เอง แต่ก็ต้องใช้เวลาที่ยาวนาน แต่หากไม่รักษาให้ถูกต้องจะทำให้เกิดผลเสียคือ กล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ฟ่อตัวเนื่องจากไม่ได้ใช้งาน ดังนั้นจึงควรพบแพทย์เพื่อวางแผนการรักษา โดยการรักษาทำได้หลายวิธีคือ

  1. กายภาพบำบัด
  2. ฉีดยาลดการอักเสบ
  3. กินยาแก้ปวด แก้อักเสบ
  4. ผ่าตัด

บริหารข้อไหล่รักษาไหล่ติด

การบริหารข้อไหล่ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการไหล่ติดได้ โดยเป็นท่าบริหารง่ายๆ ที่ทำได้ด้วยตนเอง มีด้วยกัน 4 ท่า

  1. ท่านิ้วไต่กำแพง หรือท่าปูไต่ หันหน้าเข้าหากำแพง แล้วทำมือปูไต่ไปตามกำแพงขึ้นเหนือศีรษะ ไต่ให้สูงเท่าที่จะทำได้ โดยไม่เขย่งเท้า หรือโน้มตัวเข้าหากำแพง ทำซ้ำ 10 ครั้ง
  2. ท่าหมุนข้อไหล่ ก้มตัวโน้มตัวไปข้างหน้า ทิ้งแขนข้างที่ไหล่มีปัญหาดิ่งลงพื้น แล้วหมุนแขนเป็นรูปวงกลม ทำซ้ำ 10 ครั้ง
  3. ท่าถูหลัง ใช้ผ้าขนหนูขนาดกลางถือไขว้ด้านหลัง ให้มือข้างหนึ่งจับด้านล่าง ข้างที่ไหล่มีปัญหาจับด้านบน แล้วดึงผ้าขึ้นให้สูงที่สุด นับ 1- 10 ค้างไว้ ทำซ้ำ 10 ครั้ง
  4. ท่าบริหารกล้ามเนื้อไหล่ นอนตะแคงไปกับพื้น โดยให้ข้างที่มีปัญหาไหล่ติดอยู่ด้านบน มือยกน้ำหนัก แล้วยกให้ขนานกับพื้น นับ 1- 10 ค้างไว้ ทำซ้ำ 10 ครั้ง

คำแนะนำในการบริหารข้อไหล่

  1. ก่อนการบริหารข้อไหล่ ควรประคบอุ่นประมาณ 15 นาที เพื่อให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อ และลดอาการบาดเจ็บ
  2. เคลื่อนไหวแขนช้าๆ ทำจนรู้สึกตึง บริหารวันละ 3- 6 ครั้ง
  3. หากรู้สึกปวดมาก ให้พัก อย่าฝืนจนเกิดการบาดเจ็บ
  4. หลังบริหาร ควรประคบเย็น เพื่อลดอาการปวดบวม

การดูแลตัวเอง

สำหรับผู้ที่มีปัญหาไหล่ติด ดูแลตัวเองได้ง่ายๆ ด้วยการ ลดการใช้แขนและหัวไหล่ข้างที่มีปัญหา รวมถึงลดกิจกรรมที่จะทำให้เกิดอาการปวดบวม และหากมีอาการปวดบวม ควรประคบเย็นครั้งละ 15 – 20 นาที

ที่มา

  • RAMA Channel
  • โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ
  • โรงพยาบาลศิครินทร์
  • โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์

บทความอื่นที่น่าสนใจ

การวิ่ง ไม่ทำให้เข่าเสื่อม!!

รู้จักไหม หมอนรองกระดูกปลิ้น ใครเสี่ยงเป็นบ้าง ต้องอ่าน!

สังเกตลิ้น เช็ค แพ้อากาศ + ไรฝุ่น

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.