ว่ากันด้วยเรื่องของ “น้ำตาลในเลือดสูง”

“ การที่ น้ำตาลในเลือดสูง เปรียบเหมือนทุกเซลล์ในร่างกายถูกเชื่อม  ทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถหดตัว คลายตัวได้ตามปกติ  คนเป็นเบาหวานจึงมักปวดตามกล้ามเนื้อต่าง ๆ  เดินไปชนอะไรนิดหน่อยผิวก็เขียวเป็นจ้ำ กล้ามเนื้อหัวใจก็บิดตัวไม่ดี  ไตเสื่อม  ตาเป็นต้อกระจก  ใบหน้าเหี่ยวย่น ผิวไม่อิ่มฟู เพราะคอลลาเจน อีลาสตินก็เชื่อมเหมือนกัน

“ น้ำตาลจะเข้าไปทดแทนเนื้อเยื่อในกระดูก ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น  พอน้ำตาลไปเกาะสมอง ทำให้เป็นโรคสมองเสื่อม เป็นอัลไซเมอร์เร็วขึ้น  น้ำตาลที่สะสมเป็นไขมัน เป็นเซลลูไลท์ เป็นโรคอ้วน   นอกจากนั้นพอไขมันไปสะสมในเลือด ทำให้เกิดพลัค (Plaque)  ซึ่งมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สโตรก   รวมทั้งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเสีย เกิดภาวะแพ้อาหารแฝง ติดเชื้อง่ายกว่าปกติ  เมื่อโควิด 19 ระบาด  คนเป็นเบาหวานเสียชีวิตมากขึ้น เพราะภูมิคุ้มกันไม่ดี”

เกณฑ์ชี้วัดว่าน้ำตาลในเลือดสูง         

“นอกจาการวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่ทุกคนรู้จักแล้ว   การวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด ฮีโมโกลบิน เอวันซี  ( Hemoglobin A1C – HbA1c) ก็สำคัญ เพราะจะทราบถึงพฤติกรรมของเราย้อนหลังไปได้ถึง 3เดือน

“  ค่าเฉลี่ยที่ดีที่สุดของ HB A1c    คือ 4.5-5   ถ้าจะเกินกว่านี้ก็ไม่ควรเกิน 6  ถ้า 6.5 ถือว่าใกล้เป็นเบาหวาน หรืออาจเป็นเบาหวานแล้วก็ได้  และถ้าเกิน 7 ไม่ดีแล้ว   หากพบว่า HB A1c อยู่ในระดับ 5.5-6  คุณต้องปรับปรุงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต  ทั้งการกินอาหาร การออกกำลังกาย ลดความเครียด ก่อนจะกลายเป็นเบาหวาน

“ นอกจากนั้นในต่างประเทศยังมีการวัด   AGEs (Advanced Glycation End-Products)  ซึ่งเป็นภาวะก่อนจะเป็นเบาหวาน ถ้ากำจัดสารตัวนี้ได้ เราก็จะไม่เป็นเบาหวาน

“ ไกลเคชั่น (Glycation)  เกิดจากน้ำตาลทำปฏิกิริยากับโปรตีนในร่างกาย  ทำให้เซลล์ถูกเคลือบด้วยสารแก่ เป็นภาวะที่น้ำตาลในกระแสเลือดไปทำปฏิกิริยาทางเคมีกับโปรตีนในร่างกาย  ก่อให้เกิดความเสื่อมและความชราก่อนวัย

“ ไกลเคชั่น เปรียบเหมือนสนิมเกาะเหล็ก ในกรณีนี้คือน้ำตาลเริ่มไปเกาะตามข้อต่อของโมเลกุลต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้โครงสร้างเซลล์เริ่มเปลี่ยน   ผลวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับการทำงานของสมอง พบว่าเมื่อน้ำตาลเริ่มไปเกาะไปกวนสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ((hippocampus) ทำให้สมาธิไม่ค่อยดี หลงลืมอะไรง่าย คุย ๆ อยู่นึกชื่อคนไม่ออก  เพราะน้ำตาลไปรบกวนโครงสร้างและการทำงานของสมอง

“ ผลการวิจัยอีกชิ้น ซึ่งตัดกระดูกของคนที่ยังไม่เป็นกระดูกพรุนแต่อายุมากกว่า 44 ไปตรวจ พบว่า การที่สารไกลเคชั่นเริ่มไปแทรกเข้าไป ทำให้โครงสร้างกระดูกเปลี่ยนไป คือยังไม่ถึงกับทำให้กระดูกบาง แต่เริ่มบาง

“ จะเห็นได้ว่าน้ำตาลสูงไป ต่ำไป ไม่ดีทั้งสองแบบ เราจึงต้องอยู่บนทางสายกลาง”  

 แต่ละวันเราต้องการน้ำตาลมากน้อยแค่ไหน

“ ขึ้นอยู่กับกิจกรรม วัย อาชีพ และโรคของแต่ละคน  นอกจากนั้นอวัยวะแต่ละอวัยวะก็ต้องการใช้น้ำตาลไม่เท่ากัน  คำว่าใช้น้ำตาล ไม่ใช่ การเผาผลาญน้ำตาลเสียทุกกรณีไป   การเผาผลาญพลังงาน เรียกว่า  fat metabolism  ส่วนการใช้น้ำตาล คือ   glycolysis  ซึ่งแต่ละคนใช้ไม่เท่ากัน

“เมื่อก่อนกิจกรรมของคนไทยส่วนใหญ่ทำงานใช้แรง ตื่นเช้ามาไปทำงาน ทำสวน  การเผาผลาญพลังงานในแต่ละวันสูง  จึงกินข้าวเยอะ  แต่ทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย  งานที่ทำส่วนใหญ่ก็นั่งโต๊ะ ไม่ค่อยได้เดินไปไหน เมื่อไม่ต้องใช้แรงมากเท่าเมื่อก่อนก็ควรจะต้องลดการกินแป้งลง โดยเฉพาะ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ซึ่งมีน้ำตาลค่อนข้างสูง

“ ปัจจุบัน อาหารใดน้ำตาลมากน้ำตาลน้อย  เราดูจากค่าดัชนีน้ำตาล  (Glycemic Index: GI) ซึ่งเป็นตัวเลขที่บอกความสามารถของร่างกายในการดูดซึมอาหารชนิดต่าง ๆ   แบ่งเป็นอาหารจีไอต่ำ มีค่าต่ำกว่า 55  อาหาร จีไอปานกลาง มีค่าระหว่าง 55-69  ส่วนอาหารจีไอสูง คืออาหารที่มีค่าตั้งแต่ 70 ขึ้นไป

“ โดยทั่วไปแนะนำให้รับประทานอาหารจีไอต่ำ  ได้แก่อาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักใบทุกชนิด ถั่ว ธัญพืช  และผลไม้รสหวานน้อย เช่น ลูกพลัม เชอรี่    และหลีกเลี่ยงอาหารจีไอสูง  ซึ่งได้แก่ กลุ่มแป้ง ขนมปัง โดนัท ขนมเค้ก น้ำส้ม  ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวเหนียว  ซีเรียล สปาเกตตี้ ที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม

“ อย่างไรก็ตาม อาหารจีไอสูง ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีเสมอไป บางครั้งเวลาที่เราต้องการความสดชื่น ไม่จำเป็นว่าต้องกินแต่อาหารจีไอต่ำตลอดเวลา  หรือผักบางชนิดที่จีไอค่อนข้างสูง เช่น ผักกลุ่มฟักทอง มันหวานต่าง ๆ  แต่ก็มีไฟเบอร์ แคโรทีน จึงไม่ได้เป็นตัวร้าย 100 เปอร์เซ็นต์”

อยากให้เขา(น้ำตาล) มามีบทบาทในชีวิตแค่ไหน เราเลือกได้ค่ะ

ข้อมูลจาก : พญ. สาริษฐา สมทรัพย์


 

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.