ในสมัยก่อน คนแก่มักจะสอนเรื่องโชคลางอยู่เสมอ หนึ่งในนั้นคืออาการของ ตากระตุก บ้างก็บอกว่าขวาคือโชคร้าย ซ้ายคือโชคดี หรืออาจจะสลับ ๆ กันไปแล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบ้าน แต่จริง ๆ แล้วการที่ตากระตุก อาจจะบอกเหตุก็ได้ อาจจะไม่ใช่เรื่องของโชคลาง แต่เป็นโรคร้ายที่คอยกวนใจเราต่างหาก
รู้จักเปลือกตากระตุก
อาการเปลือกตากระตุก (Eyelid Twitching) เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อเปลือกตาเกิดการเกร็งกระตุก สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง ส่วนใหญ่จะเป็นที่เปลือกตาบน มีอาการตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง จนอาจทำให้ส่วนอื่นๆ ของใบหน้ากระตุกตามไปด้วย
อาการเปลือกตากระตุกสามารถแยกออกเป็นโรคที่มีอาการแสดงและสาเหตุแตกต่างกันออกไป ได้แก่
- กล้ามเนื้อเปลือกตาเขม่น (Eyelid Myokymia)
- กล้ามเนื้อเปลือกตาเกร็งกระตุก (Blepharospasm)
- กล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งกระตุกครึ่งซีก (Hemifacial Spasm)
กล้ามเนื้อเปลือกตาเขม่น
กล้ามเนื้อเปลือกตาเขม่น (Eyelid Myokymia) คือ ภาวะที่เปลือกตามีอาการเต้นหรือกระตุก เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยมีอาการเต้นหรือกระตุกเฉพาะบริเวณเปลือกตา ส่วนมากจะเป็นเพียงข้างเดียว พบว่าเกิดกับเปลือกตาล่างบ่อยกว่าเปลือกตาบน อาการมักเป็นสั้น ๆ และหายเองได้ในเวลาไม่กี่วินาทีหรือเป็นชั่วโมง แต่บางครั้งอาจมีอาการนานหลายสัปดาห์ได้
สาเหตุของโรค
- ความเหนื่อยล้าหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ความเครียดหรือวิตกกังวล
- การดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์
- ขาดวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารบางชนิด
- การสูบบุหรี่
- อาการระคายเคืองตา แสงจ้า ตาล้า ตาแห้ง
- ลมหรือมลภาวะทางอากาศ
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มกันชัก ยาที่ใช้ในโรคจิตเภท ฯลฯ
เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
ตากระตุก อาจไม่ได้หมายถึงโชคร้าย โดยทั่วไปแล้ว มักจะเป็นเพียงไม่กี่วันและสามารถหายเองได้ แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม
- มีอาการตากระตุกติดต่อกันนานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น
- มีตำแหน่งที่เกิดตากระตุกเพิ่มขึ้นจากบริเวณเดิม อาจเป็นที่ตาอีกข้างหนึ่ง เช่น ตาขวากระตุก แล้วตาซ้ายกระตุก หรือเป็นที่บริเวณอื่น ๆ ของใบหน้า
- บริเวณที่เกิดตากระตุกมีอาการอ่อนแรงหรือหดเกร็ง
- มีอาการบวม แดง หรือมีสารคัดหลั่งไหลออกมาจากดวงตา
- เปลือกตาด้านบนห้อยย้อยลงมา รบกวนการมองเห็น
- เปลือกตาปิดสนิททุกครั้งที่เกิดอาการตากระตุก
การรักษาอาการตากระตุก
หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น และดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ ซึ่งการรักษานั้นจะเป็นไปตามความรุนแรงและดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้
- การให้ยารับประทาน ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการและหยุดอาการตากระตุกชั่วคราว เช่น ยาลอราซีแพม (Lorazepam) ยาไตรเฮกซีเฟนิดิล (Trihexyphenidyl) และยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) แต่เนื่องด้วยยาเหล่านี้ยังมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ จึงต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- การฉีด Botulinum Toxin หรือ Botox การฉีดโบท็อกซ์นั้นได้ผ่านการรับรองให้ใช้รักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งที่ควบคุมไม่ได้ ปัจจุบันเป็นวิธีที่นิยมและแนะนำมากที่สุดที่ใช้ในการรักษาอาการตากระตุก แพทย์จะฉีดยาโบท็อกซ์ลงไปบริเวณกล้ามเนื้อรอบดวงตาที่มีอาการกระตุก เพื่อให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นอยู่ในสภาพอ่อนแรงชั่วคราว ไม่สามารถหดเกร็งตัวได้ เปรียบเสมือนการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเปลือกตามัดนั้น ๆ และช่วยบล็อคไม่ให้เส้นประสาทส่งสัญญาณไปที่กล้ามเนื้อให้เกิดการกระตุกนั่นเอง หลังจากฉีดโบท็อกซ์แล้วอาการตากระตุกจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ผลของโบท็อกซ์นั้นจะอยู่เพียงแค่ 3-6 เดือนเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อยาหมดฤทธิ์แล้วอาการตากระตุกอาจจะกลับมาได้ จึงแนะนำให้กลับไปพบแพทย์อีกครั้งหากยังมีอาการ
แนะนำให้ใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเอง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ จำกัดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสมาร์ทโฟน ลดการสูบบุหรี่ และลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงควรหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดด้วยเช่นกัน แม้เป็นโรคที่ไม่ได้รุนแรงมาก แต่ปล่อยไว้อาจสร้างความรำคาญใจให้กับตนเองได้ ดังนั้นหากดูแลเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษานะคะ
ที่มา
โรงพยาบาลกรุงเทพ
โรงพยาบาลสมิติเวช
บทความที่น่าสนใจ
เจ็บหน้าอก จำต้องเป็นโรคหัวใจหรือไม่? หมอหัวใจมาตอบเอง