โรคหน้าฝน
ระวัง โรคหน้าฝน เนื่องจากหน้าฝน ปีนี้ ฝนตกหนักแรงเป็นพิเศษ เพราะเราต้องเผชิญกับลมมรสุมและพายุลูกต่างๆ ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ฝนตกหนักยังไม่พอ แถมยังตกนานจนเกิดภาวะน้ำท่วมขังทั่วไปอีกด้วย หลายคนทั้งตากฝนและลุยน้ำแทบทุกวัน จึงเสี่ยงต่อการเป็น 3 โรคนี้ …ติดตามให้ครบนะคะ
-
โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซิส
- โรคฉี่หนูแบบแรก คือโรคฉี่หนูทั่วไปที่รู้จักกัน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ เลปโตสไปรา จากปัสสาวะของสัตว์ติดเชื้อ ผัก ผลไม้ หรือดินเปียกชื้นที่มีเชื้อ โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่หลีกเลี่ยงการเดินผ่านที่เปียกชื้นได้ยากโดยมีระยะฟักเชื้อประมาณ 4-20 วัน จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการ
- อาการของโรค
- แตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อ บางรายติดเชื้อแล้วไม่แสดงอาการ แต่ส่วนใหญ่อาการที่พบบ่อยคือ มีไข้เฉียบพลัน และปวดศีรษะรุนแรง รวมถึงมีอาการหนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ (ส่วนมากบริเวณขา) ตาแดง บางรายมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย หรือบางรายมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ไอมีเสมหะปนเลือด และเจ็บหน้าอก บางรายมีอาการปอดอักเสบ จนบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต แต่คนส่วนใหญ่จะเป็นในระดับไม่แสดงอาการ หรือมีอาการอย่างอ่อนเท่านั้น
การรักษา
เมื่อป่วยเป็นโรคฉี่หนู ต้องพบแพทย์อย่างเร่งด่วนเพื่อรักษาการติดเชื้อด้วยยาปฏิชีวนะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคจึงดีกว่า
- การป้องกัน
- – หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในสระเปิดในช่วงฤดูฝน
- – ไม่แช่เท้า หรือเดินลุยน้ำขัง หากจำเป็นต้องเดินผ่านบริเวณนั้นก็ควรสวมรองเท้าบู๊ต และใช้ถุงมือยางเมื่อต้องออกไปทำกิจกรรมกลางฝน
- – ดูแลความสะอาดบ้านเรือน ให้ไม่เป็นที่อยู่อาศัยของหนู หรือสัตว์แพร่เชื้ออื่นๆ
- – พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักระบาดวิทยา
หน้าถัดไป โรคฉี่หนูเมดิออยโดซิส โรคร้ายหน้าฝน
‘เมดิออยโดซิส’ โรคร้ายหน้าฝน
โรคฉี่หนูของชาวนาอีสาน
หากฉี่หนูเป็นโรคที่ไม่เจาะจงว่าจะเป็นชาวนาอีสานคนไหน โรคเมดิออยโดซิสก็จะเจาะจงยิ่งขึ้นค่ะ เพราะเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มักเป็นกับคนที่เป็นเบาหวาน คนเป็นเป็นโรคเลือด หรือเป็นโรคทาลาสซีเมียอยู่ก่อน ซึ่งสองโรคหลังคนอีสานเป็นกันมากเสียด้วยสิคะ และชาวนาเป็นกลุ่มที่มีโอกาสสัมผัสโรคมากที่สุดเนื่องจากเชื้อโรคชนิดนี้เข้าทางบาดแผล ชาวนาอีสานจึงเป็นโรคนี้กันมากกว่าภาคอื่นๆ โดยเฉพาะที่จังหวัดอุบล และขอนแก่น
ชื่อของโรคนี้แปลว่านักเลียนแบบผู้ยิ่งใหญ่ แต่เลียนแบบในสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพของคนที่ติดเชื้อค่ะ คือโรคนี้จะมีอาการได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับว่าเมื่อเชื้อเข้ากระแสเลือดแล้วไปอยู่ที่อวัยวะใด อาจจะเป็นข้ออักเสบ กระดูกอักเสบ เป็นปอดบวมเรื้อรัง เป็นปอดบวมรุนแรง เป็นฝีในม้าม จะโชคดีอยู่บ้างก็ตรงที่จะมีอาการเหล่านี้เพียง 1-2 อาการไม่ได้เป็นทั้งหมด
การวินิจฉัยแยกโรคค่อนข้างยากเพราะอาการคล้ายกับหลายโรค จึงต้องใช้การเพาะเชื้อเท่านั้น ซึ่งหากมีประวัติเป็นชาวนาอีสานมีไข้ และปวดบวม ก็ต้องสงสัยโรคนี้ไว้ก่อน
การรักษาก็ค่อนข้างยากค่ะ จะเป็นให้ยาฆ่าเชื้อและรักษาตามระบบที่เป็น หรือถ้าเป็นฝีก้อนใหญ่ก็ต้องผ่าตัดเอาออกถือเป็นความทรมานทีเดียว
วิธีการป้องกันโรคฉี่หนู
ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดก็คือ หลีกเลี่ยงการลุยน้ำด้วยเท้าเปล่าหน้าฝน ไม่ว่ากรณีใดๆ หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลับมาต้องรีบอาบน้ำล้างตัวอย่างรวดเร็ว ไม่ควรใจเย็น
นอกจากนี้ยังควรทำบ้านไม่ให้ “รก” จนกลายเป็นบรรยากาศเหมาะให้น้องหนูต่างๆ ตัดสินใจเลือกบ้านคุณเป็นที่อยู่ แพร่ลูกหลาน (และเเพร่เชื้อโรคด้วย) นั่นเอง
หน้าถัดไป มารู้จักกับ ‘โรคหวัด’ โรคร้ายใกล้ตัว กับวิธีการป้องกัน-รักษาหวัดอย่างคนรู้จริงค่ะ
ไข้หวัด…ป้องกันได้ง่ายแต่ไฉนเป็นบ่อย
เหตุผลที่เราเป็นหวัดกันได้หลายครั้ง นายแพทย์กำธรบอกว่าที่จริงเมื่อเราเป็นโรคไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่จากไวรัสตัวใดแล้ว เราจะมีภูมิต้านทานต่อไวรัสตัวนั้น ทำให้เราไม่เป็นหวัดเมื่อติดเชื้อไวรัสตัวเดิม
แต่ด้วยความที่ไวรัสหวัดนั้นมีหลากหลายตัวเหลือเกิน จึงทำให้เราเป็นโรคหวัดโดยเปลี่ยนเชื้อตัวใหม่ไปเรื่อยๆ แถมเชื้อยังเป็นพวกมีการพัฒนาคือกลายพันธุ์อีกด้วย ทำให้การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีประโยชน์ในผู้สูงอายุ เพราะเมื่อเป็นหวัดและมีโอกาสที่จะลุกลามกายเป็นโรคปอดบวม และผู้ที่เป็นโรคปอดอยู่ก่อน ซึ่งเมื่อเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะทำให้โรคปอดกำเริบ จำเป็นที่จะต้องฉีดใหม่ทุกปีตามเชื้อที่เปลี่ยนไป
วิธีป้องกันหวัด
สังเกตว่าในบ้านเราเมื่อเด็กสักคนเป็นหวัด ทำไปทำมาผู้ใหญ่ก็จะพลอยติดหวัดไปด้วยและวนเวียนติดหวัดกันไปทั้งบ้าน แสดงว่าการป้องกันในบ้านเราไม่ดีเลย ทั้งที่การป้องกันไข้หวัดแพร่กระจายง่ายมากค่ะ
- สวมหน้ากาก ที่จริงคนที่สวมหน้ากากไม่ใช่เพื่อป้องกันคนที่ยังไม่ป่วยนะคะ แต่ที่ควรสวมคือคนป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้เวลาไอจามแล้วเชื้อหวัดฟุ้งกระจายไปสู่คนอื่น หน้ากากที่ใช้อาจจะเป็นแบบเยื่อกระดาษ หรือแบบผ้าก็ได้ค่ะ และถ้าเปื้อนเปียกก็ควรเปลี่ยนบ่อยๆ
- ส่วนคนที่ไม่เป็นหวัดไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากาก แต่ควรนั่งห่างจากคนป่วยเป็นหวัดอย่างน้อยประมาณ 1 เมตร จะได้ไม่สูดฝอยละอองจากการไอจามของคนป่วยเข้าไปค่ะ
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า อุปกรณ์ที่ใช้ในการรับประทานอาหาร
- ใช้ช้อนกลางหากรับประทานอาหารร่วมกัน เพราะเชื้อหวัดจะอยู่ที่น้ำลายด้วย ซึ่งเรื่องนี้คนไทยจะไม่ค่อยเคยชิน แต่ให้ถือคติไว้ค่ะว่า “ที่ฉันใช้ช้อนกลางไม่ใช่เพราะฉันรังเกียจเธอ แต่ฉันรังเกียจเชื้อหวัดของเธอ”
- หมั่นล้างมือ เพื่อไม่ให้เชื้อหวัดที่ติดอยู่ที่มือจากการสั่งน้ำมูก จับตา จับจมูก ไปแพร่ไว้ตามสิ่งผู้ป่วยไปสัมผัส เช่น ราวรถเมล์ ลูกบิดประตู หรือปุ่มกดลิฟท์ ส่วนคนที่ไม่ได้ป่วยก็หมั่นล้างมือ และลดการใช้มือลูบหน้า ลูบจมูก แคะขี้ตา เผื่อไปจับสิ่งของที่มีเชื้อหวัดเข้าก็จะได้ไม่นำเชื้อเข้าสู่ตัวค่ะ
ล้างมืออย่างไรให้ปลอดโรค
สิ่งที่สำคัญและง่ายที่สุดในการป้องกันโรคจนเรามองข้ามไปเหมือนเส้นผมบังภูเขา ก็คือการล้างมือนี่แหละค่ะ เพราะหากล้างมืออย่างถูกวิธีแล้วไม่เพียงจะป้องกันแต่โรคหวัดค่ะ โรคทางเดินหายใจและโรคทางอาหารก็จะไม่มากล้ำกรายเราด้วย แต่ที่สำคัญคือล้างอย่างไม่รีบเร่งและทั่วถึงดังนี้ค่ะ
- ฝ่ามือถูกัน
- ฝ่ามือถูหลังมือ
- ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว
- หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ
- ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ
- ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ
- ถูรอบข้อมือ
ที่สำคัญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อย้ำว่าที่สำคัญควรล้างด้วยสบู่ สบู่ธรรมดานี่ล่ะค่ะ เพราะมือของเรามีไขมันซึ่งทำให้เชื้อโรคติดอยู่ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่ฆ่าเชื้อนะคะ และล้างโดยเปิดน้ำให้ไหลผ่าน เพราะถ้าล้างโดยการแช่มือในอ่างเชื้อก็จะอยู่ในอ่างและติดกลับมาที่มือเราอีกค่ะ จากนั้นเช็ดมือให้แห้งก็เป็นอันสะอาดเรียบร้อย