รางจืดกินยังไงให้ปลอดภัย ช่วยล้างพิษ

รางจืดกินอย่างไร ให้ปลอดภัย ?

เพราะเคยดื่มและกิน รางจืด เพื่อลดไข้ แก้พิษจากสารเคมีกันมาเป็นเวลายาวนาน แต่จู่ๆ ก็มีประกาศจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า ไม่อนุญาตให้ใช้รางจืดเป็นอาหารหรือส่วนประกอบในอาหาร รวมทั้งเครื่องดื่ม รางจืดกินอย่างไร

เนื่องจากมีผู้ประกอบการบางรายจะนำรางจืดไปผลิตเป็นเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท ซึ่ง อย.เกรงว่า หากผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมดื่มแล้ว อาจทำให้ผู้บริโภคดื่มกันต่อเนื่องในปริมาณมาก จนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะมีงานวิจัยบางชิ้นพบว่า หากกินเป็นเวลานานอาจทำให้ระบบเลือด ตับ ไตทำงานผิดปกติ

เป็นที่มาให้ต้องไปหาคำตอบว่า เราควรกินหรือใช้รางจืดอย่างไรเพื่อให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ

รู้จักรางจืด รางจืดกินอย่างไร

ในทางการแพทย์แผนไทย รางจืด มีฤทธิ์เป็นยาเย็น กินเพื่อลดไข้ ช่วยระบายความร้อนในร่างกาย ฉะนั้นหากกินติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายมีความเย็น ธาตุต่าง ๆ แปรปรวน ตัวซีด เย็น และมีอาการชาได้

นอกจากนี้ เราสามารถกินรางจืด เพื่อถอนพิษเมาเบื่อต่าง ๆ เช่น พิษเมาเบื่อจากสารพิษ สารเคมี ยาฆ่าแมลง เหล้า เบียร์ ฯลฯ จึงอยากแนะนำให้กลุ่มเกษตรกรที่ใกล้ชิดกับสารเคมี และยาฆ่าแมลงใช้เพราะรางจืดจะไปกระตุ้นการขับปัสสาวะ

จึงทำให้ร่างกายขับสารพิษต่าง ๆ ออกมาได้มากเป็นพิเศษ แถมยังมีงานวิจัยระบุว่า รางจืดช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กำลังกินยาแผนปัจจุบันอยู่ หากกินรางจืดร่วมด้วยอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงได้

เลือกรางจืดให้ถูก ได้ประโยชน์

รางจืด เถา ลักษณะเป็นเถาวัลย์ มีทั้งชนิดดอกสีขาวและดอกสีม่วง มีสรรพคุณแก้ไข้ ถอนพิษเมาเบื่อต่าง ๆ ได้

คำแนะนำ เลือกใช้รางจืดเถาดอกสีม่วง เพราะออกฤทธิ์ทางยาดีที่สุด และเป็นรางจืดที่นิยมกินกันมาก และมีสรรพคุณตามที่กล่าวไว้ข้างต้นทั้งหมด

แต่อย่างไรก็ตาม รางจืดดอกสีม่วง จะมีลักษณะดอกคล้ายคลึงกับต้นสร้อยอินทนิลมาก แต่มีความแตกต่างที่ใบ คือ ใบรางจืดเป็นใบเดี่ยว รูปขอบขนานหรือรูปไข่ ส่วนใบของสร้อยอินทนิลเป็นใบเดี่ยว มีปลายใบหยักเว้าเป็นแฉก ฉะนั้นควรพิจารณาให้ดี ก่อนนำมากินเป็นยา

รางจืดต้น จัดเป็นพืชล้มลุก มีลักษณะเป็นพุ่ม ดอกสีเหลือง มีฝักคล้ายถั่ว ใช้ใบและรากแก้พิษงู แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย

ว่านรางจืด มีลักษณะเป็นกอ คล้ายขมิ้น มีหัวอยู่ใต้ดิน เนื้อหัวสีขาว มีกลิ่นหอม สามารถนำมาประกอบอาหารได้ ส่วนเหง้าแก้พิษเมาเบื่อ

ใช้รางจืดให้ถูก

เภสัชกรณ์หญิง ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร แนะนำไว้ดังนี้

  • ชนิดชาซอง ที่มีน้ำหนักซองละ 2-3 กรัม สามารถชงดื่มกับน้ำร้อนปริมาณ 200 มิลลิลิตร ได้ วันละ 3 ซอง
  • ชนิดต้มจากใบสด สามารถใช้ใบรางจืด 5-7 ใบ ล้างให้สะอาด ใส่ลงในกาน้ำที่บรรจุน้ำเกือบเต็ม ต้มจนเดือดทิ้งไว้ 15-20 นาที ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 4-5 ครั้ง
  • ชนิดแคปซูล ข้อมูลจากมูลนิธิสุขภาพไทยแนะนำว่า สามารถกินครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

นอกจากนี้ ดร.สุภาภรณ์ ยังแนะนำ หลักในการกินรางจืดที่ถูกต้องและปลอดภัยว่า ไม่ควรกินในปริมาณความเข้มข้นที่สูงเกินไป สามารถกินหรือดื่มติดต่อกันได้ทุกวัน แต่ถึงอย่างนั้น ก็ควรดื่มชาสมุนไพรชนิดอื่นหมุนเวียนกันไป เพื่อให้ร่างกายเกิดความสมดุล

ทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างนี้แล้ว ก็สามารถใช้รางจืดต่อไปด้วยความสบายใจได้แล้วค่ะ

Did you Know

หลากงานวิจัยคุณค่าจากรางจืด

          รองศาสตราจารย์พร้อมจิต ศรลัพม์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับรางจืด ไว้ในบทความ เรื่องรางจืด สมุนไพรแก้พิษและล้างพิษ ไว้ดังนี้

  • พ.ศ.2523 อาจารย์พานี เตชะเสนและคณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้น้ำคั้นใบรางจืดป้อนหนูทดลองที่กินยาฆ่าแมลงพบว่า ลดอัตราการตายของหนูจากร้อยละ 56 เหลือเพียง ร้อยละ 5
  • พ.ศ.2548 พรเพ็ญ เปรมโยธิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานผลว่า สารสกัดน้ำรางจืดช่วยลดพิษของตับจากแอลกอฮอล์ได้
  • พ.ศ.2553 จิตบรรจง ตั้งสมปอง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พบว่ สารประกอบในใบรางจืดช่วยป้องกันการตายของเซลล์ประสาทในหนูทดลองที่ได้รับพิษจากสารตะกั่ว

ข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต

บทความน่าสนใจอื่นๆ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.