ตอบคำถามสารพัดปัญหา “การนอน”

มีคำถามมากมายที่คนสงสัยเกี่ยวกับการนอน เช่น นอนน้อย จะทำให้อ้วนจริงไหม หรือ การเลือกหมอนที่ใช่ช่วยให้หลับง่ายขึ้น เรารวบรวมข้อสงสัยทั้งหมดและหาคำตอบมาฝากคุณผู้อ่าน เพื่อนำไปปรับใช้ให้การนอนดี มีคุณภาพค่ะ

 

Q: นอนดึกทำให้อ้วนจริงไหม

A: จริง การนอนดึกทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ อธิบายไว้ในหนังสือ นอนถูกวิธี สุขภาพดี ตลอดชีวิตว่า

การนอนดึกและนอนไม่พอจะทำให้ระบบต่างๆในร่างกายแปรปรวนด้วยเหตุนี้สมองจึงหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin Hormone) ที่เกี่ยวกับความหิวและความอยากอาหาร หรือ/และ ฮอร์โมนเลปติน (Leptin Hormone) ที่เกี่ยวกับความรู้สึกอิ่มในปริมาณผิดปกติ จึงมีผลให้คนที่นอนดึก หรืออดนอน หิวผิดปกติและอยากกินอาหารตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจาก ดร.ลอเรน อาซาร์นาว (Lauren Asarnow) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการนอนดึกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของวัยรุ่นชาวอเมริกันจำนวน 3,342 คน จากการติดตามผลอย่างต่อเนื่องนาน 15 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2537 ถึง พ.ศ.2552 โดยให้เด็กกลุ่มนี้ตอบคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการนอนและการใช้ชีวิต พบว่าเด็กวัยรุ่นที่นอนดึก เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่มีแนวโน้มที่จะมีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) เกินเกณฑ์มาตรฐาน

ปัจจุบันพบว่า ความอ้วนที่เกิดจากการอดนอนพบได้บ่อยขึ้นในคนอายุน้อย หรือในวัยกลางคนมากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ เพราะการที่ร่างกายอยู่ในสภาวะตื่นเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้น เราจึงรู้สึกอยากรับประทานอาหารมากขึ้นไปอีก ส่วนปัจจัยเสริมอย่างอื่น เช่น การดูทีวีรอบดึก ก็มีผลให้อยากรับประทานอาหารหรือขนมขบเคี้ยวเพิ่มขึ้น ยิ่งเป็นตัวเสริมให้อ้วนขึ้นเรื่อยๆ

 

Q:นอนดึก เสี่ยงโรคเบาหวานและเป็นหวัดบ่อย ภูมิคุ้มกันต่ำ จริงไหม

A: จริง หากนอนดึกจะเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเบาหวาน ภูมิคุ้มกันต่ำ นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ อธิบายไว้ในหนังสือ นอนถูกวิธี สุขภาพดี ตลอดชีวิตว่า

การอดนอนทำให้เกิดความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดมีไม่เพียงพอ ส่งผลให้เราต้องรับประทานมากยิ่งขึ้น อาการจะคล้ายกับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2

เมื่อผู้เป็นเบาหวานพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้ระดับกลูโคสในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 23 เช่นเดียวกับระดับอินซูลินในเลือดที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 48  ในการวิจัยบางส่วนยังพบว่า ผู้ที่เป็นเบาหวานอยู่แล้วจะเกิดภาวะร่างกายดื้ออินซูลินจากการนอนไม่พออีกด้วย

และ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง สังเกตได้ว่า หลังจากที่เรานอนดึกติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น อ่านหนังสือก่อนสอบ ทำงานจนดึก ร่างกายจะไม่แข็งแรงและลงท้ายด้วยอาการป่วย เช่น หวัด นั่นเป็นเพราะเมื่อร่างกายไม่ได้พักผ่อน ฮอร์โมนชนิดที่ทำหน้าที่ซ่อมแซมร่างกายซึ่งออกมาทำงานช่วงที่เรานอนหลับก็จะออกมาทำงานไม่ได้ หรือทำงานไม่ได้เต็มที่

ด้วยเหตุนี้ระบบภูมิคุ้มกันของเราจึงตกลง ทำให้ความสามารถของร่างกายในการต้านทานเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสเสียไป รวมทั้งเซลล์พิฆาตของร่างกาย (Natural Killer Cell Activity) จะลดลง

 

Q: การนอนดึกส่งผลต่ออารมณ์ซึมเศร้า เครียดง่าย และผิวไม่สวยจริงไหม

A: จริง การนอนดึกส่งผลต่ออารมณ์และการทำงานของระบบย่อย ซึ่งนายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ อธิบายไว้ในหนังสือ นอนถูกวิธี สุขภาพดี ตลอดชีวิตว่า

ข้อมูลวิจัยจากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยว่า จากการศึกษาวัยรุ่นจำนวน 16,000 คน พบว่า ผู้ที่เข้านอนช่วง 0.00 น. และ หลัง 0.00 น. ไปแล้ว มีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าวัยรุ่นที่เข้านอนช่วงเวลา 22.00 น. ถึงร้อยละ 24 และมีความคิดฆ่าตัวตายมากกว่าวัยรุ่นอีกลุ่มถึงร้อยละ 20

สาเหตุที่การอดนอนทำให้วัยรุ่นเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายนั้น เกิดจากความเครียด และอารมณ์ที่ขุ่นมัวจากการนอนไม่พอ ซึ่งส่งผลให้ไม่มีสมาธิและการตัดสินใจแย่ลง ทำให้ไม่สามารถจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้

นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อผิวพรรณ เนื่องจากการนอนดึกจะทำให้โกร๊ธฮอร์โมนหลั่งน้อยลง ร่างกายจะไม่ได้รับฮอร์โมนที่ช่วยซ่อมแซมร่างกายและทำให้ดูเด็ก นอกจากนี้ยังไม่ได้รับเมลาโทนิน เพราะเมลาโทนินสร้างมากที่สุดในช่วงเวลากลางคืนขณะที่เรานอนหลับ ถ้าอดนอนหรือนอนน้อยก็จะทำให้การสร้างเมลาโทนินลดลง ส่งผลให้เกิดการอักเสบหรือภูมิแพ้ผิวหนังได้ง่ายขึ้น

 

ที่มา : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 582


 

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.