ความดันโลหิตต่ำ

แก้ ความดันโลหิตต่ำ ด้วยอาหารและวิตามิน

ความดันโลหิตต่ำ ปรับได้ด้วยอาหารและวิตามิน

คราวนี้มีเรื่องเบา ๆ แต่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสมองอยู่มากเหมือนกัน คือเรื่องของ ความดันโลหิตต่ำ (HYPOTENSION) ผู้ที่สนใจในเรื่องสุขภาพกลัวกันมาก ๆ อยู่โรคหนึ่ง คือโรคความดันโลหิตสูง (HYPERTENSION) กลัวนักกลัวหนาจนกระทั่งว่าเวลาไปขอทำประกันชีวิต ที่บริษัทประกันชีวิตที่ไหนก็ตาม เขามักจะขอให้ไปตรวจโรคดูก่อน ถ้าพบว่าความดันโลหิตสูงมาก บริษัทประกันชีวิตนั้น ๆ มักจะไม่รับประกัน

แต่ถ้าความดันโลหิตต่ำซึ่งตรงกันข้ามกับความดันโลหิตสูงบริษัทรับประกันชีวิตมักจะมองข้ามไป รับประกันชีวิตโดยไม่ลังเล และถ้าไปคุยกับใครซึ่งรู้เรื่องการแพทย์หรือเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพเสียหน่อย บอกกับเขาว่า “ฉันเป็นโรคความดันโลหิตต่ำ” ก็มักจะได้รับคำทักว่า “ดีสิ ไม่ได้เป็นความดันสูง ไม่เห็นจะน่ากลัวอะไร”

เรื่องของเรื่องก็คือ ความดันต่ำไม่เป็นอันตรายก็จริง แต่ก็ทำให้คุณเป็นคนอ่อนแอ ไม่มีแรง ปวดหัวเวียนหัวอยู่ตลอดเวลาทำงานทำการแบบออกแรงหน่อยก็ทำไม่ได้ เหล่านี้เป็นต้น

ความดันโลหิตโดยทั่วๆ ไปสำหรับผู้ใหญ่นั้น ถ้าเกิน 140 / 90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ถือว่าเป็นความดันโลหิตสูงเกินควรหรือถ้าต่ำกว่า 100 / 60 มิลลิเมตรปรอทก็ถือว่าต่ำเกินควร ตัวเลขเหล่านี้เราจะรู้ได้จากการวัดด้วยเครื่องวัดความดันโลหิต (SPHYGMOMANOMETER) ซึ่งจะเป็นเครื่องวัดที่ต้องใช้หูฟัง (STETHOSCOPE) หรือจะเป็นเครื่องวัดอัตโนมัติแบบที่เรียกว่าดิจิทัลก็ได้

ความดันโลหิตต่ำเกิดขึ้นได้จากต้นตอสองประการ คือจากระบบบางอย่างของร่างกายบกพร่องมาตั้งแต่เกิด หรือเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บเฉพาะหน้าบางประการ

เครื่องวัดความดันโลหิต, ความดันโลหิตต่ำ, ความดันต่ำ, ความดันโลหิต่ำเกิดจากอะไร, แก้ความดันโลหิตต่ำ
ค่าความดันโลหิตทราบได้จาก การวัดด้วยเครื่องวัดความดันโลหิต

สาเหตุบางอย่างจากระบบร่างกายบกพร่องนั้น ได้แก่ คนที่โลหิตจางหรือเลือดน้อย ปริมาณรวมของเลือดต่ำ และผนังของเส้นเลือดและการปั๊มของหัวใจผิดปกติ

อันตรายร้ายแรงจากระบบร่างกายบกพร่องนั้นจะไม่ค่อยมีแต่ผู้ที่ความดันโลหิตต่ำมักจะเป็นคนที่ไม่มีแรง เวียนหัว หัวหมุนและคลื่นไส้อาเจียนได้ง่าย ทำงานหนักไม่ค่อยได้ เหนื่อยง่ายถ้าจะพูดแบบชาวบ้านก็คงเป็นเพราะว่า “คนเอวบางร่างน้อยไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรงอย่างนั้นแหละ”

ส่วนที่ความดันโลหิตต่ำเพราะมีโรคภัยเฉพาะหน้าเกิดขึ้นนั้นอาจจะเกิดขึ้นเพราะโลหิตจางแบบเฉียบพลัน ซึ่งสาเหตุอาจจะเป็นเพราะอุบัติเหตุเสียเลือดมาก หรือมีสิ่งที่เป็นท็อกซินมากเข้าสู่ร่างกายอย่างกะทันหัน หรือต้องรับยาเคมีบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับเคมีบำบัด และต้องใช้รังสีบำบัดเป็นต้น

ขอพูดถึงวิธีแก้สำหรับผู้ที่มีโรคภัยเฉพาะหน้าก่อน ถ้าจะให้รู้ว่าเป็นเพราะโลหิตจางหรือไม่ คงจะต้องตรวจเลือดก่อนแล้วดูที่ปริมาณเม็ดเลือดขาวก่อนเป็นตัวแรกต่อจากนั้นให้ดูที่เฮโมโกลบิน (ตัวที่รับเอาออกซิเจนเข้าไว้ในเลือด) แล้วดูเฮมาโตคริต (เปอร์เซ็นต์ของเม็ดเลือดแดงทั้งหมด)

ถ้าชนิดของเลือดเหล่านี้ต่ำกว่าเกณฑ์จะค่อนข้างแน่ใจว่าโลหิตจาง และถ้าวัดความดันโลหิตแล้วต่ำกว่าเกณฑ์ก็ต้องให้เลือดเป็นการด่วน แต่การปฏิบัติเช่นนี้เป็นหน้าที่ของแพทย์นะครับ คุณทำเองไม่ได้ เมื่อแก้อาการโลหิตจางตามนี้ได้แล้ว?ความดันโลหิตของคุณน่าจะขึ้นมาได้อยู่ในระดับปกติ

แต่อีกอย่างหนึ่งที่จะต้องเฝ้าดูเป็นพิเศษก็คือ การที่คุณโลหิตจางนั้นเกิดจากเลือดออกภายในร่างกายหรือไม่ เลือดออกภายในนี้อาจจะเป็นที่แผลในกระเพาะหรือลำไส้ คุณรับประทานอะไรเข้าไปเป็นกรดหรือย่อยไม่หมดก็จะทำให้แผลภายในเลือดออกไม่หยุด อย่างนี้อันตรายแบบเฉียบพลัน ความดันโลหิตต่ำอย่างแน่นอน

ฉะนั้น อย่าวางใจถ้าความดันโลหิตต่ำจนหมดแรงจะเป็นลม แต่ไม่พบอาการผิดปกติอย่างอื่น ให้ดูให้แน่ว่ามีเลือดออกภายในร่างกายหรือไม่ รีบส่งโรงพยาบาลด่วนนะครับ

อ้อ โรคเฉพาะหน้าที่ทำให้ความดันโลหิตต่ำอีกอย่างหนึ่งและไม่ค่อยมีใครสังเกตพบก็คือ ผู้ที่เป็นหวัดอย่างแรง?หรือไปติดเชื้อหวัดใหญ่มา ความดันโลหิตมักจะต่ำ แต่ก็ไม่มีใครค่อยสังเกต เพราะถ้าใครเป็นหวัดใหญ่ก็มักจะให้คนไข้นอนพัก ให้ยาแก้ไข้ให้อาหารบำรุง ไม่กี่วันก็จะหาย

แต่ข้อสังเกตนะครับ ถ้ามีโอกาสตรวจความดันโลหิตและปรากฏว่าเป็นความดันต่ำแล้วละก็ รีบให้ยาบำรุงเลือดด้วย ก็จะหายเร็วขึ้นแน่ๆ

เพราะทำนิตยสารสุขภาพ พบว่าผู้ป่วยโรคความดันโลหิตนั้นมากเหลือเกิน โดยส่วนใหญ่มักเป็นชนิดความดันโลหิตสูง ซึ่งก่ออันตรายต่อสุขภาพ แต่น้อยรายจะป่วยเป็นโรคความดันโลหิตต่ำหรือถ้าเป็นก็มักละเลย เพราะเชื่อว่าไม่อันตราย แต่เราอยู่อย่างปกติกันดีไหม กูรูต้นตำรับชีวจิตมีทางแก้ง่าย ๆ มาฝาก

ออกกำลังกาย, แก้ความดันโลหิตต่ำ, ความดันโลหิตต่ำ, ความดันต่ำ, ความดัน
ออกกำลังกายเบาๆ ช่วยแก้ความดันโลหิตต่ำได้

ทีนี้ก็มาถึงการแก้ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำโดยทั่วไป

  1. แก้ด้วยอาหาร ควรจะให้อาหารที่เพิ่มโปรตีน ให้มากๆ สำหรับท่านที่กินอาหารชีวจิตอยู่แล้ว เราให้กินโปรตีนทั้งจากพืชและจากเนื้อสัตว์ได้ จากพืชก็คือ ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วเหลืองถั่วดำ ถั่วแดง และผลผลิตจากถั่ว เช่นเต้าหู้ โปรตีนเกษตร เป็นต้น และเราให้กินปลาหรืออาหารทะเลได้อาทิตย์ละ 2 ครั้ง คุณอาจจะเพิ่มปลาได้เป็นอาทิตย์ละสัก 3 ครั้งและถั่ว-เต้าหู้ให้เพิ่มขึ้นเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ แทนที่จะเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ตามสูตรหนึ่งของเรา
  2. กินวิตามินบีคอมเพล็กซ์ 100 มิลลิกรัม เป็นประจำ วันละ 1 เม็ด และให้แถมบี 1 100 มิลลิกรัมและบี 12 500 ไมโครกรัม อีกอย่างละเม็ด
  3. แคลเซียม 1,000 มิลลิกรัม และโพแทสเซียม 500 มิลลิกรัม กินประมาณ 1 เดือน เว้น 1 เดือน
  4. วิตามินอี 400 IU วันละ 1 เม็ด
  5. ขอให้ออกกำลังกายเบาๆ ก่อน ใช้วิธีรำตะบองแบบชีวจิตจะดีที่สุด แรกรำแต่ละท่าประมาณ 20 ครั้ง เมื่อรู้สึกดีแล้วให้เพิ่มเป็นท่าละ 30 ครั้ง
  6. ใช้หัวแม่มือนวดเบา ๆ บริเวณกลางหน้าอกแล้วเลื่อนไปที่บริเวณใกล้รักแร้สองข้าง

ข้อมูลจาก คอลัมน์เปิดประตูหลังบ้าน นิตยสารชีวจิต

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ผู้ป่วยมะเร็ง ออกกำลังกายอย่างไรดี ?

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง

โปรแกรมช่วย ชะลอวัย ลดไขมันในเลือด

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.