อ่างเก็บน้ำเขาเต่า

น้ำพระราชหฤทัยล้นเอ่อ ณ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า

อ่างเก็บน้ำเขาเต่า

น้ำพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9

เพื่อประชาชน

 

อ่างเก็บน้ำเขาเต่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการเพื่อจัดหาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค ให้แก่ประชาชน ในหมู่บ้านชายทะเลเขาเต่า

“…เมืองไทยนี้อยู่ได้ด้วยความสามัคคี ด้วยความเข้มแข็งด้วยความเสียสละ ก็ขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาความดีนี้ตลอดไป ที่ต้องรักษาบ้านเมืองไว้ ท่านทั้งหลายคงเข้าใจ เพราะเราเห็นว่าบ้านเมืองของเราอยู่ได้สบายอาศัยความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และถ้ารักษาความเห็นอกเห็นใจนี้แล้ว ประเทศชาติของเราก็จะเป็นที่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์และน่าสบายต่อไปชั่วกาลนาน…”

พระราชดำรัสในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน จังหวัดขอนแก่น ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2519

ชีวจิต ได้มีโอกาสนำทุกท่านมาสัมผัสลมทะเลที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยเป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาช้านาน ประชาชนในพื้นที่จึงมีโอกาสได้เฝ้าฯรับเสด็จอย่างใกล้ชิดบ่อยครั้ง

แต่ที่ใครหลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ หัวหินเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการในพระราชดำริเพื่อพัฒนาชนบทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประมาณปี พ.ศ. 2495 - 2496 พระองค์ท่านเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่แห่งนี้ และทอดพระเนตรเห็นความยากลำบากของประชาชนซึ่งขาดปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ

ใครได้มาเยือนหัวหินในเวลานี้ คงยากจะเชื่อว่า เมื่อ 60 กว่าปีก่อน พื้นที่แห่งนี้ยังไม่มีแม้ถนนเข้าถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวรสร้างถนนเข้าไปยังบ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ (ปัจจุบันคือตำบลทับใต้) เพื่อให้ราษฎรสัญจรไปมาและนำผลผลิตมาจำหน่ายยังชุมชนภายนอกได้สะดวกขึ้น

อ่างเก็บน้ำเขาเต่า

หรือที่ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า บ้านเขาเต่า ตำบลหนองแก ซึ่งผู้เขียนได้มาเดินเก็บภาพรับลมเย็นสบายยามบ่ายอยู่นี้ คุณเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 14  เล่าว่า

“เมื่อก่อนพื้นที่บริเวณนี้แห้งแล้ง ชาวบ้านขาดแคลนน้ำจืดอุปโภค บริโภค เนื่องจากอยู่ติดทะเล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงทรงศึกษาค้นคว้า และมีพระราชดำริให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำในปี 2506 โดยพระราชทานพระราชทรัพย์

ส่วนพระองค์เป็นทุนก่อสร้าง 60,000 บาท สมทบกับเงินของกรมชลประทาน นับเป็นโครงการในพระราชดำริด้านชลประทานแห่งแรกของพระองค์

“เมื่อทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จะทรงสร้างอ่างเก็บน้ำ ชาวบ้านจึงพร้อมใจน้อมเกล้าฯถวายที่ดินจำนวน 300 ไร่ ใช้เวลาสร้างประมาณ 1 ปีจึงแล้วเสร็จ สามารถกักเก็บน้ำได้ 6 แสนลูกบาศก์เมตร

“ชาวบ้านจึงมีน้ำใช้อุปโภค บริโภค เพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ การสร้างอ่างเก็บน้ำจืดยังช่วยปรับสภาพดินที่เคยเค็มให้ดีขึ้น จึงเพาะปลูกได้ผลดี และยังช่วยสร้างอาชีพเสริมแก่คนในชุมชนคือ เลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังอีกด้วย”

ประโยชน์ทางอ้อมอีกประการหนึ่งคือเรื่องของการท่องเที่ยวคุณเฉลิมเกียรติกล่าวว่า

“ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เข้ามาพักอาศัย บางรายมาอยู่เป็นเดือน ๆ เพราะติดใจบรรยากาศที่สงบ สวยงามและเป็นธรรมชาติ นำรายได้สู่ท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก”

นอกจากนี้ยังมีประเพณีประจำปี ทั้งการแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานและงานลอยกระทง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯมาชมการแข่งเรือ ณ อ่างเก็บน้ำเขาเต่าแห่งนี้ด้วย

“จากชุมชนเล็ก ๆ ที่มีเพียง 20 - 30 ครัวเรือน ทุกวันนี้เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 200 ครัวเรือน ประชาชนสองฝั่งอ่างเก็บน้ำแม้มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน แต่ก็อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและมีสำนึกรักท้องถิ่นของตน”

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนในทุกพื้นที่นี่เอง จึงรวมเราเป็นหนึ่งเดียวกันบนผืนแผ่นดินไทย

จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง นิตยสารชีวจิต ฉบับ 371 (16 มีนาคม 2557)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

พลังงานทดแทน พลังรักจากพ่อหลวง

ชั่งหัวมัน ปาฏิหาริย์แห่งผืนดินจากน้ำพระราชหฤทัย

แหลมผักเบี้ย โครงการจัดการน้ำเสียและขยะในพระราชดำริ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.