กล้า…ดี เมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืน
โครงการ กล้า…ดี : ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุทกภัยอย่างยั่งยืน เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรผู้มีต้นทุนในการผลิตอยู่ในขั้นติดลบนี้ สามารถกลับมายืนด้วยตัวเองได้ในเวลาที่รวดเร็วที่สุด
คงไม่มีใครลืมเลือนเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554 ได้อย่างแน่นอน ภัยพิบัติที่นำความสูญเสียอย่างมหาศาลมาสู่ประเทศไทย ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เห็นว่าผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ไม่ได้จบลงเมื่อมวลน้ำผ่านพื้นที่ไปเท่านั้น แต่เมื่อกลับไปยังพื้นที่ของตน ผู้ประสบภัยโดยเฉพาะเกษตรกรจะตกอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว และกว่าจะปรับปรุงพื้นที่ ปลูก และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อีกครั้งคืออีกครึ่งปีหลังเหตุการณ์
คุณสุดารัตน์ โรจน์พงศ์เกษม ผู้จัดการโครงการศูนย์เรียนรู้และเผยแพร่การพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เล่าถึงการดำเนินงานของโครงการนี้ว่า
“โครงการกล้า…ดีฯน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการ ‘ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเขาเอง’ มาปรับใช้โดยในส่วนแรกเน้นช่วยให้ผู้ประสบภัยสามารถลดรายจ่ายในชีวิตประจำวันด้วยการสนับสนุน ‘ชุด 3 พร้อม’ ประกอบด้วยต้นกล้าพืชผักสวนครัวที่ให้ผลผลิตพร้อมบริโภคและเครื่องปรุงของแห้งแก่ผู้ประสบภัย เพื่อให้นำมาบริโภคได้ทันทีและต่อเนื่อง
“ในส่วนที่สองเน้นการสนับสนุนให้ผู้ประสบภัยสร้างรายได้เพิ่มจากอาชีพด้านการเกษตรและปศุสัตว์ โดยได้สนับสนุน ‘ชุดเมล็ดพันธุ์เพื่อเพิ่มรายได้’ ให้กับผู้ประสบภัยที่สนใจ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาด้านการเกษตรและปศุสัตว์โดยการต่อยอดสิ่งที่ขาดให้ชุมชนเข้มแข็ง 6 กลุ่ม เช่น การอบรมหลักสูตรปรับปรุงบำรุงดิน การสนับสนุนหมูเหมยซาน เป็นต้น”
จากการลงพื้นที่เพื่อติดตามผลของโครงการพบว่า “ชุด 3 พร้อม” สามารถลดรายจ่ายของชาวบ้านได้เฉลี่ย 340 บาทต่อครัวเรือน ในขณะที่ “ชุดเมล็ดพันธุ์เพื่อเพิ่มรายได้” สามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 2,000 บาทต่อครัวเรือน
นอกจากนี้ผู้ประสบภัยบางส่วนยังหันมาให้ความสำคัญกับการปรับตัวเพื่อรับมือภัยธรรมชาติมากขึ้น หลายคนที่ไม่เคยปลูกผักก็หันมาปลูกผักในกระถางซึ่งสามารถยกขึ้นที่สูงได้ เป็นทางเลือกด้านอาหารในเวลาประสบภัยพิบัติ กลุ่มชุมชนเข้มแข็งในจังหวัดอุทัยธานีขอการสนับสนุนอุปกรณ์ด้านการประมง เพราะเป็นอาชีพทางเลือกได้ในช่วงอุทกภัย
“การได้ทำงานสืบสานพระราชปณิธานก็ต้องลงพื้นที่โดยนำหลักที่ท่านพระราชทานไว้มากมายนี้ไปปฏิบัติจริง เป็นความท้าทายความสนุก และการเรียนรู้อย่างมหาศาลท่านมีพระราชดำรัสด้วยว่า หลักจะดีแค่ไหนถ้าคนปฏิบัติไม่มีคุณสมบัติก็สำเร็จไม่ได้ทำให้เราต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลาในฐานะ ‘นักปฏิบัติการพัฒนา’ ตามแนวพระราชดำริ” คุณสุดารัตน์กล่าวอย่างภาคภูมิและมุ่งมั่น
เพราะเหตุนี้เอง กล้า…ดีฯจึงเป็นหนึ่งในโครงการสนองแนวพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้มีเมล็ดพันธุ์แห่งการดำรงชีพที่ยั่งยืน
จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง นิตยสารชีวจิต ฉบับ 394 (1 มีนาคม 2558)
บทความน่าสนใจอื่นๆ
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวง ที่ ๑ (ฝาง) จากมหันตภัยสู่ “ป่าในใจคน”