วิธี ชะลอความเสื่อม ให้ร่างกาย ช่วยป้องกันสารพัดโรค
ความเสื่อม หากมองผิวเผินคงเป็นแค่เรื่องของอายุ ความแก่ชราจากวันเวลาที่ผ่านล่วงเลยไป เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายย่อมเสื่อมถอยเป็นธรรมดา ปัจจุบันมนุษย์ชินชากับความเสื่อมมากไป โดยเข้าใจว่ามันเป็นไปตามธรรมชาติ โดยลืมนึกว่าความเสื่อมดังกล่าวอาจมาถึงก่อนวัยอันควร หรือมาเร็วขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การกินอยู่ วันนี้ผู้เขียนจึงมาให้ข้อมูลเพื่อปรับความเข้าใจเสียใหม่ว่า เราสามารถ ชะลอความเสื่อม ได้หากรู้วิธีและเข้าใจความเป็นไปของร่างกาย
ความเสื่อมซับซ้อนกว่าที่คิด
ความเสื่อมเกิดจากอะไรได้บ้าง
1. ปัจจัยภายใน
เป็นความเสื่อมที่มีสาเหตุมาจากปัจจัยของร่างกาย โดยไม่ต้องมีสิ่งภายนอกมากระตุ้น เช่น
1.1 พันธุกรรม
บางคนมีพันธุกรรมที่ร่างกายเสื่อมหรือดูแก่ช้ากว่าคนอื่นๆก็จะแก่ช้า แต่ในคนที่มีพันธุกรรมที่ร่างกายเสื่อมเร็วก็จะแก่เร็วกว่านั่นเอง ยกตัวอย่างโรคทางพันธุกรรมที่ชื่อว่า โรคโปรเจเรีย (Hutchinson Gilford Progeria Syndrome) ซึ่งก็คือโรคชราในเด็ก คือ ผิวพรรณและหน้าตาจะดูแก่ตั้งแต่อายุน้อยนั่นเอง
1.2 โรคประจำตัว
ได้แก่ โรคเบาหวาน เป็นโรคที่มีงานวิจัยยืนยันว่าเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความเสื่อมได้เร็วกว่าคนปกติ จะสังเกตได้ว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อาจก่อให้เกิดความเสื่อมในหลายๆอวัยวะทั้งไต จอตา หัวใจ ข้อต่างๆ
1.3 ฮอร์โมนในร่างกาย
โดยปกติแล้วฮอร์โมนต่างๆจะถูกควบคุมด้วยพันธุกรรมแต่บางครั้งฮอร์โมนก็อยู่นอกเหนือการควบคุมได้เช่นกัน เช่น ในผู้หญิง หากมีระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนและโปรเจสเทอโรนสมดุล และอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศได้นานก็จะแก่ช้า แต่หากใครที่ประจำเดือนหมดเร็วก็จะแก่เร็วนั่นเอง
นอกจากนั้นยังมีฮอร์โมนไทรอยด์ที่หากมีมากหรือน้อยกว่าปกติ(ในผู้ที่มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ) จะทำให้อวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ ตับ ไต ปอด เสื่อมเร็ว
2. ปัจจัยภายนอก
ซึ่งเข้ามากระตุ้นปัจจัยภายในให้เกิดความเสื่อม ได้แก่
2.1 แสงแดด
หรือยูวีเอและยูวีบี ที่มีส่วนโดยตรงในการกระตุ้นให้เซลล์แก่ตัวเร็วขึ้นไม่ใช่แค่ดูแก่เฉพาะที่ผิวหนังภายนอกอย่างเดียว แต่แสงแดดสามารถสร้างผลกระทบถึงระดับดีเอ็นเอ ทำให้ดีเอ็นเอมีการเปลี่ยนแปลง บันทึก และถ่ายทอดความผิดปกตินี้จากรุ่นสู่รุ่น ผู้ที่มีดีเอ็นเอดังกล่าวก็จะเกิดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆได้ง่ายและเร็วกว่าคนทั่วไป เช่น ในผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง จอประสาทตาเสื่อม ความผิดปกติของระบบประสาทระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็อาจมีสาเหตุจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอ (Mutation) จากแสงแดดดังที่กล่าวไปแล้ว
2.2 โภชนาการ
อาจเกิดได้จากการกินเกิน กินขาด กินไม่สมดุล โดยสารอาหารที่เราชอบกินเกินแล้วส่งผลกระทบต่อความเสื่อมส่วนใหญ่ก็คือ คาร์โบไฮเดรตซึ่งต่อมาจะถูกย่อยเป็นน้ำตาล หากใช้ไม่หมดจะถูกนำไปสะสมในรูปแบบของไขมัน บ่อเกิดของอาการอักเสบและอาการเสื่อมต่างๆ นอกจากนี้น้ำตาลยังมีส่วนกระตุ้นให้เกิดกระบวนการไกลเคชั่น (Glycation) สาเหตุของความเสื่อมสภาพต่างๆ ในร่างกายอีกด้วย
2.3 ไลฟ์สไตล์
หากเป็นคนออกกำลังกาย เล่นกีฬาหนัก เป็นนักกีฬาอาชีพหรือนักวิ่งมาราธอน ร่างกายจะเกิดออกซิเดชั่น (Oxidation) หรือร่างกายเกิดการสันดาปกับออกซิเจนมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดฟรีแรดิคัล (Free Radical) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของความแก่
อะไรที่กระตุ้นให้ปฏิกิริยาไกลเคชั่นรุนแรง
• ระดับน้ำตาลในเลือด
• อายุที่เพิ่มขึ้น (ระยะเวลาที่ได้รับน้ำตาลนาน)
• ไม่ปกป้องผิวจากรังสียูวี(ความร้อนจากแสงแดด)
• ปล่อยให้ร่างกายมีอาการอักเสบ เช่น เป็นไข้ ติดเชื้อบ่อย ๆ (ความร้อนจากอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น)
นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสื่อมของร่างกายจากการบริโภคน้ำตาลที่สำคัญอีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือ กระบวนการไกลเคชั่น (Glycation) ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งภายในหรือภายนอกร่างกายของเราที่สามารถสังเกตได้จากสิ่งต่างๆรอบตัว เช่น ในผลไม้สุก หากเป็นผลไม้ที่มีรสหวานมาก มีน้ำตาลมากก็จะยิ่งคล้ำและดำมาก สามารถเปรียบเทียบระหว่างมะม่วงสุกจัดกับแอ๊ปเปิ้ลสุกจัด จะพบว่า มะม่วงมีสีดำมากกว่าสีดำที่เกิดขึ้นคือ สารที่ทำให้เซลล์ตาย ซึ่งเร่งกระบวนการให้เกิดความเสื่อมเร็วขึ้น เรียกว่า Advanced Glycation Endproducts หรือ AGEs
โดยกระบวนการนี้จะเกิดจากน้ำตาล+ความร้อน+โปรตีนหรือเซลล์ ก็จะทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ (สีดำ) และตายไปนั่นเอง
ดังนั้นอวัยวะในร่างกายเราที่มีส่วนประกอบของโปรตีนก็จะได้รับผลกระทบจากกระบวนการนี้ ปกติแล้วร่างกายเราจะมีคอลลาเจนกับอีลาสตินที่อยู่กระจัดกระจายในชั้นผิวหนัง พอน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดและไปเคลือบคอลลาเจนและอีลาสตินจะเกิดความหนืด (Caramelization) เซลล์ที่ปกติมีความยืดหยุ่นก็จะเหนียวเกาะตัวและยุบตัวเป็นร่องๆ เป็นที่มาของริ้วรอยความชรานั่นเอง
ในผู้ป่วยเบาหวานจึงมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการหรือโรคจากความเสื่อมอื่นๆ พ่วงเข้ามาได้ เช่น เลนส์ตาซึ่งประกอบไปด้วยโปรตีน เมื่อมีระดับน้ำตาลในร่างกายสูง น้ำตาลจะไปเกาะอยู่กับโปรตีน และเมื่อโปรตีนไปทำปฏิกิริยากับวุ้นในตา ทำให้เกิดความขุ่น ก็จะเกิดอาการวุ้นในตาเสื่อมและจอประสาทตาเสื่อมตามมาได้
เช่นเดียวกับในสมองของคนเราที่มีส่วนของความจำหรือฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งประกอบด้วยโปรตีน 2 ชนิด น้ำตาลก็สามารถทำปฏิกิริยากับโปรตีนและส่งผลให้ความจำเสื่อมเร็วขึ้น
นอกจากนี้กระบวนการไกลเคชั่นยังส่งผลให้การทำงานของมัดกล้ามเนื้อต่างๆติดขัด เชื่องช้า บาดเจ็บได้ง่าย ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเชื้อโรคต่างๆช้าหรือไวเกินไป รวมไปถึงกระดูก ซึ่งสาร AGEs จะเข้าไปอยู่ในโพรงกระดูก แล้วหยุดการสร้างมวลกระดูกใหม่ ทำให้มวลกระดูกลดลง จึงเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนนั่นเอง
หน้าต่อไป จะเป็นการแนะนำวิธี ชะลอความเสื่อม เพื่อร่างกายที่แข็งแรง ยืดอายุอวัยวะต่างๆ ของร่างกายค่ะ