วิธีรักษาโรคมะเร็ง, รักษามะเร็ง,โรคมะเร็ง,มะเร็ง

7 ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจเลือก วิธีรักษามะเร็ง ด้วยแพทย์ทางเลือก

ก่อนตัดสินใจใช้ วิธีรักษาโรคมะเร็ง ด้วยแพทย์ทางเลือก ควรรู้อะไรบ้าง

มีผู้ป่วยมะเร็งไม่น้อย ที่ตัดสินใจใช้ วิธีรักษาโรคมะเร็ง ด้วยแพทย์ทางเลือก ร่วมกับการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งบางวิธีก็ส่งเสริมการรักษา บางวิธีก็อาจไร้ประโยชน์ วันนี้เราจึงนำคำแนะนำจากนายแพทย์แอนดรูว์ ไวล์ มาฝาก

มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ

ผู้ป่วยหลายคนเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งแล้วก็เกิดความกังวล ไม่รู้ว่าควรเข้ารับการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์ทางเลือกดี

นายแพทย์แอนดรูว์  ไวล์  ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น พ่อมดด้านการแพทย์ทางเลือกชาวอเมริกัน (ผู้ก่อตั้งศูนย์การแพทย์ผสมผสานแอริโซนา แห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นนักเขียนด้านการแพทย์ผสมผสานที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า หนังสือที่นำมาแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ได้แก่ กินดีอยู่ดี,  พลังบำบัด) เขาได้แนะนำแนวคิดในการเข้ารับการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือกไว้ในหนังสือ พลังบำบัด  สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผู้ป่วยทุกท่าน สามารถนำไปปรับใช้ประกอบการตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้เป็นอย่างดี เราจึงสรุปข้อมูลมาฝากกันดังนี้

โรคมะเร็ง

รู้ก่อนใช้แผนทางเลือก

1. ให้พิจารณาวิธีการรักษาด้วยสถิติการหาย

ให้ขอข้อมูลที่มีการเผยแพร่เพื่อสนับสนุนการแพทย์สาขาที่คุณสนใจ ซึ่งอาจมีอยู่ไม่มากนักหรืออาจไม่มีเลย คุณจะลองไต่ถามดูจากนักบำบัดสาขาอื่นๆก็ได้

2. หาคำตอบให้ได้

ว่าวิธีการบำบัดสาขาที่คุณสนใจนั้น มีความเสี่ยงที่จะก่อสารพิษแก่ร่างกาย หรือเป็นอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่

3. ขอชื่อและที่อยู่ของผู้ที่เคยรับการบำบัด

ด้วยการแพทย์สาขานั้น ๆ จนสามารถหายจากมะเร็งได้ ซึ่งหากนักบำบัดไม่มีชื่อผู้ป่วยที่เคยหายจากมะเร็งเพราะเขาเลยแม้แต่คนเดียว ก็ระวังไว้ก่อนครับ และไม่ว่าคุณจะรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์ทางเลือกสาขาใดก็ตาม ผมมีข้อแนะนำกว้างๆอย่างนี้

4. เนื่องจากมะเร็งเป็นสัญญาณที่ร่างกายสะท้อน

ให้คุณเห็นว่าระบบบำบัดของคุณบกพร่องไปมากแล้ว ดังนั้นไม่ว่าใครจะเป็นมะเร็งระยะแรกหรือระยะใดก็ตาม ต้องถือว่ามะเร็งเป็นโรคที่มีการดำเนินของโรคอย่างเป็นระบบ จึงต้องปรับปรุงตนเองทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เพื่อที่จะฟื้นฟูภูมิคุ้มกันและกอบกู้สุขภาพกลับมาใหม่

5. อย่างน้อยที่สุด ผมยืนยันว่าคุณต้องเปลี่ยนอาหารการกิน

ออกกำลังกายเข้าไว้ให้สม่ำเสมอ กินวิตามินที่ให้สารต้านอนุมูลอิสระใช้สมุนไพรต่างๆ โดยเฉพาะตัวที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน หัดทำสมาธิ ทั้งแบบสร้างจินตนาการและแบบสมาธิภายใต้การชี้นำเพื่อช่วยให้ระบบบำบัดสยบมะเร็งเอาไว้ให้ได้ แก้ไขปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นระหว่างพ่อแม่ลูกหรือสามีภรรยาก็ตาม และให้เปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่และลักษณะการใช้ชีวิตเท่าที่จำเป็น เพื่อให้โอกาสแก่ร่างกายที่จะกระตุ้นให้ระบบบำบัดทำงานต่อต้านมะเร็งให้ได้จนสิ้นซาก

6. นอกจากนั้นให้พยายามเสาะหาคนที่เคยเป็นมะเร็งและรอดชีวิตมาได้

ถ้าเป็นไปได้ให้หาตัวผู้ที่ผ่านการเป็นมะเร็งชนิดเดียวกับคุณมาด้วยจะยิ่งดี หรือหาหนังสือเกี่ยวกับการรอดพ้นจากมะเร็งมาอ่านก็ได้ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มกำลังใจและความเชื่อมั่นในศักยภาพการบำบัดมะเร็งของมนุษย์เรา

7. แสวงหานักบำบัดที่เชื่อถือได้

และขอความช่วยเหลือทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าระบบบำบัดสุขภาพอาจจะกำจัดมะเร็งไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็ช่วยได้ เช่น จะช่วยชะลอการเฟื่องฟูของมะเร็งหรือยับยั้งมะเร็งไว้ เพื่อช่วยให้คุณยังคงมีสุขภาพดีอยู่ได้ครับ

เชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยและคนในครอบครัวเป็นอย่างดี  ชีวจิตขอเอาใจช่วยและเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยทุกท่านผ่านพ้นวิกฤติสุขภาพไปอย่างราบรื่นค่ะ

(ข้อมูลจาก คอลัมน์บทความ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 404)

ชีวจิต Tips แก้เครียดถาวร ตามสไตล์แพทย์ทางเลือก

ความจริง คำว่า “การแพทย์ทางเลือก” เป็นคำเก่าแก่ ของทศวรรษที่แล้ว มาจาก Alternative Medicine มักหมายถึง ถ้าไม่เลือกแพทย์แผนปัจจุบัน ก็เลือก “ฉัน” ก็ได้…ซึ่งไอเดียนี้ล้มเหลว เพราะทุกอวัยวะเกื้อกูลกัน สรรพสิ่งส่งเสริมพึ่งพากันและกันได้

ฉะนั้น สมัยนี้ เก๋กว่า ทันสมัยกว่า ต้องใช้คำว่า การแพทย์ผสมผสาน หรือ Integrated Medicine หมายถึง เลือกมากกว่าหนึ่ง ในแบบที่ส่งเสริมกันและกัน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมดีงาม โดยยึดเอาการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นหลัก

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผู้คนรู้จักชีวจิต กูรูต้นตำรับของเรา อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง ก็บอกเช่นนี้เสมอ ว่าเราเป็น “การแพทย์ผสมผสาน” เรื่องการกินอยู่ อาหารเป็นยา การปรับจิตใจ คลายเครียดกังวล ล้วนแล้วแต่ช่วยให้การรักษาตามการแผนปัจจุบันได้ผลดียิ่งขึ้น

แต่ถ้าใครจะเคยได้ยินว่า ชีวจิตเป็น “การแพทย์ทางเลือก” นั่นเพราะทศวรรษที่ผ่านมา วงการวิทยาศาสตร์สุขภาพ ต้องการเขย่าการแพทย์แผนปัจจุบัน ให้ทั่วโลกรู้ว่า นายไม่ได้เจ๋งจริง รักษาทุกโรคได้จริง ฉะนั้นนายต้องลดอีโก้ลง แล้วเปิดทางให้วิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์แขนงอื่นๆ โดยเฉพาะการแพทย์พื้นบ้าน อาหารและสมุนไพรท้องถิ่น เข้ามามีบทบาทในการรักษาโรคและสุขภาพของมนุษย์ เพราะมันเป็นแนวทางที่ช่วยมนุษยชาติได้ดีกว่า โดยพวกเขาเรียกตัวเองว่า “การแพทย์ทางเลือก” ทว่า เมื่อถึงวันนี้ ที่การแพทย์แผนปัจจุบันลดการ์ดลง ยอมญาติดีกับการแพทย์อื่นๆ ทั่วโลก เราเลยเช็คแฮนด์กัน เป็น “การแพทย์ผสมผสาน” กันเถอะ

อิอิ เอาล่ะ…เข้าเรื่องของเราค่ะ

เนื่องจากคุณหมอแอนดรูว์ ไวล์ แกได้รับขนานนามว่า เป็นพ่อมดการแพทย์ทางเลือกชาวมะกัน ภาพความเป็น “การแพทย์ทางเลือก” ของแกจึงไม่หายไปไหน (แม้จะเป็นแพทย์ศาสตร์บัณฑิตจากโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดก็ตาม) ประกอบกับหนังสือ Spontaneous Happiness ในบทที่ว่าด้วย “Optimizing Emotional Well-Being by Caring for the Body ก็กล่าวถึง วิธีทางเลือกที่จะช่วยบำบัดอาการเครียดหรือซึมเศร้า บ.ก.เลยขอใช้ชื่อเรื่องว่าเป็น “การแพทย์ทางเลือก” (เกริ่นนำซะเกือบจบเรื่องแน่ะ 555…แซวตัวเอง)

การแพทย์ทางเลือกเหล่านั้น ได้แก่

  1. การกินอาหารเสริม และบ.ก.ได้บอกไปแล้วในตอนที่แล้วเรื่องการกิน >น้ำมันปลา วันละ 200-2,000 มิลลิกรัม ตามคำแนะนำของคุณหมอเดเนียล จี.เอเมน (ส่วนคุณหมอแอนดรูว์ให้กิน 2-4 กรัม) > และการได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ (คุณหมอแอนดรูว์แนะนำให้ได้รับวันละ 2,000-10,000 IU)
  2. การออกกำลังกาย โดยคุณหมอแอนดรูว์ไม่ได้เน้นการออกกำลังกายอะไรเป็นพิเศษ แต่แนะนำให้ทำกิจกรรมในลักษณะที่เป็นการออกกำลังกาย เหมือนคนสมัยโบราณที่ไม่เคยมีความเครียด เพราะต้องล่าสัตว์ หรือหนีเสือเนืองๆ เมื่อปี 2013 ที่คุณหมอแอนดรูว์เขียนหนังสือเล่มนี้ ท่านระบุว่า ไม่มีงานวิจัยเพียงพอในการรับรองว่า การออกกำลังกายช่วยคลายเครียดได้จริง ซึ่งเราเชื่อว่า ตอนนี้มีงานวิจัยเพียงพอที่จะรับรองการออกกำลังกายคลายเครียดได้แล้ว เพราะเมื่อออกกำลังกาย สมองจะหลั่งสารสุขออกมา ช่วยให้ร่างกายคลายเครียดได้ ยิ่งไปกว่านั้น คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ จะป้องกันการกลับมาของโรคเครียดได้ด้วย
  3. การนอนหลับ ซึ่ง บ.ก.เล่าประโยชน์ของการนอนหลับลึก นอนหลับสนิท และนอนหลับเพียงพอบ่อยแล้ว ครั้งนี้จึงขอยกข้อเสียของการนอนหลับไม่ดี ตามที่คุณหมอแอนดรูว์กล่าวไว้มาบอกค่ะ นั่นคือ ทำให้มองโลกในแง่ร้าย ปลีกตัวไม่เข้าสังคม และเสี่ยงต่ออาการเจ็บปวดทางกายสูงกว่าปกติ โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ยืนยันว่า การนอนหลับวันละ 4-5 ชั่วโมงติดต่อกัน 1 สัปดาห์ ทำให้เครียดง่าย โกรธง่าย เศร้าง่าย และจิตตกง่ายกว่าปกติ
  4. พลังแสง จากการรักษาคนไข้ชาวอเมริกันของคุณหมอแอนดรูว์ ท่านยืนยันว่าพบคนไข้ป่วยด้วยโรคจิตเวชช่วงฤดูหนาว ที่อากาศขมุกขมัว มากกว่าฤดูร้อน ที่อากาศแจ่มใส มีแสงอาทิตย์ส่องตลอดวัน คนไข้โรคซึมเศร้าบางคนที่มีอาการหนัก หลังจากที่ท่านแนะนำให้นำกล่องไฟไปตั้งไว้ในบ้าน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์ พบว่าอาการซึมเศร้าของคนไข้คนนั้นดีขึ้น
  5. ทำสวน ในดิน เราพบแบคทีเรียตัวหนึ่งที่ชื่อว่า M Vaccae ซึ่งหลังจากนำมาทดลองในสัตว์แล้วพบว่า แบคทีเรียตัวนี้ ช่วยเสริมสร้างภูมิต้าน และสร้างเซโรโทนินในสมอง และทำหน้าที่เหมือนยาคลายเครียด
  6. จินตนาการบำบัด (Visualization) โดยคุณหมอแอนดรูว์กล่าวอ้างถึงกระบวนการบำบัดทางจิตใจว่า จินตนาการไปช่วยแปรเปลี่ยนกลไกในสมองและจิตใจอย่างไรบ้าง วิธีการง่ายๆ คือ ให้จดจำสถานที่หรือเรื่องราวที่เรามีความสุขที่สุดไว้ เมื่อเครียดหรือรู้สึกไม่ดี ก็ให้จินตนาการถึงสถานที่หรือเรื่องราวนั้นๆ
  7. หายใจบำบัด จะว่าไป การฝึกโยคะช่วยทำให้เราจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยคลายเครียดคลายซึมเศร้าได้ คุณหมอแอนดรูว์เองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และสอนบุคคลทั่วไปในเรื่องการจดจ่ออยู่กับลมหายใจ โดยวิธีการง่ายๆ ของท่านคือ 1. จดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้า-ออก ตลอดเวลาที่นึกได้ 2. เมื่อจดจ่อได้แล้ว ให้ลองหายใจลึกขึ้น และช้าลง บ่อยเท่าที่จะเป็นไปได้ 3. ให้ท้องพองเมื่อหายใจออก 4. เพื่อให้หายใจได้ลึกขึ้น แนะนำให้สูดลมหายใจเข้าจนสุด
  8. ฝึกจดจ่อ คุณหมอแอนดรูว์กล่าวถึง การเพ่งดวงไฟ แบบการเพ่งกสิณของบางสำนักสงฆ์ โดยวิธีง่ายๆ ที่คุณหมอนะนำคือ การจดจ่ออยู่กับกิจกรรมสร้างเสริมสมาธิ เช่น งานเย็บปักถักร้อย การขับรถ การวาดภาพระบายสี
  9. ฝึกทำสมาธิ คงไม่ต้องบอกเล่าเก้าสิบอะไรเกี่ยวกับศาสตร์นี้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการทำสมาธิของศาสนาใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่ช่วยให้สมองหลั่งสารสุข ช่วยคลายเครียดและซึมเศร้าได้ทั้งสิ้น
  10. ลิมิทการรับข่าวสาร คุณฟรานซิล เฮลเจน ผู้เรียกตัวเองว่า cyberneticist เขียนบทความชิ้นหนึ่งชื่อ Complexity and Information Overload in Society กล่าวถึงการรับข่าวสารข้อมูลที่มีท่วมหัวท่วมหู-คำของบ.ก.เอง ทั้งจากอินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย ทีวี และอื่นๆ ทำให้เกิดอาการ data smog ซึ่งเป็นความสงสัยใคร่รู้ กลายเป็นความคิดวุ่นวาย ก่อให้เกิดความเครียดตามมา นอกจากนี้โดยธรรมชาติของสมองจะสามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งเดียวเท่านั้น หากต้องปรับการจดจ่อไปมาระหว่างสิ่งนั้นกับสิ่งนี้ โดยเฉพาะหากเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดอารมณ์ อารมณ์นั้นย่อมส่งผลต่อสิ่งต่างๆ ที่เหลือ และอารมณ์ที่ว่า ส่วนใหญ่เป็นอารมณ์ด้านลบ ที่ก่อให้เกิดความเครียด

บทความอื่นที่น่าสนใจ

HOW TO ออกกำลังกาย เพื่อความสมดุลของฮอร์โมน ลดเสี่ยงมะเร็งเต้านม

ทำไม วัยทองเสี่ยงโรค หัวใจและหลอดเลือด และโรคกระดูกพรุน

วิ่งอย่างไร ไม่ให้เจ็บ

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

ท่าบริหารกล้ามเนื้ออย่างง่าย สำหรับคนไม่ค่อยออกกำลัง เพื่อแขน ขา และก้นกระชับ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.