มูลนิธิบ้านปันรัก เพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง
วันนี้เราชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ มูลนิธิบ้านปันรัก เพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง มูลนิธิที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อแบ่งปันความรักความห่วงใยในเพื่อนมนุษย์ระหว่างกันและกัน ส่งต่อไปถึงผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ที่มาของมูลนิธิบ้านปันรัก
จากสถิติของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปีพ.ศ.2553 ระบุว่า โรคมะเร็งขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งของสาเหตุการตายของประชากรไทย
โดยจำนวนประชากรที่สำรวจ 411,331 คน พบว่า มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงถึง 58,076 คน เพิ่มขึ้นจาก 4 ปีที่แล้วกว่า 6,014 คน
และเมื่อต้องเห็นสภาพความทุกข์ยากของเพื่อนผู้ป่วยมะเร็งบางคนที่ต้องเดินทางมากกว่า 4 ชั่วโมง ระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร เพื่อมารักษา มูลนิธิบ้านปันรักเพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็งจึงถือกำเนิดขึ้นมาในปีพ.ศ. 2555
แต่การเดินทางของมูลนิธิมาตลอดหนึ่งปีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ปักษ์นี้ชีวจิตได้มีโอกาสคุยแบบเปิดอกกับคุณอ้อยดอกเตอร์พัชรพร สกุลพงศ์ อายุ 56 ปี (ในขณะนั้น) เลขานุการมูลนิธิบ้านปันรัก เพื่อให้รู้จักกับมูลนิธินี้มากขึ้น
จากผู้ป่วยสู่ผู้ให้
จุดเริ่มต้นของการทำงานกับมูลนิธิมาจากคุณอ้อยเองก็เป็นผู้ป่วยมะเร็งเช่นกัน โดยเธอป่วยเป็นมะเร็งไทรอยด์และต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2542
ย้อนกลับไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ชีวจิตเคยได้มีโอกาสบันทึกเรื่องราวการต่อสู้โรคร้ายของเธอ ในคอลัมน์สู้ชีวิต ฉบับที่ 99 – 102 จากที่เคยเป็นอาจารย์พยาบาลที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี มาวันนี้บทบาทของเธอได้เปลี่ยนไป
ปัจจุบันคุณอ้อยเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 11 สุราษฎร์ธานี โดยระหว่างที่รักษาตัวเธอได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับคนมากมายที่ต่างก็ป่วยเป็นมะเร็งเหมือนเธอจนทำให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเพื่อนที่ป่วยเหมือนกัน
“คนป่วยเป็นมะเร็ง นอกจากทุกข์เพราะความทรมานจากโรคที่เจ็บป่วยแล้ว ความทุกข์อีกอย่างที่พวกเขาต้องแบกรับอย่างสาหัส คือ เรื่องค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่น้อยๆเลย ทุกครั้งที่ต้องมารับยาเคมีบำบัดหรือการมาพบหมอตามนัดจึงเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับพวกเขา
“นอกจากนี้ยังมีค่าอาหาร ที่พัก พาหนะ และค่าใช้จ่ายจิปาถะ บางคนถึงขนาดต้องอาศัยนอนวัดในระหว่างเข้าคอร์ส รับยา เราเห็นสภาพผู้ป่วยอนาถาหลายคนก็รู้สึกสงสารและอยากช่วยเหลือให้พวกเขามีสภาพดีขึ้นเท่าที่จะทำได้”
และนี่คือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้คุณอ้อยต่อสู้เพื่อความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ ถึงแม้ว่าร่างกายของเธอเองจะไม่แข็งแรงนักก็ตาม
เมื่อหน้าที่ คือการช่วยเหลือ
มูลนิธิบ้านปันรักเพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นสถานพักฟื้นสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งจาก 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร กระบี่ นครศรีธรรมราช พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง สตูล สงขลา สุราษฎร์ธานี ตรัง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เพื่อมารับการรักษา ณ โรงพยาบาลมะเร็ง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เมื่อความคิดในการสร้างสถานพักฟื้นสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งชัดเจนขึ้น หลายฝ่ายจึงร่วมแรงร่วมใจช่วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 11 โรงพยาบาลมะเร็ง สำนักงานสาธารณสุข เทศบาลตำบลขุนทะเล เป็นต้น จนกลายเป็นคณะกรรมการที่มีจำนวนสมาชิกกว่า 30 คน
คุณอ้อยเล่าให้ฟังถึงบทบาทหลักของมูลนิธิว่า ตั้งใจจะให้เป็นสถานที่พักพิงแก่ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเดินทางมารับเคมีบำบัดที่โรงพยาบาลมะเร็ง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีระยะทางห่างจากมูลนิธิฯ 6 กิโลเมตร
ทางมูลนิธิฯจึงได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชื่อวัดศานติ- ไมตรี โดยได้มอบหอฉันหลังเก่าให้เป็นพื้นที่ในการใช้ปรับปรุงเป็นอาคารพักฟื้น
“ตอนนี้เราได้เปิดรับผู้ป่วยให้มาพักรักษาตัวแล้วตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 โดยทางคณะกรรมการมูลนิธิฯวางแผนตั้งแต่แรกแล้วว่า มูลนิธิฯจะต้องพึ่งตัวเองได้ในอนาคต เพราะฉะนั้นเมื่อเปิดรับผู้ป่วยให้เข้ามาพักฟื้น จึงมีข้อกำหนดว่าต้องเก็บค่าใช้อาคารสถานที่คนละ 50 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เราคิดว่าผู้ป่วยสามารถจ่ายไหว”
สิ่งสำคัญที่ทางมูลนิธิฯตั้งใจมอบให้แก่ผู้ป่วยมิใช่เพียงสถานที่พักฟื้นระหว่างการรักษาเท่านั้น แต่ต้องการคืนคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยด้วย คุณอ้อยและคณะกรรมการจึงจัดกิจกรรมบำบัดโดยรับสมัครคนในชุมชนมาเป็นอาสาสมัครช่วยดูแลผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจด้วยหลักมนุษยธรรม
โดยยึดหลักและสร้างแบบอย่างในการดูแลผู้ป่วยเชิงบูรณาการ 4 มิติ ซึ่งประกอบด้วยกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณเพื่อให้ช่วงชีวิตสุดท้ายของผู้ป่วยมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเตรียมพร้อมเพื่อการจากไปอย่างสงบ
ซึ่งหากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ ก็จะนำไปเผยแพร่และขยายการปฏิบัติไปยังสถานดูแลพักฟื้นผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วประเทศไทย
หนึ่งผู้ให้ หลายผู้รับ
ขณะนี้มูลนิธิฯจำเป็นต้องระดมเงินจากทั้งภาครัฐและองค์กรต่างๆ เพื่อที่จะนำมาก่อสร้างอาคารเรือนพักสำหรับผู้ป่วยซึ่งเป็นอาคารนอนรวมสำหรับเพศหญิงหนึ่งหลัง เพศชายหนึ่งหลัง และค่าใช้จ่ายในการจัดรถบริการรับ-ส่งถึงโรงพยาบาล
อีกทั้งทางโรงพยาบาลมะเร็งยังมีกิจกรรมเพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้มีโอกาสทำประโยชน์เพื่อเพื่อนผู้ป่วยคนอื่น คือ การเย็บเต้า เพื่อให้ผู้ป่วยที่ผ่าตัดเต้านมแล้ว นำไปใส่ทดแทนเพิ่มความมั่นใจยิ่งขึ้นเมื่อใส่เสื้อผ้า
โดยมีการรวมกลุ่มและอาสาสมัครมาให้ความรู้และสอนเย็บทุกวันจันทร์ ซึ่งวันหนึ่งๆสามารถเย็บได้ประมาณ 10 – 20 ชิ้น
คุณเองก็สามารถเป็นหนึ่งในผู้มอบโอกาสการมีคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้ได้ในหลายช่องทางด้วยกันไม่ว่าจะเป็นการส่งต่อเรื่องราวอันน่าประทับใจให้คนในสังคมได้รับรู้
หรือด้วยวิธีง่ายๆโดยการร่วมบริจาคเงินกับทางนิตยสารชีวจิต เพื่อสมทบทุนช่วยเหลือโครงการต่างๆของมูลนิธิบ้านปันรักเพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง
เพราะทุกคนต่างเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกใบเดียวกันกับเรา
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เมนูต้านมะเร็ง สูตรแอนดรูว์ ไวล์
วิตามินธรรมชาติ ป้องกันมะเร็ง ทุกอวัยวะ
11 CHECKLIST สาเหตุ มะเร็งรังไข่ คุณผู้หญิง
เหตุผลต้องรู้ ก่อนตรวจหายีน มะเร็งเต้านม