ซึมเศร้า โรคซึมเศร้า

Before & After เคล็ดลับบอกลาโรค ซึมเศร้า

2. ยานั้นสำคัญไฉน

โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากภาวะจิตใจที่ผิดปกติเพียงอย่างเดียว แต่มีอาการป่วยทางกายด้วย ยาจึงเข้ามามีบทบาทในการรักษาพอสมควร

โรคซึมเศร้าแบบอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder Type II)      

คือ โรคซึมเศร้าที่ไม่ได้มีแค่อารมณ์ซึมเศร้าอย่างเดียว ในทางกลับกันเวลาไม่เศร้าจะร่าเริง เบิกบาน คึกคักเกินเหตุ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าคนเป็นโรคซึมเศร้าเพราะมีความอ่อนแอแฝงอยู่ในตัวตน แต่ความจริงแล้วคนที่ดูเข้มแข็ง คึกคัก ร่าเริง ไฮเปอร์ ก็มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้สูงโดยเฉพาะแบบอารมณ์สองขั้ว

BEFORE

การรักษาด้วยยาในระยะแรกๆ ส่งผลต่อชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก เธอมีอาการท้องผูกรุนแรงและผิวแห้ง จนมีความรู้สึกต่อยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าในแง่ร้าย ดังที่เธอเล่าในหนังสือ เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง ว่า

“…ยายังทำให้มีอาการท้องผูกอย่างหนัก จากเป็นคนถ่ายยากอยู่แล้ว แต่ไม่เคยท้องผูกนานเกินสามวัน กลายเป็นท้องผูกอยู่นานเกือบสองสัปดาห์ทรมานเพราะท้องอืด แล้วยังมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ฉันรำคาญอาการท้องผูกมาก…

“…ฉันเข้าใจเหมือนอีกหลายคนที่ชอบพูดว่า หมอให้ยากล่อมประสาททำให้เบลอ ง่วง จะได้ไม่ต้องคิดอะไรมาก มันก็ไม่เศร้าและไม่คิดอะไรมากจริงๆ (เพราะเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการนอน) แล้วก็ยังเชื่อเหมือนอีกหลายคนว่า ยาทำลายสมอง ทำให้ความจำแย่ลง คิดอะไรไม่ออก เป็นสาเหตุให้ทำงานใช้ความคิดสร้างสรรค์แบบเคยทำไม่ได้…”

เมื่อไม่เข้าใจโรคและการรักษาดีพอ ประกอบกับนิสัยที่ไม่ชอบกินยาอยู่แล้ว แถมมีอาการท้องผูกอย่างหนักร่วมด้วย คุณหญิงจึงต่อต้านการกินยาและตัดสินใจหยุดยาเอง และการหยุดยาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้เอง ทำให้เธอต้องพบกับผลเสียที่ร้ายแรง

“หลังจากหยุดยาฉันร้องไห้หนักมากกว่าเดิม ร้องแบบเหมือนจะขาดใจตาย มีอาการเกรี้ยวกราด หงุดหงิดง่าย โมโหแรงมากถึงขั้นร้องกรี๊ดๆ ทะเลาะกับแม่ถี่ขึ้น จากเดิมที่ทะเลาะกันบ่อยอยู่แล้ว บางครั้งก็ทำลายข้าวของ จำได้ว่า เคยนั่งเอาค้อนทุบเครื่องบันทึกเทป ทุบๆๆ จนมันแตกเป็นเสี่ยงและรู้สึกสะใจ”

การหยุดยาส่งผลให้เธอแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวซึ่งกลายเป็นช่องทางให้อารมณ์คุกรุ่นที่เก็บไว้ระเบิดออกมา ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เหมือนกับการสะดุดล้มครั้งใหญ่ที่เกือบทำให้เธอท้อแท้ ล้มเลิกการรักษา

โรคซึมเศร้า
ยาช่วยปรับสมดุลอารมณ์ ความรู้สึก ให้สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ

AFTER

เมื่อคุณหญิงปรับทัศนคติเรื่องยาแล้วหันมาเรียนรู้เกี่ยวกับโรคและกระบวนการรักษามากขึ้นจึงค้นพบว่า ยามีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เธอเล่าไว้ในหนังสือ เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง ว่า

“…หมออธิบายไว้ว่า ยารักษาอาการซึมเศร้าไม่ได้ทำลายสมอง กลับช่วยปกป้องสมองด้วยซ้ำ…และอธิบายเพิ่มว่า โรคซึมเศร้ายังเกี่ยวข้องกับสารเคมีหรือสารสื่อประสาทในสมอง (Neurotransmitter) อีก 3 ชนิด ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของคนเราทั้งนั้น นั่นคือเซโรโทนิน (Serotonin) โดพามีน (Dopamine) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) และหากเกิดความแปรปรวนไม่สมดุลจะส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกต่างๆ”

จากการพูดคุยกับคุณหมอนี้เอง ทำให้คุณหญิงเข้าใจว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากสารสื่อประสาททำงานผิดปกติ และยารักษาโรคซึมเศร้า สามารถปรับระดับสารสื่อประสาท ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดให้กลับสู่สมดุลได้ จึงช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ

ในการบำบัดรอบสอง เธอจึงเปิดเผยถึงอาการข้างเคียงต่างๆ กับหมออย่างตรงไปตรงมาแล้วให้คุณหมอปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมแทนการลดยาหรือหยุดยาเอง

“สุดท้ายหมอเลยเปลี่ยนยาอีกตัวหนึ่งให้แทนซึ่งค่อนข้างถูกโรคกับฉัน อาการข้างเคียงอย่างปากคอแห้ง ผิวแห้ง หรือท้องผูกหายไป นอนหลับดีขึ้น”

เมื่อไม่ต่อต้านการรักษา แล้วหันมาพูดคุยกับคุณหมอสม่ำเสมอ และไม่มองข้ามอาการข้างเคียงต่างๆ จึงช่วยให้เธอเข้าใจขั้นตอนการรักษาและช่วยให้การรักษาด้วยยาครั้งนี้ประสบความสำเร็จ

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 4 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.