4. ลูกที่ลืมไม่ได้
จากที่กล่าวไปก่อนหน้าว่าคุณหญิงต้องสูญเสียลูกไปเพราะครรภ์ไม่สมบูรณ์ เป็นเหตุให้แพทย์ต้องยุติการตั้งครรภ์ “ลูก” จึงกลายเป็นเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจ ทำให้เธอจมจ่อมอยู่กับความเศร้า ต่อให้วันเวลาผ่านไปนานเท่าใดเธอก็ยังไม่สามารถตัดความคิดถึงและความรู้สึกผิดที่มีต่อลูกออกไปได้เสียที
BEFORE
“…ภาพที่ยังติดตามาถึงตอนนี้คือหน้าของลูก เราขอดูตอนลูกออกมาเมื่อคืน อยากเห็นหน้า จำหน้าไว้ตลอดชีวิต คิดถึงลูกมาก อยากให้เขายังอยู่ในท้องเรา อยากเห็นเขาออกมา ได้เลี้ยง ได้อุ้ม ได้กอด…
“…เรามึนๆ เกาะลูกกรงสักพักรู้สึกมีอะไรปรู๊ดออกมาเลย กดเรียกพยาบาล เขามาดูและบอกว่าเด็กออกมาแล้ว เป็นผู้ชาย หนักเกือบสามร้อยกรัม เราขอดูลูก อยากจำหน้าไว้ตลอดไป รู้ว่าจะไม่มีวันลืมหน้าลูกไปตลอดชีวิต ลูกตัวยาวประมาณห้าหกนิ้ว แขนขาเป็นปกติทุกอย่างจนเรารู้สึกผิดมาก เพราะเขาไม่ได้ผิดปกติอะไรเลย แต่เราต่างหากเป็นคนผิด…”
คือเนื้อหาในบันทึกประจำวันของคุณหญิง ช่วงที่กำลังจะเสียลูกไป ซึ่งเต็มไปด้วยความรู้สึกผิดและคำกล่าวโทษตัวเอง เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้เธอยังคงเพรียกถึงสมบัติแท้จริงเพียงอย่างเดียวที่มีในชีวิตนั่นก็คือ “ลูก” ปมฝังใจเรื่องลูกจึงทำให้คุณหญิงออกจะขยาดการเริ่มต้นซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เธอต้องข้ามผ่านไปให้ได้
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า
ศาสตราจารย์ นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล แพทย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้กล่าวถึงการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าไว้ดังนี้
- อาการของโรคไม่ได้หายทันทีที่กินยา โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาประมาณ 1 - 2สัปดาห์ขึ้นไปอาการจึงจะดีขึ้น
- ยาทุกชนิดทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ จึงควรใช้ยาตามขนาดและกินตามเวลาที่แพทย์สั่งเท่านั้น
- ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่กล้ากินยาซึ่งมีปริมาณมากตามที่แพทย์สั่งหรือกินบ้างหยุดบ้าง เพราะกลัวว่าจะติดยา หรือกลัวว่ายาจะไปสะสมอยู่ในร่างกาย แต่ความจริงแล้วยารักษาโรคซึมเศร้าไม่ทำให้เกิดการติดยา ถ้าขาดยาแล้วมีอาการไม่สบายนั่นเป็นเพราะยังไม่หาย การกินๆ หยุดๆ หรือกินไม่ครบขนาด ทำให้การรักษาไม่ได้ผลและทำได้ยากมากขึ้น

AFTER
การบ้านชิ้นแรกที่คุณหญิงได้รับเมื่อเข้ารับการบำบัดรอบสองคือ “จดหมายลาลูก” โดยใช้วิธีเขียนเพื่อระบายสิ่งที่ติดค้างในใจของเธอต่อลูกออกมา
“ฉันรู้สึกใจหายกับการบอกลาคนที่อยู่ในใจฉันมาตลอดห้าปี” นี่คือความรู้สึกของคุณหญิงก่อนจะรวบรวมความกล้าจรดปลายปากกาถึงลูกที่ล่วงลับ
“…ต้องขอบคุณลูกมากที่ทำให้แม่ได้เผชิญกับช่วงเวลาที่อ่อนแอที่สุดและช่วงเวลาแห่งความสูญเสีย เพื่อให้แม่มีโอกาสเป็นคนเข้มแข็งมากขึ้น…
“สุดท้ายอยากบอกว่า ขอให้ลูกไปอยู่ในภพภูมิที่ดี เราไม่จำเป็นต้องกลับมาเจอ หรือไม่อยากขอให้ต้องกลับมาเป็นลูกแม่อีกเพื่อให้โอกาสกับแม่ แต่ขอให้ลูกได้เจอกับสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม”
ถ้อยคำอำลาในจดหมายบ่งบอกว่าคุณหญิงสามารถยอมรับความเจ็บปวดที่ผ่านมาในอดีตได้แล้ว ไม่มีจิตที่อยากเหนี่ยวรั้งลูกที่จากไปแล้วเอาไว้กับตัวอีกต่อไป จิตใจของเธอเต็มไปด้วยความปรารถนาดีและปล่อยวางความผิดพลาด
เมื่อเธอยอมปล่อยมือจากอดีต ขาทั้งสองจึงสามารถก้าวมายืนในปัจจุบันและเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้าได้อย่างเข้มแข็งขึ้น