เพื่อให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีอาการดีขึ้น เรามี คำแนะนำสำหรับผู้ดูแลและผู้ป่วย ดังต่อไปนี้
Dos
- หลีกเลี่ยงคำพูดที่ทำให้ผู้ป่วยยิ่งรู้สึกหดหู่ เช่นน่าสงสารจัง ทำตัวน่าเบื่อจัง เป็นโรคซึมเศร้าจริงหรือคิดไปเองหรือเปล่า เป็นต้น
- ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่ชอบและรู้สึกดี เช่น เดินเล่นที่สวนสาธารณะ ไปเที่ยวทะเล ชวนเพื่อนมาที่บ้าน
- หากผู้ป่วยพูดถึงเรื่องอยากตาย อย่าบอกว่า อย่าคิดมาก ให้เลิกคิด หรืออย่าสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นแต่ควรให้ผู้ป่วยพูดระบายออกมาจะช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้น
- ในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้ามาก หากยังทำอะไรไม่ได้ ควรให้พักผ่อนดีกว่าบังคับให้ทำอะไรโดยที่ยังไม่พร้อม
Don’ts
- คิดว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีใครสนใจ รู้สึกสิ้นหวังต้องรับความกดดันเพียงผู้เดียว
- เก็บตัวอยู่คนเดียว เอาแต่หมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ
- ตั้งเป้าหมายในการทำงานและการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป หากกำลังมีอาการป่วย ควรพักผ่อนร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากไปจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง
- ไม่กินอาหาร อดนอน และไม่ออกกำลังกาย
- นาฬิกาชีวิตที่ผิดพลาด
สิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์ต้องประสบพบเจอกันทุกคนคือ ความผิดปกติในการนอนหลับ

BEFORE
คุณหญิงบอกว่า เธอเป็นคนไม่มีวินัย ชอบทำอะไรตามใจตนเองมาโดยตลอด มีเวลานอนที่ไม่ปกติ นึกอยากนอนตอนไหนก็นอน ไม่อยากนอนก็ไม่นอน โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงผลเสียต่อสุขภาพ
เธอบอกว่า ตอนอายุยังน้อย การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพออาจไม่ส่งผลให้เห็นชัดเจนนัก แต่พออายุมากขึ้น บวกกับผลกระทบจากโรคและการรักษา ส่งผลให้สมองทำงานช้าลงความจำแย่มาก เกิดความเครียดง่ายขึ้นกว่าเดิม และน้ำหนักขึ้น
เมื่อเธอได้ปรึกษาคุณหมอและศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการนอนหลับ จึงพบคำอธิบายว่า ตามธรรมชาติร่างกายจะหลั่งสารเมลาโทนินที่ทำงานได้ดีในความมืดมิดยามกลางคืน ซึ่งช่วยให้หลับสนิทและตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นในตอนเช้า แต่หากเรายังทำงานอยู่ภายใต้แสงสว่างในยามค่ำคืน ร่างกายจะหลั่งสารเมลาโทนินผิดปกติ ส่งผลให้โรคซึมเศร้ากำเริบมากขึ้น
คุณหญิงจึงต้องสร้างวินัยในการนอนให้เป็นปกติ ซึ่งมีส่วนช่วยให้อาการโรคซึมเศร้าดีขึ้น
เมื่อคุณหญิงค่อยๆ ปรับนาฬิกาชีวิตหรือจังหวะชีวภาพ (Biological Rhythms) ด้วยการปรับพฤติกรรมสุขภาพของตัวเองให้มีวินัยมากขึ้น กิจวัตรประจำวันของเธอก็เปลี่ยนไป คือ เข้านอนตั้งแต่สี่ทุ่มและตื่นตีห้าเป็นประจำ เพื่อให้ทันเวลาเข้างานซึ่งเธอบอกว่ายังไม่เคยไปทำงานสายเลยสักครั้ง
การเข้านอนเร็วและตื่นเช้าจนเป็นกิจวัตร ช่วยให้เธอรู้สึกสดชื่นเพราะได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ส่งผลให้สมองปลอดโปร่งทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว มีอารมณ์เบิกบาน สดใส นอกจากนี้ยังช่วยให้ผิวพรรณดูสวยสดใสขึ้นอีกด้วย
ทุกวันนี้คุณหญิงสามารถอยู่ร่วมกับโรคซึมเศร้าได้อย่างมีความสุข ทั้งยังเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก รวมทั้งการกระทำของตนเองและคนรอบข้างมากขึ้น ต้องขอบคุณการบำบัดและความเข้าใจโรคที่มีส่วนช่วยให้เธอได้ชีวิตปกติกลับคืนมา
และหวังว่า เรื่องพิเศษ ในปักษ์นี้จะเป็นแรงใจหนุนนำให้เพื่อนที่ร่วม (โรค) เผชิญหน้ากับอาการซึมเศร้าเอาชนะไปด้วยกัน
จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 392
บทความน่าสนใจอื่นๆ
ชนะเครียด หยุด โรคซึมเศร้า เราทำได้
อาหารต้านโรคซึมเศร้า ปรับอารมณ์ด้านลบสู่ด้านบวก