เครื่องดื่ม, น้ำอัดลม, น้ำผลไม้, เครื่องดืมข้างทาง

น้ำอัดลม หวานเปลี่ยนรูป น้ำสมุนไพร ชาดำ ชานม

น้ำอัดลม สู่น้ำชง-สมุนไพร หวานอันตรายเปลี่ยนรูป

น้ำอัดลม น้ำสมุนไพร เครื่องดื่มสุดฮิตของใครหลายๆคนแต่จะรู้กันหรือไม่ ว่าแฝงด้วยน้ำตาลมหาศาล กินเยอะ กินบ่อย อ้วน เป็นโรคเบาหวาน ได้โดยไม่รู้ตัว

ซึ่งจากสิ่งดังกล่าว นำมาสู่การเก็บภาษีความหวานมีส่วนช่วยให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีฉลาก อย่างน้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มเกลือแร่ ปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลลงก็จริง แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า พฤติกรรมการบริโภคหวานในกลุ่มคนไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว

สำรวจเครื่องดื่มริมทาง

หากเดินสำรวจตามศูนย์การค้า ละแวกสถานศึกษา ถนนย่านเศรษฐกิจ จะพบว่า ‘เครื่องดื่มริมทาง’ ที่มีความหวานไม่แพ้น้ำกระป๋องยังคงเป็นเมนูที่ได้รับความไม่นิยม ไม่ว่าจะเป็น น้ำอัดลม  ชานมไข่มุก ชาเย็น กาแฟเย็น โกโก้ รวมถึงน้ำสมุนไพร ซึ่งมีกระแสและแบรนด์สินค้าใหม่ๆ เปิดตัวให้เป็นที่นิยมอยู่เสมอ

ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเคยทำโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย ภายใต้แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และได้สำรวจพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มหวานจากผลการวิจัยบน ถนนราชวิถีรอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และถนนสีลม กล่าวว่า

“แม้จะเป็นเครื่องดื่มที่มีความหวานไม่ต่างอะไรจากน้ำอัดลม แต่เครื่องดื่มริมทางพวกเครื่องดื่มชง เช่น กาแฟเย็น ชาเย็น น้ำแดงโซดา ยังเป็นเครื่องดื่มซึ่งมีร้านหนาแน่นในย่านถนนเศรษฐกิจ โดยร้านเครื่องดื่มบริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือวิทยาเขตพญาไท และถนนสีลม ตามลำดับ ซึ่งมาจากความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความนิยมของบุคคล”

เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม 1 แก้ว ปริมาณ 250 มล. จากตัวอย่างร้านค้า 62 ร้านค้า โดยเก็บตัวอย่างเมนูยอดนิยม 1 ใน 5 อันดับ และเครื่องดื่มที่มาจากร้านที่ให้ความร่วมมือในการวิจัย รวม 270 ตัวอย่าง ผลการสำรวจพบว่าเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ

1.แดงโซดา ปริมาณน้ำตาล 15.5 ช้อนชา

2.โอวัลติน  ปริมาณน้ำตาล 13.3 ช้อนชา

3.ชามะนาว ปริมาณน้ำตาล 12.6 ช้อนชา

4.ชาดำเย็น ปริมาณน้ำตาล 12.5 ช้อนชา

5. นมเย็น ปริมาณน้ำตาล  12.3 ช้อนชา

ส่วนชาเย็น กาแฟเย็น ชาเขียวเย็น มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 11 ช้อนชา และโกโก้มีปริมาณน้ำตาล 10.8 ช้อนชา ซึ่งหมายความว่าหากบริโภคเครื่องดื่มหวาน 1 แก้ว (250 มล.) ก็มีปริมาณน้ำตาลที่เกินความต้องการที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน

เครื่องดื่ม, น้ำอัดลม, น้ำผลไม้, เครื่องดืมข้างทาง, เครื่องดื่มชง
เครื่องดื่มชงรสชาติต่างๆ ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำตาลสูง เกินความต้องการของร่างกาย

รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล แห่งสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า เครื่องดื่มริมทางมีกลุ่มคนวัยทำงาน กลุ่มนักศึกษาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ด้วยราคาที่ไม่แพงมาก หาซื้อขาย มีกลยุทธ์ล่อใจ

พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มหวานบนถนนสายเศรษฐกิจยังสะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนวัยทำงานและนักศึกษา ซึ่งถือเป็นแรงงานที่สำคัญของประเทศเพราะเป็นกลุ่มผลิตภาพหลักในการสร้างรายได้ของประเทศ จึงเป็นตัวชี้วัดถึงสัญญาณอันตรายโดยไม่รู้ตัว เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารอาหารน้อย มีแต่น้ำตาลและไขมันในปริมาณสูง ซึ่งเป็นรากของกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) ทั้งเบาหวาน ความดัน ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว

“อย่างน้ำผลไม้ หรือน้ำสมุนไพรที่ขายตามข้างทาง ถึงจะมีวิตามินมีสารต้านอนุมูลอิสระจากผักและผลไม้แต่ในรูปแบบที่ร้านค้าวางขายนั้นอยู่ในระดับที่เจือจางมาก คือแทบจะไม่ได้รับคุณค่าดังกล่าวนั้นเลย แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือปริมาณน้ำตาล ดังนั้นระหว่างที่เครื่องดื่มซึ่งมีฉลากในร้านสะดวกซื้อกำลังปรับตัวตามกฎหมายการเรียกเก็บภาษี ผู้บริโภคก็ต้องฉลาดเลือกที่จะรับประทานเครื่องดื่มริมทางด้วย และแม้ทุกวันนี้แต่ละร้านจะปรับสูตรหรือสร้างทางเลือกให้มีสูตรเครื่องดื่มหวานน้อย แต่ผู้บริโภคก็ต้องพิจารณาด้วยตัวเองอยู่ดีว่าเท่านั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะตัดสินใจซื้อบริโภค” อาจารย์ประไพศรี แนะนำ

อ่านเพิ่มเติม : Diabetes Quiz : แฟนพันธุ์แท้โรคเบาหวาน รู้ก่อนป้องกันก่อน

เลิกหวานสร้างแต่เด็ก

อย่างที่รู้กันว่า สาเหตุของโรคไม่ติดต่อ คือการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีพลังงานสูง น้ำตาลสูง ไขมันสูง บริโภคผักผลไม้น้อยและวิถีการดำเนินชีวิตซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ ล้วนเป็น สาเหตุของปัญหาโรคอ้วน

จากการสำรวจ พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับ 4-7 เท่าตัว โดยข้อมูลที่คำนวณจากรายงานการบริโภคน้ำตาลของคนไทย ปี 2557 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยถึง 28 ช้อนชาต่อคนต่อวัน ซึ่งแหล่งที่มาของการบริโภคน้ำตาลล้นความต้องการของร่างกายส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มนานาชนิดนั่นเอง

เครื่องดื่ม, น้ำอัดลม, น้ำผลไม้, เครื่องดืมข้างทาง, น้ำหวาน
ดื่มเครื่องดื่มหวานจัดเป็นประจำ เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน

รศ.ดร.ประไพศรี กล่าวว่า พฤติกรรมการบริโภคของเด็กสามารถสร้างได้ โดยเริ่มตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่การบริโภคนมผงต่อจากนมแม่ การรับประทานอาหาร ขนม ตั้งแต่อยู่ที่บ้าน หากเกิดความเคยชินกับรสหวาน คือต้องหวานถึงจะเรียกว่าอร่อย ก็จะทำให้ติดรสหวานและเพิ่มปริมาณการบริโภคน้ำตาลมากขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรตระหนักถึงปัญหาสุขภาพที่จะเกิดกับลูกหลานในวันข้างหน้า โดยการเลือกนมหรืออาหารต่างๆ ให้ดี และปรุงอาหารโดยที่ไม่ต้องเติมน้ำตาล

ขณะที่ ศ.พญ.ชุติมา ยังมองว่า นอกจากการทำลายความเคยชินในการบริโภคแล้ว ต้องสอนให้เด็กรู้ว่าเบื้องหลังความหวานนั้นมีโทษอย่างไร เพราะการห้ามหรือขู่เด็กไม่ให้กินหวานอาจทำได้เพียงครั้งคราว แต่จะสร้างนิสัยที่ถาวรต้องอาศัยเหตุผลและความเข้าใจ โดยเฉพาะการสร้างนิสัยและความรู้เท่าทันให้เด็กได้เลือกหรือตัดสินใจเอง เพื่อไม่หลงใหลไปกับกระแสและการเชิญชวนของโฆษณาอาหารที่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพ

นอกจากนี้สำหรับการสังเกตสัญญาณเตือนของกลุ่มเด็กที่มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคอ้วนมีปื้นดำที่คอเป็นสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด สะสมตั้งแต่วัยเด็ก และหากเด็กยังคงความอ้วนต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในอนาคต

ทั้ง น้ำอัดลม น้ำสมุนไพร หากบริโภคและเสพติดความหวานมากเกินไป จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่จึงอันตรายไม่ต่างกัน

 อ่านเพิ่มเติม : เรื่องราวน้ำตาล

 ชัวร์หรือมั่ว : น้ำตาลจากผลไม้ คือน้ำตาลที่ปลอดภัย

ชัยบุรี โรงเรียนปลอดหวาน ลดน้ำตาลอาหาร เครื่องดื่ม

SUPER HERB : ลดระดับน้ำตาลในเลือด

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.