โรคภูมิแพ้

โรคแพ้อากาศ คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร

โรคแพ้อากาศ คืออะไร

เป็นไหมคะ พออากาศเปลี่ยนแปลง หรือมีอะไรผิดปกติไปจากเดิม มักมีอาการคันจมูก ไอ จาม มีน้ำมูก วันนี้เรานำข้อมูลเกี่ยวกับ โรคแพ้อากาศ จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาฝากค่ะ

ว่าด้วยโรคแพ้อากาศ

ชื่อที่ถูกต้องของโรคนี้คือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้” เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติทั่วโลก อุบัติการณ์ของโรคนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันพบว่าโดยเฉลี่ยผู้ใหญ่ร้อยละ 20 และเด็กร้อยละประมาณ 40 เป็นโรคนี้  ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการเกิดขึ้นเวลาที่อากาศเปลี่ยนแปลงหรือมีอาการชัดเจนเฉพาะบางฤดู จึงทำให้ได้ชื่อว่าโรคแพ้อากาศ

อาการที่พบบ่อย ได้แก่

1. คันในจมูก บางรายอาจคันตา คันเพดานปาก คันในคอ หรือคันในหูด้วย
2. จามติด ๆ กันหลาย ๆ ครั้ง
3. มีน้ำมูกใส ๆ ไหลมาก
4. คัดแน่นจมูก มักเป็นสลับข้างกัน
5. อาการอื่น ๆ เช่น หูอื้อ ปวดมึนศีรษะ จมูกไม่ได้กลิ่น มีน้ำมูกไหลลงคอ หรือมีเสมหะติดในคอ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ หงุดหงิด การเรียนไม่ดี อาจพบได้ในผู้ป่วยบางราย

สาเหตุของโรค

1.  เหตุนำ  เกิดจากความผิดปกติของระบบสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งเชื้อว่าเป็นกรรมพันธุ์ ดังนั้นผู้ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีโรคภูมิแพ้อยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคหอบหืด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคตาอักเสบจากภูมิแพ้ ผื่นผิวหนังหรือลมพิษบางชนิด ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคในกลุ่มนี้ได้มากกว่าคนอื่น ๆ
2.  เหตุโดยตรง  คือสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่รอบ ๆ ตัวเรานั่นเอง สารก่อภูมิแพ้ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น ทางการหายใจ ทางการกินและทางการสัมผัส เนื่องจากจมูกเป็นอวัยวะที่เกี่ยวกับการหายใจ ดังนั้นสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุสำคัญจึงเป็นสารก่อภูมิแพ้ ที่อยู่ในอากาศที่เราหายใจอยู่ตลอดเวลา

จากการศึกษาพบว่าสารก่อภูมิแพ้ที่มีผู้แพ้บ่อยในประเทศไทยคือ ฝุ่นในบ้าน ตัวไรในฝุ่นบ้าน นุ่น ขนและรังแคของสัตว์เลี้ยง ละอองเกสรของหญ้าและวัชพืชต่าง ๆ เศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ และสิ่งขับถ่ายของแมลงที่อยู่ในบ้าน เช่น แมลงสาบ ยุง แมลงวัน มดแลเชื้อราในอากาศ

ผู้ป่วยบางรายอาจแพ้สารบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีพ เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ ทอผ้า โรงสี โรงเลื่อย ถุงมือยาง ฯลฯ บางรายอาจแพ้อาหารที่กินเข้าไป ซึ่งมักสังเกตเองได้ง่าย และเมื่อสังเกตได้แล้วว่าแพ้อาหารชนิดใดก็ต้องงดเสีย

3.  เหตุเสริม ได้แก่สาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สารก่อภูมิแพ้ แต่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเกิดขึ้นได้ หรือถ้ามีอาการอยู่แล้วก็จะเป็นมากขึ้นได้แก่
3.1  สารที่ระคายเคืองต่อเยื่อบุในจมูกโดยตรง เช่น ควันไฟ ควันท่อไอเสียรถ ควันบุหรี่ กลิ่นฉุย ๆ แม้แต่กลิ่นน้ำหอม สเปรย์และฝุ่นละอองต่าง ๆ รวมทั้งมลพิษในอากาศซึ่งพบมากในเมืองใหญ่
3.2 การเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น อากาศร้อนจัด เย็นจัด ฝนตก พัดลมเป่า แอร์เป่า เป็นต้น
3.3 ร่างกายอ่อนเพลีย เนื่องจากอดนอน ทำงานหนัก ขาดการออกกำลังกาย ฯลฯ
3.4 อารมณ์ตึงเครียด วิตกกังวล ไม่สบายใจ ไม่สมหวังต่างๆ
3.5 โรคติดเชื้อ เช่น โรคไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ เจ็บคอ ฟันผุหรือไข้หวัด จะทำให้สุขภาพอ่อนแอลง เป็นเหตุให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีอาการมากขึ้นได้

ไซนัสอักเสบ ไซนัส โรคไซนัสอักเสบ โรคภูมิแพ้ ภูมิแพ้ จมูก โรคที่เกี่ยวกับจมูก โรคแพ้อากาศ

การหลีกเลี่ยง

ฝุ่นในบ้านและตัวไรในฝุ่น เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นภายในบ้านหรือในที่ทำงานเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ฝุ่นละอองภายในบ้าน ประกอบด้วยเส้นใยที่สลายมากจากเสื้อผ้า พรมปูพื้น เครื่องที่นอน ฯลฯ     ขี้ไคลและรังแคของคน และสัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่ในบ้าน เศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ และสิ่งขับถ่ายของแมลงชนิด   ต่าง ๆ โดยเฉพาะแมลงสาบ แบคทีเรีย เชื้อรา รวมทั้งตัวไรที่อาศัยอยู่ในฝุ่นละออง (house-dust mite) ทั้งที่ตายแล้วและยังมีชีวิตอยู่ โดยได้มีการพิสูจน์แน่นอนแล้วว่าตัวไรเหล่านี้ คือ ส่วนประกอบสำคัญในฝุ่นที่ทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ ตัวไรในฝุ่น มีขนาดเล็กกว่าหัวเข็มหมุด มองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น ต้องใช้กล้องขยายส่องดู ตัวไรในฝุ่นมีชีวิตอยู่ได้โดยการกินขี้ไคลและรังแคของคน และชอบอาศัยอยู่ตามที่นอน หมอน และที่ที่ค่อนข้างมืดและชื้น ถ้าถูกแสงแดดร้อนจัดเป็นเวลานานพอสมควรมันจะตาย

ดังนั้นผู้ที่แพ้ฝุ่นละอองภายในบ้าน จึงต้องกำจัดฝุ่นละอองและพยายามลดจำนวนตัวไรที่อาศัยอยู่ให้เหลือน้อยที่สุด

วิธีกำจัดฝุ่นละออง และตัวไรที่อาศัยอยู่ในฝุ่นละอองภายในบ้าน

ในห้องนอน คนทั่วไปใช้เวลาส่วนใหญ่ คือประมาณ 6-8 ชั่วโมงต่อวันอยู่ในห้องนอน ดังนั้นห้องนอนจึงเป็นห้องแรกที่ควรได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างดี ถัดไปคือห้องนั่งเล่น และห้องทำงานซึ่งใช้แนวทางดูแลเช่นเดียวกัน คือ

1. จัดให้มีเครื่องตกแต่งห้องน้อยชิ้นที่สุด

2. พื้นห้อง ถ้าเป็นไม้ ควรขัดด้วยน้ำมัน เพราะเมื่อฝุ่นตกลงบนน้ำมันแล้ว จะเกาะติดอยู่ ไม่ฟุ้งกระจายต่อไป

3. ไม่ควรปูพรมทั้งชนิดที่เป็นขนสัตว์และใยสังเคราะห์ เพราะจะเป็นที่สะสมฝุ่นละออง และทำความสะอาดยาก ควรใช้พื้นไม้ หรือกระเบื้องยางแทน

4. หนังสือ และเสื้อผ้าควรเก็บในตู้ที่ปิดมิดชิดเพื่อป้องกันฝุ่น

5. เก้าอี้ ไม่ควรใช้ชนิดที่เป็นเบาะหุ้มผ้า เพราะจะเป็นที่กักเก็บฝุ่น เวลานั่งฝุ่นจะฟุ้งกระจายออกมา ควรใช้ชนิดที่เป็นพลาสติกหรือหนังเทียม

6. ไม่ควรจัดห้องให้มีซอกเล็ก ซอกน้อย ซึ่งจะเป็นที่รวมของฝุ่น และยากแก่การทำความสะอาด

7. ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม มุ้งและผ้าคลุมเตียง ควรใช้ชนิดที่เป็นผ้าที่ซักรีดง่าย  สำหรับผู้ที่แพ้ตัวไรฝุ่น อาจใช้ผ้าพลาสติกหรือผ้าชนิดพิเศษหุ้มหมอน และที่นอน ก่อนปูผ้าหรือใส่ปลอกหมอนตามปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้สารก่อภูมิแพ้จากตัวไรฝุ่นฟุ้งกระจายออกมา

8. ของเล่นสำหรับเด็กไม่ควรเป็นชนิดที่ยัดภายในด้วยนุ่น หรือเศษผ้า ของเล่นที่เป็นขนปุกปุย หรือทำด้วยขนสัตว์จริงไม่ควรเล่น และเมื่อไม่เล่นแล้วควรเก็บในตู้ที่ปิดมิดชิด เพื่อป้องกันฝุ่น ถ้าจะจัดทำห้องใหม่ ควรย้ายเครื่องตกแต่งและของในตู้ออกจากห้องทั้งหมด ทำความสะอาดฝาห้อง พื้นห้อง เพดานและตู้โดยทั่วถึง เตียงนอนควรได้รับการขัดถูกอย่างดี แล้วจึงนำเอาเครื่องตกแต่งที่ทำความสะอาดแล้วกลับเข้าไปไว้ในห้องตามเดิม

ข้อมูลจาก ภาควิชา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

วัคซีนภูมึแพ้ ทางเลือกของผู้ป่วยภูมิแพ้ทางเดินหายใจ

กินอยู่ครบสูตร ด้วยผักผลไม้ ต้านโรคเอสแอลอี โรคภูมิแพ้

ภูมิแพ้ขึ้นตา หรือภูมิแพ้ตา โรคที่ไม่ควรละเลย

ติดตามชีวจิตได้ที่

https://www.instagram.com/cheewajitmedia/

https://www.facebook.com/CheewajitMagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.