ติดหวาน

คนไทย ” ติดหวาน ” สถิติเบาหวานพุ่ง ผู้เชี่ยวชาญแนะลดด่วน

เมื่อคนไทย ติดหวาน แนวโน้มเบาหวานก็อยู่แค่เอื้อม

สถานการณ์ปัจจุบันที่บ้านเรา ทุกวันนี้หันไปทางไหนก็พบแต่ผลิตภัณฑ์ขนมและของหวาน ภาพอาหารที่พบในโซเชียลมีเดียก็ล้วนแต่กระตุ้นให้อยากกินทั้งขนมและเครื่องดื่มหวานๆ ตลอดเวลา คนไทยจึง ติดหวาน ได้ไม่ยากเย็น

อาหารแนว Low Carb High Fat, วิธีเลี่ยงเบาหวาน, เบาหวาน, โรคเบาหวาน, ผู้ป่วยเบาหวาน, แก้เบาหวาน

สถิติที่พุ่งสูง

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชุติมา ศิริกุลชยานนท์ ผู้ดูแลโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย ภายใต้แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ อธิบายถึงปัญหาคนไทยติดรสหวานไว้ดังนี้

“เกณฑ์มาตรฐานของปริมาณน้ำตาลที่ควรบริโภคต่อวันสำหรับคนทั่วไปซึ่งต้องการพลังงานระหว่าง 1,600-2,400 กิโลแคลอรี คือบริโภคน้ำตาลได้ไม่เกินวันละ 4-8 ช้อนชา  แต่ในความเป็นจริงจากรายงานการบริโภคน้ำตาลของคนไทย เมื่อปีพ.ศ. 2557 กลับพบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเกิน 4-7 เท่าตัว หรือบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยสูงถึง 28 ช้อนชาต่อคนต่อวัน

การติดรสหวานของคนไทยส่งผลให้สถิติโรคเบาหวานเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานวิจัยเพื่อพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และเครื่อข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ครั้งที่ 5 ระหว่าง พ.ศ. 2557-2558 สุ่มตรวจสุขภาพประชากรไทย 21 จังหวัด พบว่า มีคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานถึง 4 ล้านคน และกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานสูงถึง 7.7 ล้านคน

โดยกลุ่มเสี่ยงนี้ หากไม่ปรับพฤติกรรม ยังติดรสหวานเช่นเดิม ในปีถัดๆ ไป จะมีโอกาสกลายเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานสูงถึงร้อยละ 5-10

อาหารที่มีเอจีอีสูง, กินหวาน, ติดหวาน, เบาหวาน, มะเร็ง, อาหารเอจีอีสูง

ปรับพฤติกรรมลดหวานกันเถอะ

เคอร์รี เนวิล นักกำหนดอาหารวิชาชีพและโฆษกประจำสมาคมเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงแนวทางปรับพฤติกรรมลดการบริโภคน้ำตาลเกินเกณฑ์ และช่วยบรรเทาการติดหวานไว้ดังนี้

1.จับคู่อาหาร

เช่น จากที่เคยกินช็อกโกแลตหมดแท่ง เปลี่ยนเป็นนำช็อกโกแลตมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ โรยคู่กับอัลมอนด์บนกล้วยหอม เสิร์ฟเป็นอาหารว่าง และควรใช้ดาร์กช็อกโกแลตที่มีน้ำตาลต่ำแทน

2.จัดระเบียบตู้เย็น

จากเดิมที่เคยเป็นืั้เก็บอาหารหวาน เช่น เค้กช็อกโกแลต และขนมหวานอื่นๆ ให้แทนที่ด้วยผลไม้ที่มีน้ำตาลต่ำ เช่น ฝรั่ง ชมพู่ แก้วมังกร แอ๊ปเปิ้ล สตรอว์เบอร์รี่ และถั่วชนิดต่างๆ

3.อย่าปล่อยให้หิวจัด

ระยะห่างในแต่ละมื้อไม่ควรนานเกิน 5 ชั่วโมง และควรจัดเวลากินอาหารให้ตรงเวลาเดิมอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เช่น มื้อเช้า 7.00น. มื้อเที่ยง 12.00น. และมื้อเย็น 17.00น.

4.ทำงานอดิเรกสร้างสรรค์

หลายคนกินอาหารรสหวานในช่วงที่มีอารมณ์เชิงลบ ดังนั้นควรหันไปผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีอื่นๆ แทน เช่น เล่นกีฬา ทำงานศิลปะ ทำสวน ใช้เวลากับครอบครัว

5.กินให้ช้าลง

โดยใน 1 คำ ต้องเคี้ยวอย่างน้อย 15-20 ครั้ง เป็นการฝึกสติขณะกินซึ่งจะช่วยลดการอยากอาหารโดยทั่วไป รวมถึงอาหารที่มีรสหวาน

6.ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

การอยากกินของหวานมักมาพร้อมกับการจัดการปัญหาทางอารมณ์อื่นๆ หากพบว่ามีปัญหาเรื่องการจัดการทางอารมณ์ต่อเนื่องเกิน 1-3 เดือน ควรปรึกษาจิตแพทย์แทนที่จะไประบายความเครียดด้วยการกินอาหารหวาน ซึ่งเป็นทางออกที่ผิด

ข้อมูลจาก คอลัมน์ เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 489


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

กินแป้งมาก ทำให้ ปวดเมื่อย ได้ รู้ยัง

4 ผักไทย กับสารพัดวิตามินต้านโรค หันมากินผักไทยกันเถอะ

อดอาหาร งดแป้ง นับแคล สิ่งเหล่านี้ช่วยผอมได้จริงหรือ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.