ระบบรับสารพิษ

3 ระบบรับสารพิษ ที่คุณต้องรู้ ลดเสี่ยงมะเร็ง!

3 ระบบรับสารพิษ ที่คุณต้องรู้ !

3 ระบบรับสารพิษ ที่คุณต้องรู้ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ นายแพทย์ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายว่า “ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่สิ่งแวดล้อมรอบตัว เต็มไปด้วยสารพิษที่ก่อให้เกิดโรคมากมาย พบว่ามีการใช้สารเคมีกว่า 80,000 ชนิด แต่มีการศึกษาถึงพิษภัยของมันอย่างครบถ้วนน้อยกว่าร้อยละ 2 โดยสารเคมีเหล่านี้ สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้หลายช่องทาง ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบผิวหนัง และระบบทางเดินอาหาร ผ่านการกิน”

เรามาเช็กกันค่ะว่า สารเคมีทั้งหลายถูกดูดซึมเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างไร และส่งผลเสียต่อสุขภาพจนอาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งได้อย่างไร

3 ระบบรับสารพิษ ที่คุณต้องรู้

1. ระบบทางเดินหายใจ

คุณหมอปัตพงษ์ อธิบายว่า ผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน สามารถปล่อยสารพิษออกมาในอากาศ เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ สีทาบ้าน น้ำหอม สเปรย์ดับกลิ่น ยาฆ่าแมลง เครื่องปรับอากาศที่ไม่ได้ล้างมาเป็นเวลานาน

ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะปล่อยสาร ก๊าซหรือของเหลวที่เป็นไอระเหย เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ มีเทน คลอรีน แอมโมเนีย ซัลเฟอร์ แอสเบสตอส ฟอสจีน ไซยาไนด์ ซิลิกา เบริลเลียม อะซีทัลดีไฮด์ ฟอร์มาลดีไฮด์ อะซีโตน เบนซีน ไอจากโลหะหนัก

หนังสือ สวยใสไร้พิษ โดย ศาสตราจารย์ทาเคอุจิ คุเมจิ และ คุณอินาซึ โนริฮิสะ สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ อธิบายว่า
“เมื่อเราสูดเอาสารพิษชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ก๊าซ ไอของของเหลว ละอองจากสารเคมี ผงฝุ่น และเส้นใย ร่างกายจะดูดซึมสารพิษเหล่านี้ ผ่านเยื่อบุเมือกบริเวณคอและปอด หลังจากนั้น
สารพิษจะถูกลำเลียงผ่านเส้นเลือดเข้าสู่หัวใจและร่างกาย ทั้งนี้การดูดซึมของเยื่อบุเมือกมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผนังปอดมีพื้นที่ของผิวค่อนข้างกว้างถึงประมาณ 75 – 100 ตารางเมตร”

ส่วนคุณหมอปัตพงษ์ อธิบายเสริมว่า “โดยเฉลี่ยเราหายใจนาทีละ 20 ครั้ง หรือวันละ 28,800 ครั้ง สารพิษปนเปื้อนในอากาศจึงมีโอกาสเข้าสู่ร่างกายได้ในปริมาณมาก ซึ่งจะ
ส่งผลให้เกิดอันตรายทั้งแบบเฉียบพลันและแบบสะสมในระยะยาว”

เช็กอาการหลังได้รับสารพิษในอากาศ

คุณหมอปัตพงษ์ อธิบายว่า การได้รับสารเคมี ผ่านระบบทางเดินหายใจก่อให้เกิดผลเสียดังนี้
พิษเฉียบพลัน จะมีอาการแพ้ ระคายเคือง หายใจติดขัด หอบ ภาวะเลือดเป็นกรด หยุดหายใจ หรือรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต
พิษสะสมในระยะยาว ทำให้ถุงลมปอดโป่งพอง เกิดพังผืด เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เยื่อหุ้มปอดอักเสบ รวมไปถึงมะเร็งปอด หนังสือสวยใสไร้พิษ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สารเคมีที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ไดออกซินและแอสเบสตอส ซึ่งเป็นมลพิษในอาคารที่เกิดจากการใช้วัสดุตกแต่งที่ปนเปื้อนสารเคมีมีพิษ เมื่อสูดหายใจเข้าไปมาก ๆ ไม่เพียงทำลายประสาท แต่ยังเป็นสารก่อมะเร็ง ทั้งยังเป็นอันตรายต่ออวัยวะและระบบสืบพันธุ์ของเด็กอีกด้วย

นอกจากนี้ การสูดดมสารไดออกซินยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง เนื่องจากสารชนิดนี้เป็นเหมือนฮอร์โมนในสิ่งแวดล้อม (สารที่สร้างความระคายเคืองต่อต่อมไร้ท่อ เป็นสารเคมีที่กระจายอยู่ในบรรยากาศ เมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตแล้วจะมีกลไกการทำงานเช่นเดียวกับฮอร์โมน ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนที่มีอยู่เดิมในร่างกาย) จึงเป็นสารเคมีที่อันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

ส่วนแอสเบสตอส เมื่อสูดดมเข้าไปในร่างกายแล้วจะดูดซึมเข้าสู่ “เยื่อบุช่องท้อง” ซึ่งทำหน้าที่ห่อหุ้มอวัยวะภายในช่องอก เช่น ปอดและหัวใจ และอวัยวะภายในช่องท้อง เช่น กระเพาะอาหารและตับ เอาไว้ จนอาจก่อให้เกิดเนื้องอกขึ้นได้

2. ระบบผิวหนัง

หนังสือ สวยใสไร้พิษ อธิบายข้อมูลว่า ผิวหนังประกอบด้วยชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ และชั้น(เส้นประสาท) ใต้ผิวหนัง รวมเป็น 3 ชั้น ซึ่งจะมีการสร้างผิวหนังชั้นใหม่ขึ้นมาทดแทนชั้นที่ตายไปแล้วอยู่เสมอ

โดยหนังกำพร้า เป็นแหล่งรวมของเคราติน และเซราไมด์ ซึ่งเป็นสารประเภทกรดไขมัน มีน้ำประกอบอยู่เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น รวมกับเซลล์แห้ง อีกประมาณร้อยละ 10 – 15 โดยซ้อนตัวกันอยู่เป็นชั้น ๆ หน้าที่พื้นฐานของชั้นหนังกำพร้า คือ เป็นเกราะป้องกันสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ส่วนชั้นหนังแท้เกิดจากเส้นใยคอลลาเจนที่สานกันเป็นโครงคล้ายตาข่าย ความตึงของผิวหนังขึ้นอยู่กับโครงคล้ายตาข่าย

ขณะที่ใต้ผิวหนังลงไปจะเป็นไขมัน มีคุณสมบัติไม่ซับน้ำ ซึ่งทำให้ผิวหนังมีคุณสมบัติยืดหยุ่น ไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนังนี้เอง ที่เป็นแหล่งรวมของสารเคมีอันตราย ที่หลุดลอดผ่าน
ชั้นปราการผิวหนังเข้ามาสู่ร่างกาย

คุณหมอปัตพงษ์ เล่าว่า ผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันหลายชนิด มีส่วนผสมของสารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ เช่น พาราเบนหรือสารกันเสีย กรดโซเดียมเบนโซอิก แอมโมเนียมลอริลซัลเฟต โพรพิลีนไกลคอล สีแดงหมายเลข 106 ไดออกเซน พทาเลต ไทอาโซลิโนน ทูลีน ไตรโคลซาน ฯลฯ

ซึ่งอาจเป็นส่วนผสมในโลชั่น ครีมกันแดด แชมพู สบู่ สีย้อมผม ยาดับกล่นิ ตัว น้ำหอม สารกำจัดแมลง และศัตรูพืช ฯลฯ

นายแพทย์รัศม์ฐวัฒน์ ดีสมโชค ตจแพทย์ หน่วยโรคผิวหนัง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการดูดซึมสารเคมีผ่านการสัมผัสว่า “ผิวหนังสามารถดูดซึมสารพิษจากการสัมผัสผ่านโครงสร้างผิวหนังชั้นต่าง ๆ เช่น รูขุมขน ต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ เมื่อดูดซึมเข้ามาแล้วจะผ่านเข้าไปยังระบบหมุนเวียนโลหิต โดยสารพิษจะซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากน้อยเพียงไหน ขึ้นอยู่กับปริมาณสารเคมี ความไวหรือความรุนแรงในการทำปฏิกิริยาความสามารถในการละลายน้ำ สภาพและลักษณะความหนาบางของผิว และระยะเวลาที่สัมผัส”

การดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัส อาจเกิดขึ้นผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น รูขุมขน ต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ ผิวหนังชั้นนอก และสามารถเข้าไปสู่ระบบหมุนเวียนโลหิตได้

เช็กอาการหลังได้รับสารพิษทางผิวหนัง

คุณหมอปัตพงษ์ อธิบายว่า การได้รับสารเคมี ผ่านการดูดซึมทางผิวหนัง ก่อให้เกิดผลเสียดังนี้

พิษแบบเฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการแพ้ ระคายเคืองผิวหนังอักเสบ เป็นตุ่มน้ำพอง เกิดโรค
สะเก็ดเงิน สารเคมีบางชนิดมีอันตรายมาก เพียงสัมผัสทางผิวหนังก็ทำให้
เสียชีวิตได้ เช่น ยาฆ่าหญ้าพาราควอต

พิษสะสมในระยะยาว ทำให้ผิวหนังอักเสบเรื่้อรัง เกิดโรคผิวหนังแข็ง โรคมะเร็งผิวหนัง
หากดูดซึมทางผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ

3. ระบบทางเดินอาหาร

คุณหมอปัตพงษ์ อธิบายว่า “คนเรากินอาหารโดยเฉลี่ยวันละ 3 มื้อ ปีละ 1,905 มื้อ
มีทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ยา ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เราได้รับสารพิษ”

หนังสือ สวยใสไร้พิษ อธิบายเพิ่มเติมว่า การกินอาหารหรือยาเป็นขั้นตอนแรกของระบบการย่อยอาหาร จากนั้นตับจะผลิตเอนไซม์ มาใช้ในกระบวนการย่อยอาหาร เพื่อย่อยและสลายสารเคมีที่เป็นพิษไปกว่าร้อยละ 90 เลยทีเดียว แต่ก็ยังมีสารเคมีมากมายหลายชนิดที่ยังหลงเหลือ

ซึ่งจะถูกดูดซึมผ่านทางช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหารลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ เข้าไปยังระบบหมุนเวียนโลหิตก่อให้เกิดอันตรายได้

โดยปัจจัยที่ทำให้ระบบทางเดินอาหารดูดซึมสารเคมี ได้แก่ สมบัติกายภาพของสารเคมี สมบัติในการละลายของสารเคมี รวมไปถึงลักษณะการดูดซึมของเนื้อเยื่อในส่วนต่าง ๆ และ
ระยะเวลาที่สารเคมีสัมผัสกับเนื้อเยื่อเหล่านั้น

สารเคมีบางชนิด จะมีคุณสมบัติเพิ่มการดูดซึม ทำให้เกิดความเป็นพิษได้รวดเร็ว บางชนิดเป็นของแข็งหรือละลายได้ยาก จึงดูดซึมได้น้อย ส่วนสารเคมีที่ละลายได้ดีในน้ำมันหรือไขมันมักจะถูกดูดซึมและตกค้าง อยู่ในระบบทางเดินอาหารได้ดีกว่าสารเคมีที่ละลายได้ดีในน้ำ

เช็กอาการหลังได้รับสารพิษผ่านการกิน

คุณหมอปัตพงษ์ อธิบายว่า การได้รับสารเคมีที่ดูดซึม ผ่านระบบทางเดินอาหารมีอันตรายดังนี้

พิษแบบเฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดท้อง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หมดสติ สารเคมีบางชนิดมีอันตรายมาก กินเข้าไปเพียง 1 ช้อน ก็ทำให้เสียชีวิตได้ เช่น ยาฆ่าหญ้าพาราควอต ยาฆ่าแมลงเมโทมิล

พิษสะสมในระยะยาว ทำให้เกิดโรคกับทุกอวัยวะตั้งแต่หัวจรดเท้า เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ โรคต่อมไร้ท่อผิดปกติ สมองเสื่อม กล้ามเนื้ออ่อนแรง พาร์กินสัน โรคจิตประสาท ซึมเศร้า ภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง หอบหืด เป็นหมัน พิการแต่กำเนิด
สติปัญญาบกพร่อง และก่อให้เกิดมะเร็งในหลายอวัยวะ

เรื่อง พรรณิภา จำปาดง, วาสนา พลายเล็ก ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 455 – นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 19 : 16 กันยายน 2560

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

6 WAY ลดรับสารพิษ ลดเสี่ยงมะเร็ง

มะเร็ง ตัวร้ายที่เกิดจาก “อะคริลาไมด์” สารพิษที่แค่กินของร้อน ก็ได้รับไม่รู้ตัว 

เลือกทาน อาหารลดสารพิษ เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ (IMMUNITY BOOSTING FOOD)

ชามะละกอ ล้างลำไส้ กำจัดสารพิษ ได้จริงหรือไม่

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.