แก้ปัญหาขับถ่าย

แก้ปัญหาขับถ่าย จากภาวะชื้น ด้วยอาหาร + การนวด

การขับถ่ายเป็นสิ่งที่เราต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติ อย่างเช่นกรณีนี้ที่กำลังแนะนำการ แก้ปัญหาขับถ่าย จากภาวะชื้น ด้วยอาหาร + การนวด

เคยหรือไม่ หลังจากกดชักโครกแล้วอุจจาระยังเหนียวติดชักโครกอยู่เลย อย่าเพิ่งโทษชักโครกว่าล้างไม่สะอาดนะคะ บางทีอาจจะเกิดจากสุขภาพของคุณเองที่ผิดปกติก็ได้ หรือใครที่ถ่ายทีไรก็เหลวไม่เป็นก้อน นั่นบ่งบอกว่า ร่างกายของคุณมีความเย็น ความชื้นสะสมอยู่มากเกินไปนั่นเอง เราต้องหาทาง แก้ปัญหาขับถ่าย ให้ตรงจุดค่ะ

หากความเย็น ความชื้นในร่างกายมีมากเกินไปจะเป็นอย่างไร

เมื่อความชื้นสะสมในร่างกายมากเกินไปจะส่งผลต่อม้าม กระเพาะอาหาร และหัวใจให้ทำงานได้ไม่ดีทำให้ร่างกายอ่อนแอ ไม่มีชีวิตชีวา ถ่ายเหนียว ถ่ายไม่เป็นก้อน แขนขาหนักๆ เฉื่อยชา ไม่อยากขยับ รู้สึกขี้เกียจกว่าปกติ ท้องอืด แน่นท้อง ระบบการย่อยไม่ค่อยดี ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากความเย็นเข้าไปกระทบ อาจมีอาการกลัวหนาวร่วมด้วย

ป้องกันไม่ให้ร่างกายเย็นชื้นได้อย่างไร

อุจจาระเหนียวเกิดจากความเย็นชื้นสะสมอยู่ที่อวัยวะส่วนล่าง (เซี่ยเจียว) ซึ่งเราสามารถป้องกันและขจัดความเย็นออกจากร่างกายด้วยวิธีการบำรุงไตหยาง และขับความชื้นด้วยวิธีการบำรุงม้าม

อาหารบำรุงไตหยาง เช่น

  • ถั่วดำ เกาลัด
  • งาดำ ช่วยบำรุงไต ทำให้ผมดำเงางาม ชะลอวัยคงความหนุ่มสาว อีกทั้งมีข้อมูลวิจัยออกมาว่า ยังช่วยต้านมะเร็งด้วย วิธีกิน งาดำคั่วโรยข้าวสวยร้อน ๆ น้ำแกง หรือกับข้าว / บัวลอยงาดำ / น้ำขิงงาดำ / น้ำเต้าหู้งาดำ
  • ไก่ดำ บำรุงไต เพิ่มพลังร่างกาย อุดมด้วยโปรตีนช่วยฟื้นฟูร่างกายจากความอ่อนล้า
    วิธีกิน นำมาปรุงเป็นซุปไก่ดำ
  • วอลนัท มีรูปร่างคล้ายสมอง บำรุงไต และยังช่วยบำรุงสมอง
    วิธีกิน กินเป็นถั่วกินเล่น

อาหารบำรุงม้าม

  • ลูกเดือย มีคุณประโยชน์ช่วยขับความชื้น บำรุงร่างกาย ลดอาการปวดเมื่อย วิธีกิน น้ำลูกเดือย / น้ำขิงลูกเดือย / น้ำเต้าหู้ลูกเดือย / เต้าฮวยลูกเดือย / เต้าทึงร้อน / หุงลูกเดือยกินแทนข้าวสวย
  • ดื่มน้ำอุ่นเป็นประจำ

TIP
อาหารต้องห้าม น้ำเย็น น้ำแข็ง ไอศกรีม ของหมักดอง สุก ๆ ดิบ ๆ

กดจุดบำรุงไต จุดเซิ่นซู (Shenshu)

ตำแหน่ง ใต้ปุ่มหนามกระดูกสันหลังส่วนเอว (Spinous Process) ข้อที่ 2 (ใต้ L2) ห่างออกจากแนวกลางกระดูกสันหลังมาทางด้านข้างซ้ายขวา 1.5 ชุ่น
วิธีหาจุดด้วยตนเองแบบง่าย มือสองข้างเท้าสะเอว จุดอยู่ที่นิ้วโป้งในระนาบเดียวกับสะดือ ห่างออกจากแนวกลางกระดูกสันหลัง 1.5 ชุ่น (1.5 ชุ่น เท่ากับครึ่งหนึ่งของความกว้าง 4 นิ้วมือ ได้แก่ นิ้วชี้ กลาง นาง ก้อย) หรือกล้ามเนื้อที่นูนที่สุด เมื่อกดลงไปจะรู้สึกตึง ๆ หน่วง ๆ
สรรพคุณ ช่วยบำรุงไต อุ่นร่างกาย ลดอาการวัยทอง กลัวหนาว เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อ่อนเพลีย
วิธีกดจุด ใช้นิ้วโป้งกดคลึงที่จุด 3 – 5 วินาที นับเป็น 1 เซต ทำซ้ำ 30 เซต วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น หรือใช้สันมือถูลง ครั้งละ 3 – 5 นาที วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น

กดจุดบำรุงม้าม จุดยินหลิงเฉวียน (Yin Ling Quan)

ตำแหน่ง แอ่งบุ๋มชิดขอบหลังปุ่มกระดูกด้านในของกระดูกหน้าแข้ง (Medial Epicondyle of the Tibia)
สรรพคุณ แก้ท้องอืด แน่นท้อง ท้องเสีย บวมน้ำ ปัสสาวะบ่อยกะปริดกะปรอย ปัสสาวะไม่สุด
วิธีกดจุด กดคลึงเบา ๆ ประมาณ 3 – 5 นาที นับเป็น 1 เซต ทำซ้ำ 3 เซต วันละ 3 ครั้ง เช้า – กลางวัน – เย็น ก่อนหรือหลังมื้ออาหารก็ได้

เรื่อง แพทย์จีนนภษร แสงศิวะฤทธิ์ ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 485 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 21 16 ธันวาคม 2561

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ท้องผูกนานๆ มะเร็งอาจถามหา
แก้ท้องผูก ลำไส้ดี ด้วยวิธีแพทย์แผนจีน
4 วิธี แก้ท้องผูก ขับถ่ายดี ง่าย สไตล์แพทย์แผนจีน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.