ไซนัสอักเสบ

โรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ ทำอย่างไรให้ใช้ชีวิตปกติ!

โรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ ทำอย่างไรให้ใช้ชีวิตปกติ!  

สถานการณ์ของโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนทั้งทั่วโลกและในประเทศไทย จากการสำรวจในประเทศไทยพบว่ามีอุบัติการณ์ เพิ่มขึ้น  3-4 ภายในระยะเวลา  40 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้ประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้โดยเฉลี่ยดังนี้  คือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 23-30 โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคหืดร้อยละ 10-15 โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 15 และโรคแพ้อาหารร้อยละ 5 โดยอุบัติการณ์ในเด็กจะสูงกว่าในผู้ใหญ่คือพบเด็กที่มีภาวะโพรงจมูกอักเสบ

จากภูมิแพ้ร้อยละ 40 โรคภูมิแพ้นั้นถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่กว่าคนปกติ เช่น การเกิดอาการคัดจมูกในเวลากลางคืนทำให้นอนอ้าปากหายใจ จึงตื่นมาด้วยอาการปากแห้ง รู้สึกเหมือนนอนหลับไม่สนิท สมาธิสั้น ถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในเด็กก็อาจทำให้มีปัญหาการหลับในเวลาเรียน ความคิดความจำสั้น เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่ และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้เช่น ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก หูชั้นกลางอักเสบ นอนกรน

โรคทางภูมิแพ้เป็นโรคทางภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากร่างกายได้รับสารที่แพ้เข้าไปและเกิดปฏิกิริยาของสารแพ้กับภูมิคุ้มกัน อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะหนึ่งหรือหลายอวัยวะร่วมกันได้ อาการของผู้ป่วยมีได้ทั้งทาง ตา หู คอ จมูก ทางเดินหายใจส่วนล่าง ทางเดินอาหารหรือทางผิวหนัง สารแพ้มีอยู่มากมายหลายชนิด คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ก็อาจแพ้สารคนละชนิดกับอีกคนได้ อีกทั้งสารก่อภูมิแพ้มีความแตกต่างมากน้อยในแต่ละที่ด้วย

โรคภูมิแพ้ติดต่อหรือไม่   

แม้ว่าโรคภูมิแพ้จะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ก็สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ พบว่า ถ้าพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นประมาณ 60% แต่ถ้าพ่อหรือแม่ เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นประมาณ 30% เป็นหวัดบ่อยๆ เป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่คำว่า “โรคหวัด” เป็นคำรวม ๆ มักหมายถึงอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล, จาม, คันหรือแสบจมูก, เจ็บคอ เป็นต้น

โรคภูมิแพ้ทางจมูกก็มีอาการเหล่านี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นในกรณีที่เป็นหวัดบ่อยๆ ก็อาจมีสาเหตุมาจากโรคภูมิแพ้ได้ แพทย์สามารถวินิจฉัยได้โดยร่วมกับการตรวจและทดสอบภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้อันตรายหรือไม่  

โรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญ อึดอัด ส่วนอันตรายที่อาจเกิดได้ ได้แก่ การแพ้โดยตรง เช่น แพ้อาหาร แพ้แมลงกัดต่อยบางชนิด เป็นต้น อาการที่เกิดค่อนข้างมาก และเป็นในระยะเวลาสั้นๆ เช่น บวม, ผื่นคัน, หอบ หรือ ช็อค เสียชีวิตได้

โรคภูมิแพ้ใช่ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือไม่   

โรคทั้งสองเป็นโรคทางภูมิคุ้มกันเหมือนกัน แต่กลไกการเกิดต่างกัน เพราะฉะนั้น โรคทั้งสองจึงไม่เกี่ยวข้องกันเลย

 โรคภูมิแพ้รักษาอย่างไรและหายขาดหรือไม่   

สิ่งที่สำคัญที่สุด ในการรักษาโรคภูมิแพ้ คือ การหลีกเลี่ยงสารที่แพ้ เพราะถ้าไม่พบสารที่แพ้ ก็จะไม่เกิดปฏิกิริยาทางภูมิแพ้ขึ้น เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่าแพ้อะไรและหลีกเลี่ยงอย่างไรจึงสำคัญมาก วิธีการรักษาอื่น ๆ ได้แก่ การกินยา, พ่นยา, ฉีดยา เนื่องจากในปฏิกิริยาภูมิแพ้ จะมีสารเคมีหลายชนิดเกิดขึ้นในร่างกาย ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ จะไปมีผลต่ออวัยวะต่าง ๆ จนเกิดอาการขึ้นมาได้ การใช้ยาจึงเป็นตัวแก้ไขของสารเคมีเหล่านี้ ที่สำคัญได้แก่ ยากลุ่ม Antihistamine, Steroid แต่เนื่องจากยากลุ่ม Steroid ชนิดกินหรือฉีดแม้ว่าจะทำให้อาการทางภูมิแพ้ลดลงอย่างมาก และรวดเร็ว แต่อันตรายก็สูงมากเช่นกัน

เพราะฉะนั้น การใช้ยาชนิดนี้ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์อย่างถูกต้อง การกระตุ้นภูมิแพ้ต่อสารภูมิแพ้ วิธีนี้เป็นการนำสารที่แพ้ (ผู้ป่วยต้องถูกทดสอบก่อนว่าแพ้อะไร) มากระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต่อสารนั้น ๆ ในระดับที่เหมาะสม แต่วิธีนี้ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมืออย่างมาก เพราะการรักษาต้องใช้เวลานาน และต่อเนื่องจึงจะได้ผลดี การรักษาภูมิไม่ว่าวิธีใด ก็ไม่สามารถทำให้หายขาดได้ เพียงแต่การรักษาจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นในระยะยาว และช่วยป้องกันโรคที่อาจเป็นผลข้างเคียงจากภูมิแพ้ได้

ตรวจให้แน่ใจ

การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ย่อมช่วยให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการแพ้ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเริ่มจากแพทย์ตรวจร่างกายและซักประวัติแบบละเอียด จากนั้นจะทำการตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น ทดสอบทางผิวหนัง เจาะเลือดหาสาเหตุ เพื่อให้สามารถยืนยันสาเหตุการแพ้ได้อย่างชัดเจน นำไปสู่การดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม

แม้ภูมิแพ้จะเป็นโรคเรื้อรัง แต่ถ้าหากรู้สาเหตุของการแพ้อย่างชัดเจนและพยายามหลีกเลี่ยง ตลอดจนหมั่นดูแลร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ย่อมช่วยบรรเทาอาการที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลประกอบจาก: โรงพยาบาลรามคำแหง

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เลี่ยงได้ไม่ป่วย 5 ของแปลกก่อภูมิแพ้

ฉีดวัคซีนรักษาภูมิแพ้ อีกหนึ่งวิธีช่วยผู้ป่วยทุเลาโรค

การรักษา โรคภูมิคุ้มกัน ภูมิแพ้ และ แพ้ภูมิ ในผู้สูงอายุ

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.