ความดันโลหิตสูงเพราะกินเค็ม กินผิด โรคถามหา
ความดันโลหิตสูงเพราะกินเค็ม หลายคนคงเคยได้ยินประโยคนี้ การกินอาหารเค็มๆจะทำให้ความดันโลหิตสูงได้ วันนี้เรามีประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจากนิสัยกินเค็มดังกล่าวมาเล่าให้ฟังค่ะ
เพราะชีวิตติดเค็ม ความดันจึงขึ้น
คุณอุษณีย์ โฆสิตสกุล เจ้าของธุรกิจส่วนตัว อายุ 61 ปี เล่าว่า
“อยู่ต่างจังหวัดมีเพื่อนเยอะ ใครมีงานต้องเชิญเราไปด้วย เพราะรู้จักกันทั้งนั้น จึงหนีไม่พ้นงานสังสรรค์ประเภทโต๊ะจีนที่มักเน้นอาหารมันๆ และมีรสเค็มจัด นอกจากนี้โดยส่วนตัวยังติดรสเค็มมาก เรียกว่ากินอาหารทุกจานทุกมื้อต้องมีพริกน้ำปลาตลอด”
เมื่อสามปีก่อน คุณอุษณีย์ตรวจพบว่า มีความดันโลหิตสูง คุณหมอย้ำว่าให้เธอลดเค็มเพื่อควบคุมความดันโลหิต
ความเห็นของแพทย์เรื่องการกินเค็ม และความดันโลหิต
“เมื่อร่างกายได้รับโซเดียมปริมาณมากจากอาหารเค็มๆ ติดต่อกันนาน จะส่งผลให้ปริมาณโซเดียมในเลือดมากขึ้นพร้อมๆกันนั้นก็มีผลให้แรงดันของเหลวสูงขึ้น
“ร่างกายจึงต้องการปรับสมดุลและทำให้เจือจางลงโดยการดันน้ำออกจากเซลล์ทำให้ปริมาณน้ำเลือดมีมากขึ้น ซึ่งเมื่อมีน้ำเลือดมากขึ้นก็ต้องใช้แรงดันเลือดเพิ่มมากขึ้น นี่เองเป็นเหตุทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
“ดังนั้นยิ่งกินเค็มมาก ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นด้วย”
คำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์
คุณอุษณีย์มีเคล็ดลับง่ายๆ ในการลดอาหารเค็มว่า
“การปรุงอาหารด้วยเกลือ พริกน้ำปลา หรือซอสปรุงรสต้องบันยะบันยังกันไว้บ้าง หากเป็นไปได้ ไม่ควรนำกระปุกเกลือหรือน้ำปลาตั้งไว้บนโต๊ะอาหาร
“ฝึกกินอาหารที่อ่อนเค็มและใช้เครื่องเทศแทน อาทิ ใบแมงลัก ใบโหระพา หรือพืชผักอื่นๆ ปรุงอาหาร หรือใช้น้ำส้ม น้ำมะนาว เปลี่ยนจากรสเค็ม ให้เป็นรสเปรี้ยวบ้างก็ได้ค่ะ”
คำแนะนำเพิ่มเติมจากชีวจิต
เครื่องปรุงรสหลากชนิดล้วนมีโซเดียมหรือที่หลายคน เรียกว่าเกลือเป็นส่วนประกอบ ในความเป็นจริง โซเดียมเป็นส่วนประกอบของเกลือและเราพิจารณาความเค็มที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจากปริมาณโซเดียมในอาหาร ไม่ใช่ปริมาณเกลือ
เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ข้อกำหนดปริมาณสารอาหารที่ แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป คือควรกินโซเดียมไม่เกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม
ฉะนั้น ทางที่ดีคือ พยายามลดการกินโซเดียมลง โดยสร้างนิสัยชิมก่อนปรุง ไม่กระหน่ำเติมเครื่องปรุงรสตามความเคยชิน ค่อยๆลดปริมาณเครื่องปรุงรสในอาหารลงทีละน้อย
ช่วงแรกอาจรู้สึกว่าอาหารมีรสอ่อน ไม่คุ้นลิ้น แต่ไม่นานลิ้น ของเราจะปรับตัวเข้ากับอาหารที่มีรสจืดลงและสัมผัสถึงรสอร่อย จากอาหารอย่างแท้จริง ทั้งเน้นกินอาหารปรุงสุก สดใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูปทุกชนิด
ติดตามข้อมูลสุขภาพน่าสนใจได้ที่ เฟซบุคแฟนเพจ : นิตยสารชีวจิต
ติดตาม instagram : cheewajitmedia
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เช็กสัญญาณเตือน อาจเป็นความดันสูงหากมีอาการเหล่านี้ (พร้อมวิธีรับมือ)
ความเครียด และนอนไม่หลับ ปัจจัยเสี่ยงความดันโลหิตสูง
แยกให้ออก ไขมันดีหรือร้าย ต้านโรคความดันโลหิตสูงได้หากกินเป็น
แจกสูตรต้านโรคความดันโลหิตสูง : สูตรชีวจิต