หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กับวัยทำงาน
แค่ได้ยินชื่อ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หลายคนคงขยาดและรู้สึกว่าเป็นอาการที่ค่อนข้างรุนแรง ส่งผลต่อการใช้ชีวิตเยอะมากๆ เราจะทำอย่างไร เมื่ออาการนี้เกิดขึ้นมาในวัยทำงาน ที่ต้องใช้ร่างกายหาเลี้ยงชีพ ลองมาอ่านประสบการณ์การเอาชนะภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทของหนุ่มคนหนึ่งกันค่ะ
อาการสะสมจากวิถีชีวิตประจำวัน
ด้วยอาชีพสถาปนิกที่ต้องเดินทางไปตรวจไซต์งานตามต่างจังหวัด ขับรถวันละไม่ต่ำกว่า 3 – 4 ชั่วโมงโดยไม่ได้พัก วิถีชีวิตของคนทำงานหนักเช่นเขาจึงทำให้โรคภัยถามหาโดยไม่รู้ตัว
คุณศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์ หรือคุณโอ๋ อายุ 39 ปี สถาปนิกหนุ่มและอาร์ตไดเร็คเตอร์งานชุก ซึ่งครั้งหนึ่งต้องเผชิญกับโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ทำเอาชีวิตวุ่นวายอยู่ระยะหนึ่งเลยทีเดียว
“ผมชอบทำนู่นทำนี่ครับ มีนิสัยชอบทำงาน ด้วยอาชีพสถาปนิกก็อยู่ไม่ติดที่ ไหนจะมีกิจกรรมต่างๆที่ต้องยกของและย้ายของ บางครั้งก็ยกผิดท่า ทำเอาหลังยอกหลายครั้ง แต่พอไปหาหมอ ได้ยามากิน อาการเหล่านี้ก็หายไป ผมจึงกลับมาใช้ชีวิตอย่างไม่ระมัดระวังเช่นเดิม พอเป็นบ่อยๆเข้า ยาที่หมอให้มาเริ่มไม่ช่วยแล้ว ตอนนั้นแหละที่เริ่มรู้สึกว่าร่างกายผิดปกติ”
ในช่วงนั้นคุณโอ๋ก็ทำงานในกองบรรณาธิการนิตยสาร และเป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มที่เกี่ยวกับงานสถาปนิกอยู่ด้วย โดยในหนึ่งวันจะนั่งทำงานในท่าเดิมๆติดต่อกันประมาณ 4 – 5 ชั่วโมงแล้วพักเที่ยงทีเดียว จากนั้นก็กลับมาทำงานต่อ
อีกทั้งพอกลับถึงบ้านก็ยังมานั่งประจำโต๊ะเพื่อทำงานฟรีแลนซ์ต่ออีก เรียกได้ว่าใช้ร่างกายและมันสมองแทบตลอดเวลา
“เมื่อกินยาแล้วไม่หาย อาการไม่ดีขึ้น แถมยังมีอาการชาลงมาที่ปลายขา จึงไปตรวจเช็กให้ละเอียด ก็พบว่าเป็นอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทขาข้างซ้าย แน่นอนว่าพฤติกรรมการใช้งานร่างกายอย่างไม่ถูกต้องน่าจะมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้กระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นต่างๆบริเวณหลังอ่อนแอ
“หลังเข้ารับการผ่าตัด ผมต้องนอนพักนิ่งๆไปพักใหญ่ๆ กินยาบำรุงปลายประสาท ทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อหลังและยืดเส้นประสาทเพื่อฟื้นฟูร่างกาย แต่นั่นแหละครับ พอมันเป็นไปแล้ว ต่อให้รักษาจนหาย เราก็จะรู้สึกว่าบริเวณหลังก็ยังเป็นจุดอ่อนของร่างกายไม่ได้กลับมาสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์”