มังคุด

มังคุด ราชินีผลไม้เพื่อสุขภาพ

มังคุด ผลไม้หน้าร้อน กินเป็นยาได

ภายใต้เปลือกหนาสีม่วงอมน้ำตาลของผลไม้นาม มังคุด มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งราชวงศ์อังกฤษ เคยรับสั่งว่า จะพระราชทานตำแหน่งอัศวินหรือเงิน 100 ปอนด์ แก่คนที่สามารถนำผลมังคุดสดมาถวายพระนางได้

จริงเท็จอย่างไรไม่มีผู้ใดทราบ แต่ที่แน่ ๆ มังคุด คือผลไม้ที่คนไทยอวยยศความอร่อยให้เป็น “ราชินีแห่งผลไม้ทั้งปวง”

ไม่นานมานี้มีข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ว่าปีนี้ผลผลิตมังคุดจากภาคตะวันออกมีมากกว่าปีที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ราคามังคุดตกต่ำได้ ซึ่งผลผลิตจะออกมามากที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

ฟังแล้วก็ปลุกพลังไทยช่วยไทยในใจขึ้นมา อยากชวนคุณไปอุดหนุนมังคุด ช่วยเหลือเกษตรกรกันสักหน่อย และเพื่อให้การกินมังคุดลึกซึ้งยิ่งขึ้น จึงขอนำแง่มุมต่าง ๆ ของมังคุดมาฝากกัน

มังคุด

เปลือก มังคุดเป็นยา

เปลือกมังคุดมีรสฝาดจากสารแทนนิน รสฝาดนี้เป็นสิ่งบ่งชี้ สรรพคุณยาตามศาสตร์แพทย์แผนไทยคือ ฤทธิ์สมานบาดแผลและรักษาอาการท้องผูก เปลือกมังคุดจึงเป็นหนึ่งในสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐานที่นำไปใช้รักษาอาการท้องร่วง ท้องเสี่ยเรื้อรัง หรือโรคบิด

วิธีการนำเปลือกมังคุดไปใช้

นำเปลือกมังคุดแห้งครึ่งผล มาย่างไฟให้เกรียมแล้วฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้ว หรือบดเป็นผงแล้วละลายน้ำชาวข้าวหรือน้ำต้มสุก ดื่มทุก 2 ชั่วโมง

นอกจากนี้แพทย์พื้นบ้านยังใช้เปลือกมังคุดแห้งฝนกับน้ำปูนใสเพื่อใช้ทารักษาแผลเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวานอีกด้วย
แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรทายาจากผิวมังคุดบริเวณใกล้ดวงตา หรือทาบนเนื้อเยื่ออ่อน ๆ เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ และควรล้างทำความสะอาดให้ดีก่อนนำไปตากทำยา เพื่อขจัดสารเคมีตกค้าง

แพทย์แผนจีนยังมีตำรับยาที่ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยนำเปลือกมังคุดแห้งบดผงมาผสมกับน้ำมันถั่วลิสงแล้วทาบริเวณที่เป็นแผลอีกด้วย

ปัจจุบันมีการนำเปลือกมังคุดมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางรักษาสิว ผลิตภัณฑ์ลดกลิ่นปาก ยาสมานแผลในช่องปาก และรักษาโรคปริทันต์ เพราะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านเชื้อแบคทีเรียบางชนิดซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาดังกล่าว

มังคุด

ประโยชน์ของ มังคุด บำรุงร่างกาย

มีผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า เนื้อในของมังคุดมีสารกลุ่มคาเทชินและฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แม้ปริมาณจะไม่มากเท่าในส่วนของเปลือก แต่ส่วนเนื้อย่อมมีรสชาติดีกว่า

ขณะที่มีข้อมูลจากหนังสือ สารานุกรมสมุนไพรไทย – จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย กล่าวถึงสรรพคุณของเนื้อมังคุด (ในตำราเขียนว่า เนื้อหุ้มเมล็ด) ว่ามีรสหวาน เปรี้ยว เป็นยาเย็น ใช้บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย และที่น่าสนใจคือ ใช้แก้ร้อนในจากการกินทุเรียนมากเกินไปอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การบริโภคมังคุดต้องระมัดระวังในกลุ่มของผู้ที่กำลังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

สรรพคุณของมังคุด

  1. มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื้น ลดความแห้งกร้าน
  2. ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้ และกระเพาะอาหาร
  3. ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง ทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
  4. เปลือกมังคุด มีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อที่ผิวหนัง แก้อาการคัน และรักษาผิวหนังบวมแดง
  5. เปลือกของต้นมังคุด นำมาบดทำยาสมุนไพร ช่วยสมานแผลให้หายเร็ว
  6. สารสกัดจากเปลือกมังคุด นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ช่วยต้านแบคทีเรีย ลดสิวบนใบหน้า
  7. ฟื้นฟูความสมดุลของกระเพาะอาหาร ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ ลดปัญหาท้องผูก
  8. หากถ่ายเป็นมูกเลือด ใช้เปลือกมังคุดต้มกับน้ำสะอาด ดื่มช่วยบรรเทาอาการได้
  9. ผลดิบและเปลือกของมังคุด สามารถช่วยสมานแผล แก้ท้องร่วง และแก้ท้องเสีย
  10. มังคุดช่วยลดกลิ่นปาก ส่วนเปลือกมังคุดช่วยลดกลิ่นตัว จึงนิยมนำมาสกัดทำเป็นสบู่มังคุด

หมายเหตุ : แม้มังคุดจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดอาการอักเสบต่างๆ รวมถึงมีส่วนช่วยยับยั้งมะเร็ง แต่ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยเพียงพอ ที่จะสรุปว่ามังคุดสามารถรักษาโรคมะเร็งในคนได้ผลจริง เพราะเป็นเพียงการทดลองในหลอดวิจัยเท่านั้น

อาหารจากมังคุด

“เคยกินน้ำปลาพริกใส่มังคุดไหม” ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ฉันรู้จักเอ่ยถามขณะที่กำลังสนทนากันถึงประเต็นเรื่องอาหารของภาคกลาง ซึ่งสะดุดใจฉันมาก จึงซักถามขอความรู้ท่านเพิ่มจนได้ความว่า น้ำปลาพริกมังคุดคือเครื่องจิ้มที่คนฝั่งธนบุรีสมัยก่อนนิยมกินกัน

โดยนำมังคุดสุกมาแกะเอาแต่เนื้อแล้วใส่ลงในถ้วยน้ำปลาพริก นัยว่าอาศัยรสเปรี้ยวอมหวานของผลมังคุดให้ช่วยเติมแต่งรสชาติน้ำปลาพริกให้พิเศษมากขึ้น แล้วจัดขึ้นสำรับพร้อมไข่เต่าทะเลต้ม ซึ่งต้องเป็นคนที่รู้วิธีเท่านั้นจึงจะต้มไข่เต่าทะเลให้สุกได้

กล่าวกันว่าสองสิ่งนี้เป็นของคู่ตุนาหงันที่กินเข้ากันได้เอร็ดอร่อย ทว่าปัจจุบันที่มีกฎหมายกำหนดให้เต่าทะเลเป็นสัตว์อนุรักษ์ จึงไม่สามารถนำไข่เต่ามาบริโภคได้ ถ้าอยากลองลิ้มคงต้องปรับเป็นไข่เป็ดต้มยางมะตูมมากินด้วยกันแทน

นอกจากนี้อีกเมนูจากมังคุดที่ฉันชื่นชอบคือ ยำมังคุด ที่ร้านจันทรโภชนา จังหวัดจันทบุรี เขานำเนื้อมังคุดแกะเปลือก
อย่างเบามือ ให้เนื้อในไม่ชอกช้ำและยังติดกันเป็นก้อนกลม มายำกับน้ำยำใส่พริกขี้หนูสดซอย พร้อมกุ้งสดลวก จัดใส่จาน โรยกุ้งแห้งป่น เคียงไข่ต้ม กินแล้วชื่นใจ อร่อยเหาะไปเลย

เลยจากภาคตะวันออก ลงใต้ไปนครศรีธรรมราช ฉันเคยกิน”มังคุดคัด” ที่นำมังคุดห่ามมาปอกเปลือกล้างน้ำปูนใสให้กรอบขึ้น แล้วเสียบไม้แช่เย็นเป็นของกินเล่น บอกเลยว่าอร่อยจับใจ ได้สัมผัสทั้งเนื้อกรอบๆ ของมังคุด รสเปรี้ยว อมหวาน และกลิ่นหอมเฉพาะตัว

เห็นไหมว่านอกจากรับประทานอย่างผลไม้สดแล้ว มังคุดยังนำมาปรุงเป็นอาหารเมนูอร่อยขึ้นสำรับได้อีกด้วย ทราบอย่างนี้แล้วก็อย่าลืมออกไปอุดหนุนมังคุดที่กำลังประสบปัญหาล้นตลาดบ้านเรากัน เพราะ”ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ”
และถ้าคนไทยไม่ช่วยคนไทย แล้วใครจะช่วยเรา จริงไหม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมสมุนไพรไทย – จีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย
บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เรื่อง”มังคุด…ราชินีผลไม้”
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article

เรื่อง สิทธิโชค ศรีโช ภาพ iStock

ชีวจิต 567

บทความน่าสนใจอื่น ๆ

กินอยู่ครบสูตร ด้วยผักผลไม้ ต้านโรคเอสแอลอี โรคภูมิแพ้

ฝรั่ง ผลไม้ฤดูฝน กินเถอะ ประโยชน์เยอะมาก

ผักผลไม้ห้ามกินกับยา ป้องกันยาตีกัน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.