หัวไชเท้า

แจกสูตร หัวไชเท้า แก้ไอ ขับเสมหะ

หัวไชเท้า สรรพคุณ แก้ไอ ลดน้ำตาลได้

หัวไชเท้า เป็นพืชหัวในตระกูล Cruciferae จัดอยู่ในวงศ์ผักกาด มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ภาสกิจ วัณณาวิบูล แพทย์แผนปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์การแพทย์แผนจีนอธิบายไว้ในหนังสือ หายป่วย สุขภาพดี ด้วยอาหารและสมุนไพรจีน ว่า หัวไชเท้ามีฤทธิ์เย็น มีรสเผ็ด หวาน สรรพคุณช่วยขับพิษ บรรเทาอาการท้องร่วง ท้องเสีย โรคบิด ขับปัสสาวะ กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว แก้ไอ ขับเสมหะ ลดน้ำตาลในเลือด บรรเทาอาการเลือดกำเดาไหล และแก้อาเจียน

ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า หัวไชเท้ามีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และมีวิตามินบี 1 บี 12 ไนอะซิน วิตามินชีสูง อีกทั้งในน้ำคั้นหัวไชเท้าสดยังมีเอนไซม์ช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน จึงมีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องผูกได้

นอกจากนั้นยังมีประโยชน์ด้านความสวย ความงาม คือ สามารถนำน้ำคั้นหัวไชเท้ามาทาเพื่อลบจุดด่างดำและฝ้าบนใบหน้าได้ ประเด็นดังกล่าวชีวจิต ได้ค้นคว้าและตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้ ดังที่ข้อมูลจากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ในน้ำคั้นสดของหัวไชเท้ามีสารสกัดเอทานอลและสารสกัดเอทิลอะซิเทต ช่วยยับยั้งเอนไซม์ไทโรชิเนส (Tyrosinase) ซึ่งทำหน้าที่สร้างเม็ดสีได้ ดังนั้นจึงช่วยลบเลือนจุดด่างดำได้ แต่ต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควร

ทั้งนี้นายแพทย์ภาสกิจได้แนะนำสูตรง่ายๆ สำหรับการนำหัวไชเท้ารักษาอาการต่างๆ คือ

สูตรน้ำคั้นหัวไชเท้า -ขิง

สรรพคุณบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ และเป็นยาระบายอ่อน ๆ

วัตถุดิบ
หัวไชเท้า 500 กรัม
ขิงสด 15 กรัม หรือประมาณ 1 ข้อนิ้วมือ

วิธีการ
1. สับวัตถุดิบทั้งหมดให้ละเอียด
2. เติมน้ำเปล่า 1 – 2 ช้อนโต๊ะ กรองเอาแต่น้ำ
3. ดื่มวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร หรือจิบขณะที่มีอาการ

สูตรชาหัวไชเท้า – น้ำผึ้ง

สรรพคุณแก้อาการไอเรื้อรังเนื่องจากโรคหลอดลมอักเสบ

วัตถุดิบ
หัวไชเท้า 250 กรัม
น้ำเปล่า

วิธีการ
1. สับละเอียดหัวไชเท้าให้ละเอียด
2. เติมน้ำเปล่า 1 ช้อนโต๊ะ ให้เข้ากัน
3. กรองเอาแต่น้ำ จากนั้นเติมน้ำอีก 1 แก้ว (250 มิลลิกรัม)
4. นำไปต้มด้วยไฟอ่อน 3 นาที พักให้อุ่น ปรุงรสด้วยน้ำผึ้ง
5. คนให้เข้ากัน จิบขณะที่ยังอุ่น วันละ 2 ครั้ง เข้า -เย็น อย่างต่อเนื่อง จนกว่าอาการจะทุเลาลง

ข้อมูลจาก คอลัมน์ เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 473

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ 
4 วิธีป้องกันท้องอืดจากพืชผัก
ผักติ้ว ผักพื้นบ้านไทย กินอย่างไรให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกาย
5 ของดีใกล้ตัว บำรุงสุขภาพ ตามหลัก อายุรเวท

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.