พูดถึง…ความสำคัญในการใช้โซเชียลมีเดียในวัยผู้สูงอายุไทย!

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งจากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วทุกภาคส่วนจึงมีการเตรียมการเพื่อรองรับ โดยเมื่อมีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าคนที่มีอายุเพิ่มมากขึ้นนั้นสภาพร่างกายและจิตใจย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ใช้ชีวิตในบั้นปลายให้มีความสุขมากที่สุดนั่นเอง

สิ่งหนึ่งที่กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหาและติดต่อสื่อสารระหว่างเพื่อนเก่า และสมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนที่อยู่คนละมุมโลก และอีกหลายชีวิต นั่นก็คือ โซเชียลมีเดีย ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น      เฟซบุ๊ก หรือไลน์ และอื่นๆ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการย่อโลกให้ผู้สูงวัยได้กลับมาพบกับเพื่อนหรือคนรู้จักเก่าๆ ได้อีกครั้ง ได้พูดคุยสนทนากันสดๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส

ทำให้ทุกเพศทุกวัยสัมผัสได้ถึงความอิ่มเอมใจทุกครั้งที่ได้พบปะพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนเรื่องราวที่แสนประทับใจ เป็นการชุบชีวิตชีวาให้กลับมาอีกครั้ง แต่มีข้อแม้ว่า ผู้สูงอายุต้องสนใจที่จะเรียนรู้และใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็น

นอกจากนี้ยังมีผลวิจัยระบุออกมาว่า การใช้สื่อโซเชียลมีเดียในผู้สูงอายุมีความสำคัญค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นการลดช่องว่างระหว่างลูกหลานและผู้สูงอายุลงได้ แต่ปัญหาหลักก็คือการเรียนรู้การใช้โซเชียลมีเดียของผู้สูงอายุที่ยังขาดทักษะและประสบการณ์ในการใช้งาน ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้งานได้ด้วยตัวเอง ขาดความเข้าใจในเรื่องของระบบขั้นตอนการทำงานของโซเชียลมีเดีย อีกทั้งสื่อโซเชียลมีเดียอาจยังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้ผู้สูงอายุบางรายเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียได้ค่อนข้างยาก

รูปแบบการใช้สื่อโซเชียลมีเดียของผู้สูงอายุในสังคมไทย

มีผลการวิจัยหนึ่งที่ระบุออกมาว่าผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป หลังจากเกษียณออกจากงาน หรือไม่มีอาชีพและรายได้หลักทำให้มีเวลาค่อนข้างมาก โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีการใช้โซเชียลมีเดียในรูปแบบของใช้เล่นเป็นกิจกรรมยามว่าง การแชร์ข่าวสาร และพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล

โดยแบ่งรูปแบบการใช้สื่อโซเชียลมีเดียดังนี้

ลักษณะการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย

ผู้สูงอายุมีความสนใจในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น โดยใช้เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อน เพื่อพูดคุยคลายเหงา และแลกเปลี่ยนทัศนะคติ ข่าวสารต่างๆ โดยลักษณะการใช้สื่อโซเชียลมีเดียจะอยู่ในรูปแบบของเสียง ภาพ และวิดีโอมากกว่าการพิมพ์ข้อความ เนื่องจากการส่งภาพหรือวิดีโอนั้นมีวิธีการส่งที่ง่ายกว่าและไม่ซับซ้อน ทั้งผู้รับข้อความยังเข้าใจได้ง่ายมากกว่าอักษรที่อาจเกิดความผิดพลาดในการพิมพ์ได้ง่าย และยากต่อการอ่าน โดยการส่งภาพส่วนใหญ่มักจะเป็นพวกคำคม คติสอนใจ สาระความรู้ผ่านโซเชียลมีเดียให้กับลูกๆ หลานๆ

สื่อโซเชียลมีเดียที่เป็นที่นิยมในผู้สูงอายุ

สื่อที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่แอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่สามารถส่งข้อความได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมงจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งนอกจากการส่งข้อความแล้ว ไลน์ยังสามารถส่งข้อมูลได้ทั้งรูปแบบของภาพและเสียง รวมถึงการวิดีโอคอลหรือคุยแบบเห็นหน้าได้ด้วย ซึ่งง่ายต่อการติดต่อสื่อสารนอกจากตัวแอพลิเคชั่นยังมีสติ๊กเกอร์ที่สามารถส่งแสดงความรู้สึกของผู้ใช้ โดยมีวิธีการใช้ที่ไม่ซับซ้อน ซึ่งง่ายต่อการใช้งานสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากไลน์แล้วยังมีแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ที่ผู้สูงอายุให้ความสนใจได้แก่ ยูทูป โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ดูสิ่งที่สนใจเป็นกิจกรรมยามว่าง เช่น การดูละคร หรือรายการต่างๆ ย้อนหลัง

ปัญหาการเรียนรู้โซเชียลมีเดียในวัยผู้สูงอายุ

ด้านการเรียนรู้

เนื่องจากโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งใหม่และมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้จึงเป็นเรื่องยากสำหรับวัยผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะวิตกกังวลในเรื่องของวิธีการใช้ กลัวการผิดพลาดจากการใช้งาน ไม่กล้าลองผิดลองถูก การเรียนรู้ในวัยผู้สูงอายุจึงพัฒนาไปได้ช้ากว่าผู้ที่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงานที่มีความคุ้นชินกับเทคโนโลยีมากกว่า โดยส่วนใหญ่จะเรียนรู้จากการให้ลูกหลานเป็นผู้สอนให้มากกว่าการไปเรียนแบบจริงจัง

ด้านการใช้งาน

เนื่องจากโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งใหม่ และในการใช้งานในบางขั้นตอนมีวิธีการใช้ที่ค่อนข้างซับซ้อน ทำให้ผู้สูงอายุติดขัดในเรื่องของการใช้งาน ไม่เข้าใจระบบของการทำงานของแอพพลิเคชั่นนั้นๆ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างการส่งรูปภาพไม่ได้เนื่องจากการติดขัดของอินเทอร์เน็ต ผู้สูงอายุไม่สามารถรู้ถึงสาเหตุของการเกิดปัญหาได้

ปัญหาที่เกิดจากตัวผู้สูงอายุเอง

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีความสามารถในการมองเห็นและการจดจำที่ลดลง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้โซเชียลมีเดีย ซึ่งในด้านการมองเห็นนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการใช้สื่อในรูปแบบตัวอักษร ยากต่อการอ่าน เนื่องจากมีขนาดที่ค่อนข้างเล็ก รวมถึงความสามารถทางการจดจำที่ลดลง ทำให้ผู้สูงอายุหลงลืมในสิ่งที่เรียน ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ช้ากว่าวัยอื่นๆ

ความสำคัญในการใช้โซเชียลมีเดียในวัยผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องการการเอาใจใส่ค่อนข้างมาก การใช้สื่อโซเชียลมีเดียจึงมีความสำคัญในเรื่องของการลดช่องว่างระหว่างวัย นอกจากนี้ยังทำให้ผู้สูงอายุได้รู้สึกอยู่ใกล้ลูกหลานตลอดเวลา อีกทั้งยังสามารถถามไถ่สารทุกข์สุขดิบได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ที่ลูกหลานสามารถใช้โซเชียลมีเดียในการติดตามเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ ถามไถ่อาการ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ตามตัวในผู้สูงอายุบางรายที่มีอาการป่วยเป็นอัลไซเมอร์ได้ ด้วยการเปิดระบบ GPS เพื่อป้องกันการพลัดหลงระหว่างลูกหลานกับตัวผู้สูงอายุอีกด้วย

รวมถึงด้านการดำรงชีวิต เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินชีวิตส่วนใหญ่นั้นจะดำเนินไปพร้อมกับการใช้เทคโนโลยี ความสำคัญในการเรียนรู้จึงส่งผลให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น อีกทั้งทำให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ฝึกการจำ การป้องกันการเป็นโรคอัลไซเมอร์เนื่องจากการใช้โซเชียลมีเดียผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้ทักษะค่อนข้างสูง ทำให้ได้ฝึกสมองไปในตัวได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการใช้โซเชียลมีเดียของผู้สูงอายุนั้น ได้ถูกจำกัดด้วยตัวของผู้สูงอายุเอง คือกลัวความผิดพลาดจนไม่กล้าที่จะเล่น ดังนั้นควรต้องมีการส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียให้กับผู้สูงอายุตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างความเข้าใจถึงระบบการใช้งาน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้เข้าใจถึงกระบวนการทำงานเบื้องต้นของโซเชียลมีเดีย ซึ่งการสอนต้องค่อยเป็นค่อยไป ผู้สอนควรมีความใจเย็น เนื่องจากผู้สูงอายุต้องทำความเข้าใจตั้งแต่ขั้นพื้นฐานและมีการเรียนรู้ที่ช้ากว่าวัยอื่นนั่นเองค่ะ

และถึงแม้ว่าการใช้โซเชียลมีเดียจะเป็นการช่วยลดช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์ แต่ลูกหลานก็ไม่ควรละเลยโดยการนำโซเชียลมีเดียมาทดแทน แต่ควรหันมาเอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุด้วยการใช้เวลาร่วมกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกันด้วย นอกจากนี้การเล่นโซเชียลมีเดียควรต้องเล่นแบบพอเหมาะพอดี ไม่มากจนเกินไปจนเกิดผลเสีย เนื่องจากเป็นการนั่งเล่นอยู่กับที่เป็นเวลานานซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเมื่อยล้า และต้องนั่งจ้องหน้าจอมือถือหรือจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ซึ่งอ่าจส่งผลเสียต่อระบบการทำงานของดวงตาได้ เอาเป็นว่าเล่นแบบพอดี แบบรู้ลิมิตจะดีที่สุดค่ะ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

รู้เท่าทัน “อัลไซเมอร์” เตรียตัว และป้องกันกันไว้ ก่อนจะสายเกินแก้

เพราะสุขภาพสำคัญ! ควรป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

การตายดี ตายอย่างสงบ เป็นแบบไหน สิทธิที่ทุกคนเข้าถึงได้

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.