เก๋ากี้

ไขความลับ “เก๋ากี้” ยาอายุวัฒนะในตำราจีน

เก๋ากี้ ยาอายุวัฒนะ ชื่อเดิมของ โกจิเบอร์รี่

เก๋ากี้ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Chinese Wolfberry และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lycium barbarum หรือบางตำราเรียกทับศัพท์ว่า โกจิเบอร์รี่ (Goji Berry) จัดอยู่ในกลุ่มผลไม้ชนิดหนึ่งในตระกูลเบอร์รี่ ลักษณะต้นเป็นพุ่มไม่สูงมาก มีสายพันธุ์ประมาณ 70 – 80 สายพันธุ์ มีสีแดงจัด

เก๋ากี้

ลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ ผลที่สุกแล้วจะมีสีแดงเข้มเหมือนเลือด จึงมีอีกชื่อในภาษาจีนว่า “ฮ่วยกี้” หรือ “โก๋วฉีจึ”
(枸杞子) ในบ้านเรานิยมใช้อยู่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ Lycium barbarum มีลักษณะสีแดงเม็ดเล็ก อมเปรี้ยวกว่า
มักใส่ในซุปไก่ตุ๋น เรียกว่า “เก๋ากี้จีน” ส่วนอีกหนึ่งสายพันธุ์ คือ Lycium chinense สีแดงเข้มและเม็ดใหญ่กว่า ออก
หวานมากกว่า ไม่เปรี้ยว มักใส่ในชา เป็นขนมเคี้ยวเล่นและใส่ในของหวาน เรียกว่า “เก๋ากี้ฮ่องกง”

เก๋ากี้ นั้นมีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย เพาะปลูกและเติบโตได้ดีในแถบประเทศจีนตอนเหนือ เพราะมีอากาศเย็นและสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นบริเวณเทือกเขา ผลของเก๋ากี้มักจะสุกในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง ชาวจีนจะนิยมเก็บผลมาตากแห้ง จึงสามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายตลอดจนนำมาแปรรูปเป็นชาชงดื่ม

สำหรับศาสตร์การแพทย์แผนจีนเก๋ากี้ถูกใช้ในตำรายาจีนมานานกว่า 2,000 ปี ระบุไว้ว่า เก๋ากี้เป็นผลไม้ที่นำมาทำเป็น
ยารักษาโรคได้หลายชนิด มีรสหวาน มีฤทธิ์เป็นกลางไม่ร้อนไม่เย็นเกินไป และไม่มีพิษ

ฤทธิ์ของเก๋ากี้ ช่วยบำรุงเส้นลมปราณตับ ไต กระเพาะอาหาร และปอด มีสรรพคุณช่วยบำรุงให้ชุ่มชื่น ช่วยบำรุงสายตา สามารถป้องกัน และรักษาอาการตาแห้งได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แพทย์จีนส่วนใหญ่นิยมใช้บรรเทาและรักษาอาการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ในตำรายาจีนมีข้อมูลว่าเก๋ากี้ช่วยบำรุงร่างกายของเพศชายได้ดี

8 ประโยชน์ของเก๋ากี้ ผลไม้มหัศจรรย์

วิตามินเอสูง

งานวิจัยจากหลายสถาบันพบว่า เก๋ากี้อุดมไปด้วยวิตามินเอสูง เมื่อเทียบปริมาณวิตามินเอต่อน้ำหนัก พบว่า เก๋ากี้มีสูงมากกว่าเบอร์รี่ชนิดอื่น ๆ วิตามินเอเป็นส่วนประกอบสำคัญในจอประสาทตา มีสรรพคุณช่วยบำรุงสายตา ช่วยลดความเสี่ยงของอาการตาบอดกลางคืน (NightBlindness)

แคลเซียมสูง

เก๋ากี้มีแคลเซียมสูงกว่าบรอกโคลี สามารถช่วยบำรุงมวลกระดูกให้แข็งแรง และยังมีธาตุเหล็กที่ช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดแดงและกล้ามเนื้อ

มีฤทธิ์เป็นกลาง

แปลว่า สรรพคุณอยู่ตรงกลาง ไม่ร้อนไม่เย็นสามารถกินเยอะเท่าไรก็ได้ ไม่ทำให้ร่างกายเสียสมดุล แต่ต้องกินเยอะหน่อยเพื่อให้ได้ปริมาณที่จะเอาไปใช้เป็นยาค่ะ ถามว่าปริมาณที่ใช้เป็นยาต้องกินเท่าไร ถ้าสมมติเราอยากให้บำรุงสายตาต้องกินประมาณ 1 กำมือ หยิบมาได้เท่าไรอยู่ในอุ้งมือ ก็จะประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ 15 กรัม ประมาณนั้นต่อวัน ด้วยรสชาติหวานอมเปรี้ยวนิด ๆ เก๋ากี้ก็เลยกลายเป็นอาหาร เป็นชา เป็นขนม ระดับความปลอดภัยของเก๋ากี้คือ ระดับอาหารในตำรับยาจีน (Food Level) ถือว่าปลอดภัยมาก ส่วนใหญ่ถ้ากินเยอะเกินไปก็แค่ระบายดี ท้องหายผูก

เป็นยาระบายอ่อนๆ

สมมติว่ากินเยอะหน่อย เก๋ากี้ขายถุงใหญ่ถุงหนึ่งหนัก 1 กิโลกรัม กินสักครึ่งกิโลกรัมก็อาจจะมีแค่ถ่ายออกมาเยอะ แต่ไม่ใช่แบบท้องเสียติดเชื้ออะไร เป็นเพราะเก๋ากี้มีกากใยสูง ที่สำคัญคือไม่มีการกินเกิน (Overdose) ใด ๆ แล้วร่างกายเราเองต่อให้กินวิตามินเอเยอะ เราก็จะดูดซึมเท่าที่จะใช้เท่านั้นเอง

บำรุงไต

ด้วยความที่ต้นเก๋ากี้มีหลายสายพันธุ์หลากสี แต่ว่าแผนจีนจะเลือกเอาสายพันธุ์สีแดงสด สีแดงคล้ำ ไปจนถึงสีเกือบดำมาทำยาจีน เพราะถือว่าสีที่แดงเข้มจะมีธาตุเหล็กเยอะ ฉะนั้นเก๋ากี้สีแดงจึงบำรุงเลือด บำรุงตับ บำรุงหัวใจ บำรุงไต บำรุงของเหลวจำเป็นในไตที่เรียกว่า Jing, จิ้ง (精) คือ ถ้าไต มี จิ้ง เก็บไว้เยอะก็จะทำให้อายุยืน เก๋ากี้ก็เลยถือว่าเป็นยาอายุวัฒนะ แล้วหน้าตาเม็ดเก๋ากี้ก็จะคล้าย ๆ ดวงตาของเรา รูปร่างเหมือนดวงตา ทางแผนจีนก็บอกว่าจะช่วยเรื่องบำรุงดวงตา ซึ่งทางวิทยาศาสตร์ก็พิสูจน์แล้วว่าเก๋ากี้บำรุงดวงตา เพราะมีวิตามินเอเยอะ ช่วยทำให้เห็นกลางคืนได้ดีขึ้น ถ้าขาดวิตามินเอ กลางคืนจะมองไม่ค่อยเห็น

บำรุงปอด

สำหรับปอดที่ไม่ค่อยแข็งแรง อาการไอแห้ง ๆ มายาวนาน ไม่ค่อยมีแรงไอ ลักษณะไอเบา ๆ แต่เป็นนาน

บำรุงเลือด

จากการที่มีธาตุเหล็กสูง เก๋ากี้ก็จะบำรุงเลือดได้ดี เวลาบำรุงเลือดได้ดีทางแผนจีนจะถือว่าบำรุงตับแบบแผนจีนซึ่งเป็นที่เก็บเลือดไปด้วย การที่ตับแบบแผนจีนดี ทำให้การเดินของเลือดและประจำเดือนเป็นปกติ ร่างกายแข็งแรง

บำรุงระบบประสาท

เพราะมีวิตามินบี 1 บี 2 หรือไรโบฟลาวิน (Riboflavin) วิตามินซีสูง ช่วยให้มีแรง มีพลังงานระหว่างวัน ต้านอนุมูลอิสระได้สูง ทำให้ไม่ค่อยเพลียเวลาทำงาน

ที่มา แพทย์หญิงศรันยา สาครินทร์ นิตยสารชีวจิต

บทความน่าสนใจอื่น ๆ

SMART SOLUTION วิธีแก้สายตายาวก่อนวัย ของแผนจีน

เช็กซิ อาการไตอ่อนแอ พร้อมวิธีดูแลตามหลักแพทย์จีน

5 ผักผลไม้สีแดง มีสารต้าน โรคมะเร็ง และช่วยให้แก่ช้า

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.