พริกไทยดำ เสริมสมรรถภาพ หลายๆ ครั้งเมื่อหมอติดตามอาการต่าง ๆ ของคนไข้เพศชาย และได้ถามถึงความฟิตของร่างกายหลังรักษาโรค พบว่าหลายคนมีสมรรถภาพทางเพศดีขึ้นบางคนสงสัยจนเกิดคำถามว่า ทำไมอวัยวะเพศแข็งตัวขึ้นได้ทั้งที่หายไปนานแล้วนึกว่าเพราะอายุมากขึ้นก็จะหมดสภาพไปเอง
เมื่อหมอมาพิจารณา กลุ่มคนไข้ที่มารักษามักเป็นโรคเรื้อรังในกลุ่มหัวใจและหลอดเลือดเบาหวาน ไขมันเลือดสูง ดังนั้นเมื่อมีการปรับพฤติกรรมการบริโภค รวมถึงการรักษาแบบองค์รวม เป็นไปได้สูงที่ทำให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้นเส้นเลือดขยายตัวได้ตามปกติสมรรถภาพทางเพศก็กลับคืนมาในทางกลับกัน ในคนที่เริ่มอวัยวะเพศไม่แข็งตัวนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรเพิกเฉย เพราะหากปล่อยเนิ่นนาน อุบัติการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดก็จะตามมาเช่นกัน จนหมอ ๆ พูดกันเองว่าผู้ชายช่างโชคดี มีการประเมินสุขภาพหลอดเลือดให้เห็นทุกเช้า (ผู้ชายที่แข็งแรงอวัยวะเพศจะแข็งตัวในช่วงเช้าเป็นธรรมชาติ)
เมื่อเราดูสาเหตุของการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศหรืออวัยวะเพศไม่แข็งตัวนั้นเกิดได้จากหลายอย่าง เช่น เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมาก่อนกินยาความดันโลหิตบางตัวหรือยาแก้ซึมเศร้าเป็นเวลานานมีโรคเบาหวาน ไขมันเลือดสูง สูบบุหรี่ โรคเรื้อรัง เช่น ไตวาย โรคทางระบบประสาท เช่น อัมพาต โรคเสื่อมของระบบประสาท หรือมีความผิดปกติของฮอร์โมนหลายชนิด รวมถึงเคยเกิดอุบัติเหตุบริเวณอุ้งเชิงกรานก็เป็นสาเหตุได้ ในที่นี้หมอจะเน้นสาเหตุที่ปรับอาหาร
แล้วได้ผลนะคะ เพราะอย่างน้อยก็เป็นทางเลือกในการบริโภคได้นั่นคือดูแลสุขภาพหลอดเลือดให้ดีค่ะ
การดูแลสุขภาพหลอดเลือดไม่ให้ตีบและอุดตัน และให้คงความยืดหยุ่นขยายตัวได้ดีนั้นเราต้องป้องกัน รักษาอาการไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูงที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยก่อน หากหลอดเลือดสะอาดไร้การอักเสบ การแข็งตัวของอวัยวะเพศก็จะดีขึ้นได้เอง ไม่เป็นปัญหาให้สูญเสียความมั่นใจ
ครั้งนี้หมอจึงเลือกพริกไทยดำมาเป็นพระเอกค่ะ หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ตรงในการกินพริกไทยใช่ไหมคะ ว่าหลังรับประทานแล้วร่างกายจะอุ่นขึ้นระบบไหลเวียนของร่างกายดีขึ้นจึงไม่น่าแปลกที่ตำรับยาหลายตัวที่เกี่ยวกับการไหลเวียนของหลอดเลือดจะมีพริกไทยดำเป็นส่วนประกอบ พริกไทยดำมีสารสกัดชื่อ perperine ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว มีงานวิจัยในสัตว์ทดลองถึงการลดความดันได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ perperine ยังเป็นส่วนประกอบในสมุนไพรที่วิจัยว่าช่วยแก้ไขสมรรถภาพทางเพศ เมื่อเทียบกับยาหลอกถึง 50 เปอร์เซ็นต์
ในมุมมองของนักพฤกษศาตร์และศาสตร์ Doctrine of Signature แล้ว พริกไทยมีความน่าสนใจหลายอย่างประการแรกคือ พริกไทยดำหรือ Piper nigrum นั้นอยู่ในตระกูล Piperales วงศ์ Piperaceae ที่ออกผลเป็นช่อ เป็นพวงยาวซึ่งดอกไม้ปกติออกดอกแค่ดอกเดียว แต่พริกไทยเขาจัดเต็มออกดอกทีเป็นพวง ซึ่งดอกและผลในทางพฤกษศาสตร์เทียบได้กับระบบเมแทบอลิกหรือการเผาผลาญพลังงานของคน พริก-ไทยดำที่มีลักษณะเผ็ดร้อนจึงกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตได้ดีซึ่งเป็นลักษณะเด่นประจำตระกูล Piperales อย่างเช่นพลูคาว (วงศ์ Saururaceae) ก็มีผลกระตุ้นเลือดลมเช่นกัน
พริกไทยดำจัดเป็นไม้ดอกประเภท Paleoherb ที่วิวัฒนาการใกล้ชิดกับพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเป็นกลุ่มพืชดอกโบราณ กล่าว คือ เริ่มวิวัฒนาการมาเป็นดอกได้ไม่นาน จากพืชเมล็ดเปลือยเพิ่งเริ่มจะมีผลมาห่อหุ้มเมล็ดทำให้เม็ดพริกไทยมีลักษณะแข็งแทบไม่มีเนื้อผลมีความกระด้างแบบของเพศชาย (Musculine) จึงมีสารบำรุงสมรรถภาพทางเพศชายได้
เส้นหมี่ราดหน้าเนื้อ
ส่วนผสม (สำหรับ 1 ที่) เตรียม 30 นาที ปรุง 30 นาที
- เนื้อสันในวัวหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าขนาด 1 × 1 นิ้ว 80 กรัม
- เส้นหมี่ข้าวกล้อง 80 กรัม
- แครอตหั่นเต๋าลวก 10 กรัม
- บรอกโคลีลวก 30 กรัม
- ข้าวโพดอ่อนหั่นเป็นท่อนลวก 10 กรัม
ส่วนผสมน้ำราดหน้า
- เห็ดหอมหั่น 30 กรัม
- แป้งมัน 10 กรัม
- พริกไทยดำบุบพอแตก 1 ช้อนโต๊ะ
- ซีอิ๊วขาว 15 กรัม
- ขิงหั่นฝอย 10 กรัม
- น้ำตาลทรายสีรำ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันหอย 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำสต๊อกไก่ 150 กรัม
วิธีทำ
1. แช่เส้นหมี่ในน้ำจนนิ่ม นำมาลวกพอสุก พักสะเด็ดน้ำสักครู่
2. ใส่น้ำมันลงในกระทะยกขึ้นตั้งไฟให้ร้อน ใส่เส้นลงผัดให้หอมปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวเล็กน้อยแล้วจัดใส่จานพร้อมผักลวก
3. ใส่น้ำมันลงในกระทะเล็กน้อยใส่เนื้อลงนาบทั้งสี่ด้านจนสุกเหลืองตามชอบ พักไว้
4. ตั้งกระทะใส่น้ำมันสำหรับผัดลงไป รอจนร้อน ใส่เห็ดหอมลงผัดพอหอม ใส่น้ำสต๊อกและขิงหั่นเส้น พอเดือดปรุงรส ใส่แป้งมันละลายน้ำ คนจนแป้งมันสุก ปรุงรสด้วยเครื่องปรุงต่าง ๆ ใส่เนื้อวัวที่นาบไว้ นำไปราดบนเส้นและผักที่เตรียมไว้
พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 579.12 กิโลแคลอรี
โปรตีน 22.73 กรัม ไขมัน 6.43 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 107.36 กรัม ไฟเบอร์ 2.46 กรัม
โดย : แพทย์หญิงกอบกาญจน์ ไพบูลย์ศิลป แพทย์ธรรมชาติบำบัด Healthy Flavor Clinic Restaurant
เรียบเรียง : สิทธิโชค ศรีโช ภาพ : พีระพัฒน์ พุ่มลำเจียก สไตล์ : ปรางรัตน์ ฤกษ์สง่า