ซัลซ่าแตงกวา ปลากรอบ อาหารต้านลมแดด ที่แผดเผา! พอถึงหน้าร้อนทีไร หมอก็จะนึกถึงประเพณีสงกรานต์ รดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นวันรวมญาติของคนไทยมาช้านาน เหมาะกับสภาพอากาศของเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะจากสถิติแล้ว อุณหภูมิประจำเดือนเมษายนของทุกปีจะไม่ต่ำกว่า 38 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าร้อนมากเลยทีเดียว
การระบายความร้อนในร่างกายที่ดีที่สุดคือการอาบน้ำ เอาน้ำประพรมตามตัวเพื่อลดความร้อนในร่างกายลง เพราะถ้าร่างกายไม่มีการระบายความร้อนที่ดีแล้วอาจจะเกิดภาวะที่ส่งผลกับสุขภาพตามมาได้นั่นคือ “อาการลมแดด” หรือ Heat syncope (ฮีทซินโคป) ภาวะนี้มักจะเจอในคนที่ดื่มน้ำน้อย เหงื่อไม่ค่อยออก ร่างกายระบายความร้อนไม่ดี ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังโดยจะมีอาการเมื่อยล้า กล้ามเนื้อเป็นตะคริว อ่อนเพลีย กระหายน้ำ เบื่ออาหาร ส่งผลให้ความดันต่ำ หน้ามืดเป็นลม และถ้าเป็นมากร่างกายระบายความร้อนไม่ทันจะกระทบระบบสมองส่วนกลางให้ทำงานสับสนจนหมดสติได้ในรายที่อาการรุนแรงอาจมีอาการชักตามมาเราเรียกว่า Heat stroke (ฮีทสโตรค)ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเมื่อเจออากาศร้อนจัดและร่างกายปรับตัวไม่ได้
นอกจากนี้วิธีการป้องกันภาวะลมแดดคือดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายในแต่ละวัน เช่นถ้าทำงานออกแรงกลางแจ้ง เล่นกีฬาหนักๆ หรืออยู่ในระหว่างให้นมบุตร ควรดื่มน้ำไม่ต่ำกว่า 2-3 ลิตรต่อวัน พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารที่ย่อยง่าย เน้นผัก ผลไม้ที่มีกากใย หลีกเลี่ยงอาหารมันๆ ปิ้งย่างที่จะสร้างความร้อนเพิ่มในร่างกาย
ตอนหมอไปเที่ยวอินเดียอยู่ในช่วงที่ร้อนจัด ผู้คนที่โน่นจะกิน snake cucumberที่มีวางขายกันเป็นล่ำเป็นสัน ดูแล้วก็คล้ายๆบวบงูบ้านเรานั่นเองแต่รสชาติเป็นแตงกวา เขากินกันเพื่อลดความร้อนในร่างกายเพราะที่อินเดียมีคนร้อนจนตายกันทุกปี
ดังนั้นครั้งนี้หมอจึงหยิบพืชตระกูลแตง Cucurbitaceae (คิวเคอบิทาซิเอ) มาปรุงเป็นอาหารคลายร้อนกัน พืชตระกูลนี้มีทั้งบวบ แตงกวา แตงโม ฟักทอง ซึ่งตามศาสตร์ที่เรียกว่า Doctrine of Signature (ด็อคทรินออฟซิกเนเจอร์) หรือแปลเป็นไทยว่าการบำบัดรักษาโรคด้วยส่วนของพืชที่มีลักษณะพ้องจองกับอวัยวะหรืออาการนั้น เมื่อพิจารณารูปลักษณ์ของแตงกวาดูแล้ว จะพบคำอธิบายว่าพืชตระกูลแตง โดยเฉพาะแตงกวานั้น มีความสัมพันธ์กับไตมาก หากเราผ่าแตงกวาเป็นแว่นๆ จะเห็นว่าเนื้อของแตงกวาจะฉ่ำน้ำและเต่งตึงคล้ายลักษณะแคปซูลของไต และส่วนตรงกลางที่เป็นที่รวมของเมล็ดแตงกวานั้น ก็ช่างคล้ายคลึงกับหน่วยย่อย กลุ่มเส้นโลหิตฝอยของไต(Glomerulus) ที่มีหน้าที่กรองของเสียของไตเหลือเกิน จึงไม่น่าแปลกใจที่งานวิจัยทางเภสัชพฤกษศาสตร์จะออกมายืนยันว่า ในพืชตระกูลแตงมีสารชื่อ Cucurbocitrin (พบมากที่สุดในเมล็ดแตงโม) ที่มีสรรพคุณในการทำให้หลอดเลือดขยายตัว ช่วยลดความดันเลือดที่พุ่งสูงเวลาอากาศร้อน อีกทั้งยังนำเลือดไปกรองที่ไตมากขึ้น ผลก็คือเกิดการขับปัสสาวะมากขึ้น เมื่อขับปัสสาวะได้ดี ระบบการขับพิษ โดยเฉพาะ Oxidative stress หรือสารอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นเมื่อเราเกิดความเครียด เช่นเดียวกับอาหารปิ้ง ย่าง ความร้อนเป็นตัวเร่งอย่างดีที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ เมื่อร่างกายร้อนขึ้นหรือมีกระบวนการเผาผลาญในเซลล์ ( Metabolism) สูงขึ้น สภาวะความเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative stress) ก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย การขับของเสียผ่านไตเป็นวิธีหนึ่งที่ร่างกายจะปรับตัวในภาวะร้อนจัดได้ดียิ่งขึ้น
ครั้งนี้ดิฉันจึงนำเสนอเมนู ซัลซ่าแตงกวาปลากรอบ ไว้ให้คุณได้ปรุงรับประทานกันเพื่อต้านลมแดดแรงๆ ในเดือนเมษายนนี้กัน
ซัลซ่าแตงกวา ปลากรอบ
ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่) เตรียม 15 นาที ปรุง 5นาที
- แตงกวาหั่นเต๋าเล็ก 100 กรัม
- มะเขือเทศหั่นเต๋าเล็ก 30 กรัม
- กระเทียมสับหยาบ 2 ช้อนโต๊ะ
- เกลือ 1 ช้อนชา
- พริกไทย ½ ช้อนชา
- ออริกาโน ¼ ช้อนชา
- น้ำส้มสายชูบัลซามิก ¼ ถ้วย
- ใบโหระพาสับหยาบ 1 ช้อนโต๊ะ
- ปลาข้าวสารทอดกรอบ 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทรายสำหรับคลุกปลาข้าวสารทอดกรอบ ¼ ช้อนชา
วิธีทำ
- ผสมน้ำส้มสายชูบัลซามิก เกลือ พริกไทย ออริกาโน กระเทียมสับ คนให้เข้ากัน ใส่ใบโหระพาสับ แล้วนำไปคลุกกับมะเขือเทศและแตงกวาที่หั่นไว้
- แต่งจานโดยใช้แตงกวาญี่ปุ่นไสลด์บางวางในพิมพ์กลม ใส่ซัลซ่าแตงกวาที่เตรียมไว้ในพิมพ์ โรยปลากรอบที่คลุกกับน้ำตาลทรายไว้แล้ว กินคู่กัน
เกร็ดความรู้ : พืชตระกูล แตง Cucurbitaceae (คิวเคอบิทาซิเอ) มาปรุงเป็นอาหารคลายร้อนกัน พืชตระกูลนี้มีทั้งบวบ แตงกวา แตงโม ฟักทอง ซึ่งตามศาสตร์ที่เรียกว่า Doctrine of Signature (ด็อคทรินออฟซิกเนเจอร์) หรือแปลเป็นไทยว่าการบำบัดรักษาโรคด้วยส่วนของพืชที่มีลักษณะพ้องจองกับอวัยวะหรืออาการนั้น เมื่อพิจารณารูปลักษณ์ของแตงกวาดูแล้ว จะพบคำอธิบายว่าพืชตระกูลแตง โดยเฉพาะแตงกวานั้น มีความสัมพันธ์กับไตมาก หากเราผ่าแตงกวาเป็นแว่นๆ
พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 57.48 กิโลแคลอรี
โปรตีน 3.65 กรัม ไขมัน 1.96 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 6.71 กรัม ไฟเบอร์1.09 กรัม
ข้อมูลความรู้โดย แพทย์หญิง กอบกาญจน์ ไพบูลย์ศิลป แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมชาติบำบัด
สูตรอาหารเพื่อสุขภาพแนะนำ
- สมู้ตทีผักผลไม้ไทย ราคาประหยัด ดีต่อสุขภาพ
- ซุปแครอต อร่อยง่าย บำรุงตาใสปิ๊ง
- ตำผลไม้ ไฟเบอร์มากมาย สลายท้องผูก
- แยมพริกชี้ฟ้าแดง เมนูลดภาวะการอุดตันของเส้นเลือด
- ต้มจืดเต้าหู้ผักกาดขาว เมนูเบา ๆ ช่วยลดกรดไหลย้อน
- ยำแอ๊ปเปิ้ลกับสมุนไพรไทย และไก่ย่าง พลังงานต่ำ
- ยำทูน่ากระป๋อง จานด่วน ทำง่าย ดีต่อสุขภาพ
- ยำถั่วพูกุ้งลวก กับไข่ต้ม อร่อยรสแบบไทยๆ
- ยำผลไม้รวมปลากรอบ กับ ยำสามกรอบ