เมนูเพิ่มพลังตับขจัดพิษ ตับเป็นอวัยวะที่ช่วยขจัดสารพิษ รักษาระดับน้ำตาลและไขมันในร่างกายในทางการแพทย์แผนไทย ตับเป็นอวัยวะธาตุที่เป็น “ธาตุดิน” เป็นแหล่งผลิตไฟธาตุที่แฝงอยู่ในธาตุน้ำ (หมายถึงน้ำดี) ซึ่งช่วยเผาผลาญอาหารและเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ในอาหารให้เป็นความร้อนหรือไฟอบอุ่นกาย
เมื่อใดที่ตับร้อนจะทำให้มีอาการไข้ตัวร้อนหรือตาเหลือง หากตับโตหรือตับอ่อนแอ ก็ทำให้เกิดอาการจุกเสียดแน่น ท้องอืดอาหารไม่ย่อย เป็นต้น อาการของโรคที่เกี่ยวกับตับดังที่กล่าวมามักจะกำเริบในช่วงเวลาของธาตุไฟ (ปิตตะ) เช่น 12.00 น. – 14.00 น. และ 24.00 น. – 2.00 น.
ทั้งนี้ในตอนกลางคืน ไฟธาตุย่อยอาหารจะทำงานน้อยกว่าในช่วงกลางวัน หากรับประทานอาหารที่เย็นมากก็จะส่งผลให้ไฟย่อยอาหารทำงานได้น้อยลง ทำให้อาหารย่อยไม่สมบูรณ์และส่งผลให้เกิดโรคลมตามมา (ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย จุกเสียดท้อง) ทำให้นอนไม่หลับอ่อนเพลีย มึนงง วิงเวียน บางรายเป็นเรื้อรังก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น อาหารไม่ย่อยโรคนอนไม่หลับ เกิดไขมันพอกตับ ทำให้ตับทำงานขัดข้องและเสื่อมสภาพลง และมีสารพิษคั่งค้าง ดังนั้นเพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว ดิฉันมีวิธีปฏิบัติแนะนำดังนี้ คือ
1. ควรนอนก่อนเวลาห้าทุ่มและจิบน้ำอุ่นเล็กน้อยก่อนนอน
2. ไม่รับประทานอาหารมีไขมันสูง อาหารปรุงไม่สุก ผักดิบฤทธิ์เย็น และไม่กินมากเกินไปในมื้อเย็น
3. งดเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนในช่วงเย็น แต่ปรับเป็นเครื่องดื่มอุ่น ๆ ที่เสริมการย่อย เช่น ชามินต์ ชาตะไคร้ น้ำขิง แทน
4. ควรพักนิ่ง ๆ หลังรับประทานอาหารสักพัก เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงตับและกระเพาะเต็มที่ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อย ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ
5. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารปรุงแต่งหรือสารฟอกขาว เพราะจะทำให้ตับต้องทำงานหนักและอ่อนแอ
6. ละเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจดื่มเหล้าผลไม้ในปริมาณไม่เกินสองช้อนโต๊ะแทนได้ แต่ไม่ควรดื่มประจำ
สำหรับอาหารเพิ่มพลังตับ ควรมีฤทธิ์เป็นกลาง มีสรรพคุณบำรุงและป้องกันโรค หรือเพิ่มประสิทธิภาพการขับของเสียและสารพิษจากร่างกาย ไม่ก่อพิษ หรือมีคุณสมบัติช่วยปรับสมดุลธาตุร่างกายได้ เช่น หากร่างกายร้อนจัดต้องใช้อาหารฤทธิ์เย็นช่วยระงับร้อน แต่ถ้าร่างกายร้อนและมีอาการจุกแน่นร่วมด้วยก็ต้องเลือกใช้อาหารที่มีฤทธิ์อุ่น มีคุณสมบัติช่วยระงับร้อนและแก้อาการจุกแน่นได้ เช่น ขิง กระเทียม แต่ต้องใส่ในปริมาณน้อยเพื่อป้องกันอาการร้อนใน
ส่วนอาหารที่ช่วยในการขจัดพิษตับนั้นต้องเป็นอาหารที่ช่วยให้เกิดการระบายถ่ายเทของเสียได้ง่าย ไม่ว่าจะช่วยเสริมในด้านการขับเหงื่อ (ผักสมุนไพรรสเผ็ดร้อนและเครื่องเทศต่าง ๆ) การขับปัสสาวะ (อาหารรสจืดหรือสมุนไพรที่นำมาปรุงอาหารได้บางชนิด เช่น น้ำซุปจากไหมข้าวโพด ใบเตย ตะไคร้ ฯลฯ) การขับถ่าย (อาหารที่มีฤทธิ์ระบาย เช่น มะขามเปียก ใบขี้เหล็ก ฯลฯ) และอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อช่วยขจัดพิษในทางเดินอาหารและเพิ่มประสิทธิภาพการขับถ่าย
ถึงตรงนี้ถ้าคุณยังนึกไม่ออกว่าจะปรุงเป็นอาหารอะไรดี ดิฉันมีเมนูตัวอย่างฝากไว้ให้ทดลองปรุงชิมกันด้วยค่ะ
เมนูเพิ่มพลังตับขจัดพิษ
ส่วนผสม (สำหรับ 1 ที่) เตรียม 20 นาที ปรุง 20 นาที
- เนื้อปลากะพงแดงแล่เป็นชิ้น 60 กรัม
- ถั่วลันเตาลวกสุก 10 ฝัก
- เห็ดหูหนูดำแช่น้ำจนนิ่มลวกสุก 3 ดอก
- ผักกาดขาวลวกสุก 3 ใบ
- กะหล่ำปลีหั่นชิ้นพอคำลวกสุก 8 ชิ้น
- ฟักทองหั่นเป็นชิ้นพอคำต้มสุก 6 ชิ้น
- กระเทียมสับ 1 ช้อนชา
- น้ำมันงา 1 ช้อนโต๊ะ
- ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ
- แป้งข้าวโพด 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำสต๊อกไก่ ⅛ ถ้วย
- แป้งมันสำหรับชุบทอดเล็กน้อย
- เกลือ น้ำตาล พริกไทย อย่างละเล็กน้อย
วิธีทำ
1. โรยเกลือและพริกไทยบนชิ้นปลา นำไปคลุกกับแป้งบาง ๆ แล้วจี่ในกระทะที่ทาน้ำมันบาง ๆ ด้วยไฟกลางจนสุกเหลือง ตักขึ้น พักไว้
2. ใส่น้ำมันงาลงในกระทะ ใส่กระเทียมผัดให้เหลือง ใส่ผักต่าง ๆ ลงผัด ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวและน้ำตาลเล็กน้อย เติมน้ำซุปรอให้เดือดแล้วใส่แป้งข้าวโพดละลายน้ำชิมให้ได้รสเค็มหวานเล็กน้อย ใส่ปลาที่เตรียมไว้ลงคลุกเบา ๆ เป็นอันเสร็จ
3. จัดเสิร์ฟโดยคีบชิ้นปลาวางที่กลางจานและวางผักต่าง ๆ แยกเป็นแต่ละชนิดให้สวยงามและน่ารับประทาน แล้วราดน้ำผัดลงในจานเสิร์ฟ รับประทานกับข้าวสวยร้อนหรือข้าวต้มธัญพืชก็ได้
Tip : สูตรเครื่องดื่มแก้ภาวะไขมันพอกตับเม็ดเก๋ากี้ 1½ ช้อนโต๊ะต้มกับดอกเก๊กฮวย 5 ดอก ดื่มเป็นน้ำชาครั้งละ 1-2 – 1 แก้วเป็นประจำ
สรรพคุณของวัตถุดิบ
- ปลากะพง เป็นอาหารที่ย่อยง่ายมีวิตามินบี 1 และบี 12 ที่ช่วยในการบำรุงตับ บำรุงสมอง
- ฟักทอง ป้องกันภาวะตับเสื่อม และช่วยฟื้นสภาพตับเสื่อม มีวิตามินเอ เบต้าแคโรทีน และวิตามินซี
- ผักกาดขาว ธาตุเย็นขับร้อนและขับของเหลวในร่างกาย ช่วยขับพิษในร่างกาย
- กะหล่ำปลี มีกากใยสูง ช่วยป้องกันไขมันพอกตับ ช่วยในการขับถ่าย
- กระเทียม ช่วยลดไขมันในเลือดและช่วยป้องกันไขมันพอกตับ และไขมันอุดตันในหลอดเลือด
- ถั่วลันเตา รสหวาน ช่วยปรับส่วนกลาง (จงเจียว) ของร่างกาย ถอนพิษขับของเหลวในร่างกาย ขับร้อน
เห็ดหูหนูดำ ช่วยป้องกันภาวะเลือดหนืดถอนพิษ ดับร้อน
พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 554.94 กิโลแคลอรี
โปรตีน 31.98 กรัม ไขมัน 32.45 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 32.58 กรัม ไฟเบอร์ 8.65 กรัม
เรื่องและสูตร : อาจารย์วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร เรียบเรียง : สิทธิโชค ศรีโช ภาพ : พีระพัฒน์ พุ่มลำเจียก ผู้ช่วยช่างภาพ : ทิพย์พนิตา โสตทิพย์ สไตล์ : จารุนันท์ ศรีทองนาก
สูตรอาหารสุขภาพแนะนำ
- แซลมอนสเต๊กราดซัลซ่ามะม่วง ต้านอนุมูลอิสระ
- ซาวร์เคราต์ โฮมเมด สลัดกะหล่ำปลีรสอร่อย
- เปาะเปี๊ยะสดดอกไม้ กับส้มโอ น้ำจิ้มงาชาเขียว
- สลัดผลไม้กับน้ำสลัดขมิ้น สูตรอร่อยวิตามินเพียบ
- เต้าหู้ต้มข่านาเบะ ทำง่ายรสอูมามิแบบไทยๆ
- หม้อนี้ไม่มีเบื่อ เมนูต้านเบื่ออาหารของคนสูงอายุ
- ปลาแซลมอนย่างกับผักโขมผัด และเลมอน เมนูอร่อยสุขภาพดี
- ปลาแซลมอนย่างกับซอสมูสลิน
- ห่อหมกปลาคังใส่กระเทียมดองและวุ้นเส้น เมนูเด็ดสไตล์อาหารอีสาน
- ซูเฟล่ห่อหมกปลากราย เมนูโปรตีนชั้นดี อร่อย เด้งดึ๋ง
- ห่อหมกปลา รสกลมกล่อม แซ่บแบบอีสานเด้อ
- บำบัดมะเร็งเต้านม ด้วยสูตรอร่อยจาก เมี่ยงนพเก้า
- มะม่วงหาวมะนาวโห่โซดา เครื่องดื่มอร่อยชื่นใจ
- สลัดกุ้งย่างกับซอสพริกฮาริสซา สูตรอร่อยเพื่อสุขภาพ
- แซลมอนย่างกับสลัดคีนัว เมนูปลาอร่อย กินแล้วสุขภาพดี