ข้าวญี่ปุ่นหน้ากะหล่ำปลีไข่ขาว เมนูดีช่วยถนอมไต

ข้าวญี่ปุ่นหน้ากะหล่ำปลีไข่ขาว  เมนูดีช่วยถนอมไต โดย แพทย์หญิงกอบกาญจน์  ไพบูลย์ศิลป แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมชาติบำบัด

ไตเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย ไม่ด้อยกว่าอวัยวะสำคัญอื่น เวลาที่สุขภาพเรายังอยู่ในภาวะปกติ เรามักไม่ค่อยเห็นความสำคัญของไตสักเท่าไหร่ ต่อเมื่อร่างกายเริ่มมีปัญหา เช่น ปัสสาวะมีเลือดปนออกมา หรือปัสสาวะเป็นฟอง พร้อมกับมีอาการบวมตามร่างกาย ก็พอบอกได้ว่าไตมีปัญหาค่ะ แต่กว่าที่ไตจะมีปัญหาได้นั้นแสดงว่าเราใช้งานไตหนักมาก เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ลองจินตนาการดูนะคะว่า ถ้าเลือดหนืดเหมือนน้ำเชื่อมผ่านไตวันละ 230 ลิตร จนเหลือมาเป็นปัสสาวะ2.3 ลิตรทุกๆ วันนั้น จะสร้างภาระที่หนักอึ้งให้กับไตเพียงใด

นอกจากไตจะมีหน้าที่กรองของเสียออกทางปัสสาวะแล้ว ยังมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่สำคัญต่อการสร้างกระดูก สร้างเม็ดเลือดแดง และคุมความดันโลหิตอีกด้วย ดังนั้นถ้าอยากให้ไตสุขภาพดีอยู่กับเราไปนานๆ ก็ต้องเลือกกินอาหารที่ไม่ทำให้ไตทำงานหนักยิ่งกว่าเดิม หลักการก็คือ

ไม่กินเนื้อสัตว์มากเกินไป เลี่ยงมากินเนื้อปลาแทน โดยกะปริมาณ คือ 1 ฝ่ามือต่อวัน  สำหรับคนที่เริ่มมีผลเลือดบอกค่าการทำงานของไตผิดปกติ ยิ่งต้องควบคุมโปรตีนให้เหลือ 0.6-0.8 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวันเลย ยกตัวอย่างเช่น คุณหนัก 50 กิโลกรัม โปรตีนที่ควรได้ต่อวันคือ 30 กรัม หรือเป็นเนื้อสัตว์ 1.2-1.5 ขีดต่อวัน และควรเสริมไข่ขาวในอาหาร

งดผงชูรส และอย่าติดเค็ม ห้ามเติมเครื่องปรุง โดยจำกัดปริมาณโซเดียม ไม่เกิน 2400 มก. ต่อวัน ที่มักจะพลาดได้รับโซเดียมสูงโดยไม่รู้ตัวคือ ผงชูรส หรือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต เพราะเป็นโซเดียมที่ไม่เค็ม กินไปปริมาณเท่าไรก็จะไม่รู้ ทำให้ไตทำงานหนัก

งดสารปรุงแต่ง สีสังเคราะห์ สารแต่งกลิ่น เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ไตทำงานหนักโดยไม่จำเป็น

ในกรณีบุคคลที่ไตเริ่มทำงานผิดปกติแล้วให้คุมโพแทสเซียมและฟอสฟอรัส ในอาหารไม่ให้เยอะเกินไปด้วย

โดยโพแทสเซียมจะมีมากในผักใบเขียวจัดๆ เช่น ผักโขม ผักบุ้ง บรอกโคลี มันฝรั่ง มันเทศ มะขามหวาน ส่วนฟอสฟอรัส จะมีมากในกาแฟและน้ำอัดลม จึงต้องพึงระวัง

อาหารที่หมอเลือกแนะนำให้กับคุณในฉบับนี้ จะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการฟื้นฟูสุขภาพไตให้อยู่กับเรานานๆ หมอจึงเลือกใช้ผักในวงศ์ Cruciferae (อ่านว่า ครูซิเฟอเรอี )หรือ พืชวงศ์ผักกาดและกะหล่ำ  ตามหลักของ Doctrine of Signature พืชตระกูลนี้ดำเนินชีวิตอยู่ใกล้กับรากของมันอย่างมาก กล่าวคือแทนที่จะแทงยอดชูช่อขึ้น มันกลับม้วนห่อใบเป็นปม มีใบที่อูมหนา ดังที่เราเห็นในแขนงกะหล่ำ ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ของการบวมน้ำ ดังนั้นจึงมีสรรพคุณ ลดอาการบวมน้ำเฉพาะส่วนได้ อีกทั้งยังเป็นผักที่มีโพแตสเซียมน้อย ดีต่อคนไข้ที่สภาวะไตขับโพแทสเซียมได้ไม่ค่อยดี

ความพิเศษอีกอย่างก็คือ พืชตระกูลนี้มีกลิ่นฉุนของ กำมะถัน (Sulfur) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญกับระบบย่อยอาหาร และการสังเคราะห์โปรตีน ทั้งนี้หลังจากสายโปรตีนถูกสังเคราะห์ด้วยการนำเอากรดอะมิโนมาเรียงต่อกันเป็นโครงสร้างแบบปฐมแล้ว โปรตีนจะต้องมีการนำเอา Sulfur มาเชื่อมต่อกันเพื่อให้สายโปรตีนสามารถขดตัวเป็นโครงสร้างทุติยภูมิได้ อีกทั้งช่วยให้ตับสามารถสังเคราะห์สารกลูตาไธโอน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระตัวสำคัญ เพื่อขับสารเสียออกทางตับได้ดีขึ้น จึงเหมาะกับคนไข้โรคไตที่มักมีปัญหาเกี่ยวกับการสร้างโปรตีน และขับสารเสียต่างๆ

หมายเหตุ  ปัจจุบัน พืชวงศ์ผักกาด ใช้ชื่อวงศ์ ว่า BRASSICACEAE (CRUCIFERAE) (อ่านว่า บราสสาคาซิอี) แต่คุณหมอ อ้างอิงตามตำรา Doctrine of Signature ซึ่งบันทึกไว้ในยุคก่อน จึงยังคงใช้ชื่อ Cruciferae ตามตำราเดิม

ข้าวหน้ากะหล่ำปลีไข่ขาว
ข้าวญี่ปุ่นหน้ากะหล่ำปลีไข่ขาว

ข้าวญี่ปุ่นหน้ากะหล่ำปลี ไข่ขาว

ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่) เตรียม 30 นาที ปรุง 30 นาที

  • กะหล่ำปลีขาว 200 กรัม
  • น้ำสต็อกผัก 500 กรัม
  • ซีอิ้วขาว  2   ช้อนโต๊ะ
  • เกลือ  ¼ ช้อนชา
  • ไข่ขาว 50  กรัม
  • ข้าวญี่ปุ่นขาวหุงสุก  80           กรัม
  • แป้งมัน 1 ช้อนโต๊ะ
  • งาดำ 1 หยิบมือ
  • ต้นหอมซอย  1 หยิบมือ
  • น้ำมันงา  2-3  หยด โรยหน้าอาหารให้มีกลิ่นหอม

วิธีทำ

  1. ตุ๋นกะหล่ำปลีในน้ำสต๊อกผักจนกะหล่ำปลีเปื่อยนุ่ม เติมซีอิ้วขาว และเกลือ
  2. ตักน้ำที่ตุ๋นกะหล่ำปลีออกมา 200 กรัม ใส่ในกระทะตั้งไฟอ่อนๆ เทไข่ขาวลงในกระทะให้หยดเป็นสาย พอไข่ขาวสุกจึงเติมแป้งมันลงไป คนจนแป้งสุก
  3. ตักข้าวใส่ภาชนะ ตามด้วยกะหล่ำปลีที่ตุ๋นไว้ ราดด้วยน้ำราดในกระทะ
  4. โรยต้นหอม งาดำ และน้ำมันงา

พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 163.16 กิโลแคลอรี
โปรตีน 6.99 กรัม ไขมัน 3.63 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 25.84 กรัม ไฟเบอร์1.67 กรัม

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.