หลุยส์ เบรลล์ ชายตาบอด ผู้สร้าง อักษรเบรลล์ ให้คนตาบอดทั่วโลกได้อ่านหนังสือ
เคยสงสัยไหมว่า คนเรารู้เรื่องราวในอีกมุมโลกผ่านหนังสือ มันทำให้เราขยายขอบฟ้าแห่งปัญญาออกไปมากต่อมาก แต่สำหรับคนพิการทางสายตาแล้ว เขาก็ขยายขอบฟ้าทางปัญญาได้เหมือนเรา ผ่านการสัมผัส อักษรแสนมหัศจรรย์ที่เรียกว่า อักษรเบรลล์
ในโลกที่มืดมน ไม่มีแม้แต่จุดเล็กๆ ของแสงสว่างเล็ดลอดมาให้เห็น เวลาแต่ละนาทีดูจะเนิ่นนานแทบไม่มีสิ้นสุด… แต่หากวันใดมีมือมือหนึ่งยื่นแสงสว่าง “เปิดโลก” ใบนี้ให้ตื่นจากความมืดมิด คำว่า “ขอบคุณ” คงน้อยเกินไปที่จะมอบให้เจ้าของมือคู่นั้น
หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) ครูตาบอดชาวฝรั่งเศส คือผู้คิดประดิษฐ์อักษรสัมผัสสำหรับผู้พิการทางสายตาขึ้น ด้วย “จุดเล็กๆ” เพียงไม่กี่จุด แต่สามารถสื่อสาร สร้างความเข้าใจได้นับล้าน ๆ ความหมาย
“หลายคนอาจดูแคลนว่า การมองไม่เห็นทำให้เราถูกปิดตายจากโลก ตกอยู่ในความไม่รู้ เพียงเพราะสื่อสารกับใครไม่ได้ แต่ผมจะทำทุกวิถีทาง สุดความรู้ความสามารถที่มี เพื่อลบล้างความรู้สึกเหล่านั้นให้จงได้”
เบรลล์เกิดเมื่อ 4 มกราคม ค.ศ. 1809 ที่เมือง Coupvray ใกล้กรุงปารีส ในครอบครัวเล็กๆ ของช่างทำเครื่องหนัง ทว่าด้วยวิสัยแบบเด็กๆ ที่ชอบเลียนแบบผู้ใหญ่ อุบัติเหตุร้ายแรงจึงเกิดขึ้น เมื่อเบรลล์พลาดท่าทำเหล็กแหลมทิ่มเข้าตาซ้ายอย่างจัง เป็นผลให้เด็กชายสูญเสียการมองเห็นไปข้างหนึ่งทันทีในวัยเพียงสามขวบ
พ่อกับแม่พยายามให้การรักษาเบรลล์อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่แล้วโชคชะตาก็เล่นตลกอีกครั้ง เมื่อตาขวาของเบรลล์เริ่มติดเชื้อและอักเสบอย่างรุนแรงจนสุดจะแก้ไขเยียวยา เบรลล์ตาบอดทั้งสองข้างขณะอายุเพียงสี่ขวบ
แม้ว่าทางบ้านจะเสียใจมากเพียงใดที่อนาคตของเบรลล์ต้องสะดุดลง แต่ชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไป ทุกคนจึงเป็นกำลังใจร่วมฝ่าฟันอุปสรรคไปพร้อมกับเบรลล์ เพื่อที่เขาจะได้ทำกิจกรรมทุกอย่างเช่นเด็กปกติ
ด้วยความพยายามและตั้งใจอย่างสูงจากการ “จับน้ำเสียงและผิวสัมผัส” เป็นผลให้เบรลล์สามารถเรียนหนังสือได้เช่นเด็กปกติ แม้จะช้ากว่าเพื่อน ๆ อยู่บ้างก็ตาม หลายครั้งที่เขาพยายามอ่านหนังสือที่ออกแบบให้มีความนูนพิเศษเพื่อผู้พิการทางสายจา แต่ก็ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าเขาจะทำความเข้าใจได้
เด็กชายเบรลล์ในวัยสิบสองปีจึงเกิดความคิดวนเวียนไปมา “ทำอย่างไรให้คนที่มองไม่เห็นสามารถมีความรู้ได้เพียงแค่สัมผัสจากปลายนิ้ว” จนกระทั่งวันหนึ่ง นายทหารแห่งกองทัพบกฝรั่งเศสได้มาเยี่ยมโรงเรียนพร้อมกับแนะนำสิ่งประดิษฐ์ทางทหาร ที่สามารถสื่อสารกันได้โดยปราศจากเสียง และกระทำได้แม้ในความมืด
สัญลักษณ์และความหมายซึ่งแทนด้วยระบบสัมผัส 12 จุดสลับไปมา แม้จะยากต่อการทำความเข้าใจของเหล่าทหาร แต่สำหรับเบรลล์แล้ว แนวคิดนี้กลับช่วยสานฝันเล็กๆ ของเขาให้เป็นจริงได้ง่ายขึ้น ด้วยการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกอยู่ราว 2-3 ปี อักษรสัมผัสของเบรลล์ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และใช้จุดเพียงตแค่ 6 จุดเท่านั้น
เนื่องจากเป็นระบบอักษรที่ง่ายต่อการสัมผัส สามารถประสมคำได้ทันที จึงทำให้เรียนรู้หนังสือได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ต่อมาอีกเพียงไม่กี่ปี เบรลล์ได้เพิ่มหมวดหมู่ของสัญลักษณ์ทางดนตรี คณิตศาสตร์ และชวเลขลงไปอีก เพื่อให้ครอบคลุมศาสตร์ความรู้ ขณะนั้นให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมกันนี้ยังไม่ได้นำไปทดลองใช้ในผู้พิการทางสายตาหลายสิบคน ซึ่งทั้งหมดต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันถึงประโยชน์ของอักษรสัมผัสนี้
เบรลล์ได้รับยกย่องว่าเป็นคุณครูสอนนักเรียนตาบอดที่เยี่ยมยอดมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย รวมทั้งเป็นนักดนตรีฝีมือดีที่ได้รับการยอมรับ แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขมักผ่านไปอย่างรวดเร็วเสมอ เขาล้มป่วยลงด้วยวัณโรค อาการรุนแรงและทรุดหนักลงอย่างรวดเร็ว เบรลล์เสียชีวิตในวัยเพียง 43 ปี เมื่อปี 1852
สองปีต่อมา รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศใช้อักษรสัมผัสของเบรลล์ อย่างเป็นทางการ และเผยแพร่อักษรนี้ไปทั่วโลกในนามของ อักษร เบรลล์ นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุด เขาได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษแห่งฝรั่งเศสในปี 1952
ด้วยมือทั้งสอง สมอง และหัวใจ ทำให้หลุยส์ เบรลล์ เปรียบเสมือนเปลวไฟอันโชติช่วงที่ทำให้โลกอันมืดมิดของคนตาบอดทั่วโลก เปิดกว้างด้วยแสงสว่างแห่งปัญญา
ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 13
ผู้เขียน/แต่ง : วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์
ภาพ :
บทความน่าสนใจ
เพราะ รักหมดใจ คุณตายอมเรียนแต่งหน้าเพื่อมาแต่งให้ภรรยาตาบอด
อัลลัน เฮนเนสซี ผู้ลี้ภัยตาบอด คว้าเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากเคมบริดจ์
เฮเลน เคลเลอร์ เพราะพลังแห่งรัก และกำลังใจ เธอจึงมีวันนี้
ดีเร็ก ราเบโล นักเซิร์ฟ มืออาชีพตาบอด หนึ่งเดียวในโลก
สงสัยไหม คนตาบอดอ่าน-เขียนหนังสือได้อย่างไร
True Story: ตาบอด ไฟไหม้ ถูกโกงเงิน แต่ฉันก็ยัง อยู่ได้!
เมื่อเด็กตาบอดกลายเป็นศิลปิน | กรุณาสัมผัส (Please Touch Exhibition)