ม.ล.นรานุกูล ชุมพล

ชีวิตสูงส่ง (?) ของราชนิกุลข้างถนน – ม.ล.นรานุกูล ชุมพล

ในโลกที่ผู้คนนับถือกันที่ทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง  เกียรติยศ  ชื่อ “หม่อมหลวงนรานุกูล ชุมพล” อาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าผมมีชีวิตที่มีความสุข   สะดวกสบาย  ราบรื่น   หรือถึงขั้นสูงส่งหรูหรา  แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม

ผมมีชีวิตที่ล้มลุกคลุกคลานยิ่งกว่าคนธรรมดาสามัญเสียอีก

ผมเป็นลูกของ หม่อมราชวงศ์ประสาท ชุมพล ต้นตระกูลของผมมาจากสายรัชกาล ที่ 4 สมัยหนึ่งคุณพ่อผมต้องขึ้นโรงขึ้นศาลฟ้องร้องพี่น้องต่างมารดาเพื่อเรียกร้อง สิทธิ์ในทรัพย์สิน จนได้สมบัติมาราวห้าสิบกว่าล้านบาท ถ้าเทียบกับค่าเงินสมัยนี้ก็คงเกือบ ๆ หนึ่งพันล้านบาท

คุณแม่ผมเป็นภรรยาคนที่สองของคุณพ่อ ท่านมีลูกด้วยกัน 3 คน ผมเป็นลูกคนกลาง คุณพ่อกับคุณแม่แยกทางกันตั้งแต่ผมกับพี่ชายยังเล็ก ๆ พวกท่านทะเลาะกันแย่งสิทธิ์เลี้ยงดูพวกผม และคุณพ่อได้สิทธิ์นั้น คุณพ่อนำผมกับพี่ชายไปฝาก​เข้าเรียนที่โรงเรียนปานะพันธุ์วิทยาในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ ผมได้เจอหน้าคุณพ่อปีละแค่ไม่กี่ครั้ง ส่วนช่วงปิดเทอม แทนที่จะได้กลับบ้านไปอยู่กับพ่อบ้าง เราพี่น้องต้องไปอยู่ที่บ้านคุณครู ซึ่งคุณพ่อจ่ายเงินให้เพื่อเป็นค่าเลี้ยงดูพวกเราทุกปิดเทอม

ผมมีชีวิตวัยเด็กที่ว้าเหว่มาก จนบางทีก็อดคิดตามประสาเด็กไม่ได้ว่า พ่อแม่ไม่รักและไม่ห่วงใยเราเลย แต่ยังโชคดี ที่ผมได้เรียนในโรงเรียนปานะพันธุ์ฯซึ่งเป็นโรงเรียนที่ดีมาก ผมได้รับการอบรมสั่งสอน ทั้งเรื่องจารีตประเพณี การเคารพผู้ใหญ่ การช่วยเหลือตัวเอง การอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นพื้นฐานชีวิตที่สำคัญของผม

แต่น่าเสียดายที่ผมได้เรียนที่โรงเรียนนี้ถึงแค่ชั้น ป.3 มารู้ตอนโตว่า ที่คุณพ่อ ให้เราลาออกจากโรงเรียนในตอนนั้นก็เพราะท่านไม่มีเงินแล้ว หลังลาออก ผมต้องเปลี่ยนโรงเรียนอีกหลายหน จนในที่สุดก็จบชั้น ม.3 ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ

ช่วงใกล้จบ ม.3 ผมพอจะรู้ตัวแล้วว่า ถึงเรียนจบก็คงไม่ได้เรียนหนังสือต่อ ก็เลยคิดที่จะหางานทำเพื่อเลี้ยงตัวเอง ผมไปสมัครงานเป็นเด็กเสิร์ฟและล้างจานในร้านอาหาร และเคยเดินเร่ขายของในตลาดนัดสวนจตุจักร ต่อมาผมไปปรึกษาครูที่ปรึกษาชื่อ “ครูกัลยาณี” ท่านจึงพาผมไปนั่งขายกระทงที่แดนเนรมิต ผมคิดว่าท่านคงจะลองใจผม ว่าจะตั้งใจทำงานจริง ๆ หรือแค่ทำเล่น ๆ สนุก ๆ เท่านั้น พอท่านเห็นผมเอาจริง ลำบากจริง ท่านก็ออกเงินซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานให้ผมชุดหนึ่ง เป็นเสื้อเชิ้ตแขนยาว 1 ตัว กางเกงขายาว 1 ตัว ถุงเท้า รองเท้า เน็คไท

ม.ล.นรานุกูล ชุมพล
เครดิตภาพ @เฟซบุ๊ก ม.ล.นรานุกูล ชุมพล

เมื่อย้อนคิดไปถึงตอนนั้น ผมก็ยังรู้สึกตื้นตันใจมาจนถึงตอนนี้ ตอนนั้นผมเป็นเด็กอายุ 15 แม้ว่าจิตใจจะค่อนข้างเข้มแข็ง แต่ความจริงแล้วผมยังขาดปัจจัยอีกมาก ในการเอาตัวรอดบนโลกใบนี้ ผมถือว่าเสื้อผ้าชุดนั้นเป็นเครื่องช่วยชีวิตของผมเลยก็ว่าได้

นอกจากให้ “ชุดทำงาน” แล้ว คุณครู กัลยาณียังแนะนำให้ผมทำงานเป็นพนักงานขายเครื่องครัว ตอนนั้นถ้าไม่มีครูคอยชี้แนะ ผมก็คงไม่รู้ว่าจะไปทำมาหากินทางไหน เพราะอายุก็ยังไม่ถึงวัยที่คนจะรับเข้าทำงาน หนำซ้ำพอคนเห็นชื่อเห็นนาม- สกุล เขาก็แทบไม่อยากรับผมเข้าทำงานแล้ว เพราะกลัวว่าเดี๋ยวพ่อแม่จะมาตาม ส่วนใหญ่จะคิดว่าผมคงเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทำงานไม่ไหว ไม่จริงจัง

แต่งานนี้เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ผมอยู่รอด ผมต้องจริงจังและตั้งใจให้ถึงที่สุด

ทุก ๆ วัน ผมต้องเดินแบกเครื่องครัว ซึ่งหนักประมาณ 7 กิโลกรัมขึ้น-ลงรถเมล์ ไปแวะตามบ้านเรือนเพื่อสาธิตการใช้งาน และเชิญชวนให้เขาซื้อ ผมเดินเคาะประตูบ้านคนตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าถึงสามทุ่ม ผมไปทุกที่เท่าที่จะมีแรงแบกของไปถึง งานเซลส์- แมนแบบนี้ได้ค่าคอมมิชชั่นเยอะก็จริง แต่ถ้าขายไม่ได้ก็แทบไม่มีเงินกินข้าว ผมจึงใช้วิธีกินข้าวทีละครึ่งอิ่ม มื้อนี้กินแค่ครึ่งจานก่อน เหลืออีกครึ่งจานไว้กินมื้อถัดไป ผมกินไม่เคยอิ่มอย่างนี้จนเป็นเรื่องปกติ

ช่วงนั้นผมยังอาศัยอยู่กับคุณพ่อ แต่ก็ไม่ค่อยสะดวกนักเพราะท่านก็มีครอบครัวใหม่ ผมจึงไปอาศัยนอนในโรงเรียนสอนวิชาชีพของคุณครู มีอยู่ 2 – 3 คืนที่ผมทำงานจนดึก กลับมาไม่ทัน ประตูโรงเรียนปิดเสียก่อน ผมจึงต้องไปนอนตรงป้ายรถเมล์ บางคืนผมนั่งมองรถที่ผ่านไปผ่านมา แล้วก็อดตัดพ้อกับตัวเองไม่ได้ว่า ‘ความเป็นราชนิกุลให้อะไรกับเรากันแน่ ไม่เห็นมันจะให้อะไรกับเราเลย ไปขอความช่วยเหลือใครก็ไม่ได้ กลัวจะเป็นการประจานตระกูลตัวเอง เวลาลำบากก็มีแต่คนเยาะเย้ยสมน้ำหน้า เป็น ‘หม่อมหลวง’ แล้วดีตรงไหน’

ตอนหลังพอเริ่มมีเงินเก็บ ผมก็ออกมาเช่าหอพักเดือนละ 500 บาทรวมน้ำไฟ หลังจากขายเครื่องครัวได้ 1 ปีกับ 7 เดือน ผมก็ลาออกไปขายประกัน ระหว่างทำงานผมพยายามหาทางเรียนต่อ แต่การเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยมันหนักเกินไปสำหรับ ผม สุดท้ายผมก็เรียนไม่จบ เงินที่สะสมไว้ก็หมดไป บางวันผมไม่ได้กินอะไรเลยนอกจากน้ำก๊อก เพราะล้วงกระเป๋าแล้วไม่เหลือเงินเลยสักบาท

ผมเห็นป้าเจ้าของหอเลี้ยงสุนัขไว้หลายตัว ทุกวันป้าจะต้มซี่โครงหมูซี่โครงไก่แล้วเอามาให้สุนัขกิน บางวันผมทนหิวไม่ไหวก็จะไปแอบหยิบซี่โครงไก่ที่ป้าต้มไว้มากิน บางวันไปเร็วก็ตักทันตั้งแต่มันยังอยู่ในหม้อ บางวันไปไม่ทันป้าเทใส่รางข้าวหมาแล้ว ผมก็ไม่ถือ เพราะอย่างไรก็ช่วยประทังหิวไปได้มื้อหนึ่ง แต่ป้าคงสังเกตเห็น เพราะ หลัง ๆ แกจะเรียกให้ผมกินข้าวด้วยกัน

…เทวดานางฟ้าของผมมีอยู่ทุกที่จริง ๆ

ตอนนั้นผมเหมือนคนหลงป่า อะไรที่ทำแล้วมีชีวิตรอดผมก็ทำ ผมเชื่อว่า การแย่งหมากินบ้างก็ยังดีกว่าการทำความชั่ว หากเรามองการกินต้มโครงหมูโครงไก่ของสุนัขเป็นสิ่งเลวร้าย มันก็คงเลวร้ายในสายตาของเรา แต่ถ้ามองสิ่งนี้เป็นพลัง นั่นก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนเราไปสู่ความสำเร็จ

ชีวิตผมลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่พักหนึ่ง แล้วจุดเปลี่ยนก็มาถึงจริง ๆ ตอนอายุ 18 – 19 ผมตระเวนทำงานไปเรื่อย ๆ จนได้บรรจุเข้าเป็นพนักงานขายในบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้เรียนรู้งานในวงการโฆษณา ได้พบปะลูกค้า ช่วงอายุ 20 ปี ผมไม่ฝันอะไรเลย นอกจากอยากจะเป็น เออี (AE: Account Executive) ให้ได้ งานเออีต้องหาลูกค้าและต้องดูแลลูกค้า อีกทั้งยังได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์แบบไม่จำกัด ทำแล้วสนุกและได้เงินดี

งานเออีงานแรกที่ผมได้ทำนั้นเป็นงานที่มีคนแนะนำให้ แต่ใช่ว่าแนะนำแล้วผมจะได้ทำเลย เพราะผมไม่มีวุฒิการศึกษาและไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เจ้าของบริษัทจึงตั้งเป้าให้ผมหางานจากลูกค้าเป็นมูลค่า สิบล้านให้ได้ในเวลาที่กำหนด ซึ่งปรากฏว่าผมทำได้จริง ๆ หลังจากทำงานบริษัทนั้นได้ไม่นาน ผมก็สามารถเก็บเงินแล้วลาออก มาเปิดบริษัทเอเจนซี่ร่วมกับเพื่อน ๆ

ต่อมาบริษัทนี้ก็ขยับขยายเติบโตขึ้น เพื่อน ๆ ออกรถใหม่กันทุกคน ส่วนผมแม้ว่าจะยังไม่กล้าซื้อรถของตัวเอง แต่ก็มีชีวิตที่สุขสบายขึ้นมาก ผมได้จับเช็คมูลค่าหลายล้านบ่อย ๆ ได้เขียนเช็คที่มีเลขศูนย์ต่อท้ายหลาย ๆ ตัว นับว่าผมมาไกลจากสมัยที่ยังเดินย่ำไปตามซอยต่าง ๆ เพื่อเคาะประตูขายของตามบ้านมากทีเดียว

แต่แล้วอะไร ๆ ที่ทำท่าว่าจะดีก็กลับพังทลายลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุก็ไม่ใช่ใครเลย ผมโทษตัวผมเองนี่แหละ ผมก็เหมือนคนที่ประสบความสำเร็จ (เล็ก ๆ) ในขณะที่อายุ ยังน้อย จึงขาดความยับยั้งชั่งใจ ลาภสรรเสริญที่ผ่านเข้ามาได้พากิเลสติดตามมาด้วย ผมหลงระเริงกับความสำเร็จ ไม่รู้จักวางแผนการเงิน ละเลยไม่ยอมดูแลลูกค้าให้ดี ซ้ำร้ายยังนอกใจแฟนที่วางแผนว่าจะแต่งงานกัน นอกจากนี้ก็มีคนคอยยุยงให้ผมและเพื่อน ๆ แตกคอกัน ในที่สุดบริษัทที่เป็นดาวรุ่งก็กลายเป็นดาวร่วง และต้องปิดตัวลงในที่สุด

ม.ล.นรานุกูล ชุมพล

ผมพยายามจะตั้งบริษัทเอเจนซี่ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ผมต้องเปลี่ยนอาชีพมาเป็นออร์แกไนเซอร์จัดพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า งานนี้เป็นงานใช้แรง ถ้าเป็นคนอื่นเขาต้องใช้ลูกน้องร่วมสิบคน แต่ผมมีปัญญาจ้างลูกมือแค่ 2 – 3 คนเท่านั้น ช่วงนั้นผมทำงานเลิกเอาเกือบสว่างทุกวัน ร่างกายทรุดโทรมไม่ต่างจากศพเดินได้ ที่สำคัญคือมันเป็นงานที่ผมไม่ได้รัก ไม่อยากทำเลย แต่ก็ไม่รู้จะไปทำอะไรแล้ว ครั้นจะไม่ทำก็ไม่ได้ บางช่วงผมรู้สึกท้อใจมาก คิดว่าทำไมชีวิตเราถึงเป็นแบบนี้ ทำไมถึงมีอุปสรรคเยอะเหลือเกิน แต่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งก็บอกให้ผมดูพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นแบบอย่าง พระองค์ทรงมีชาติกำเนิดสูงส่ง จะประทับเฉย ๆ ในวังอย่างสะดวกสบายอย่างไรก็ได้ แต่ท่านก็เสด็จฯออกช่วยเหลือประชาชน ทรงข้ามเขาไม่รู้กี่ลูกต่อกี่ลูก บางคืนก็ต้องประทับข้างทาง ลำบากแสนลำบาก ที่ผมว่าตัวเองลำบากแทบตายนั้น เทียบกับพระองค์แล้วเล็กน้อยขี้ประติ๋วมาก ๆ

การมีผู้ชี้แนะอย่างนั้นทำให้ผมเห็นความจริงชัดเจนขึ้น คือ เห็นว่าพระองค์ทรงเสียสละจริง ๆ และสิ่งที่ทรงกระทำก็มีคุณค่าจริง ๆ หลังจากนั้นเวลาผมเกิดความท้อแท้ใจ ก็จะรำลึกถึงพระองค์เสมอ

ยิ่งในเวลาต่อมา กัลยาณมิตรท่านหนึ่ง คือ คุณอาวิชิต เดชสุนทร ได้แนะนำให้ผมได้รู้จักคนในวงการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้มาเป็นผู้ผลิตรายการ “76 จังหวัดตามหาคนดี” ก็ยิ่งทำให้ผมเข้าใจว่าชีวิตเราควรดำเนินไปทางไหนชัดเจนขึ้น

เทปแรกที่ถ่ายทำ ผมได้พบกับ คุณลุงสัมฤทธิ์ มาลัย ซึ่งอาสากวาดขยะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยที่ไม่มีใครจ้าง แต่ทำเพราะอยากให้บ้านเมืองสะอาด ตอนผมไปเยี่ยมคุณลุง ที่พักของลุงสัมฤทธิ์เป็นเพียงซอกหลืบเล็ก ๆ ในโรงลิเก ฝาห้องมีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชติดอยู่เต็มไปหมด เพราะพระองค์ก็เป็นพลังใจให้คุณลุงเหมือนกัน พื้นบ้านเป็นไม้กระดานหนึ่งแผ่น ด้านล่างเป็นแอ่งน้ำครำ ลุงสัมฤทธิ์มีมุ้งหนึ่งหลังเล็ก ๆ ไว้กันยุง พอ เอามุ้งลง คุณลุงก็หลับปุ๋ย…

คุณลุงไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย แต่ผมรู้สึกว่าคุณลุงเป็นคนที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน ความดีความเสียสละทำให้คนเราเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ และนับจากเทปแรกจนถึงตอนนี้ ผมมีโอกาสได้ไปเจอคนที่มีจิตใจยิ่งใหญ่เหมือนคุณลุงอีกเกือบร้อยคนแล้ว แต่ละท่านให้บทเรียนที่ล้ำค่า จนผมไม่ได้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในความเป็นหม่อมหลวงตกยากของ ตัวเองอีกเลย และยิ่งผมก้าวเท้าออกไปทำรายการไกลเท่าไร ผมก็ยิ่งเห็นความงดงามของสิ่งที่มนุษย์พึงกระทำต่อกันมากขึ้นเท่านั้น

ผมรู้แล้วว่าการเป็นราชนิกุลไม่ได้มีความหมายอะไรเลย ถ้าเราไม่ได้ทำประโยชน์แก่ส่วนรวมและประเทศชาติ

วันนี้ผมรู้แล้วว่า ราชนิกุลแบบไหนที่ผมอยากเป็น

 

คำแนะนำจากพระอาจารย์ไพศาล  วิสาโล

นี่คือแบบอย่างของผู้ที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค แม้วัยเด็กจะลำบากแสนเข็ญ แต่ก็ฟันฝ่ามาได้ด้วยความพากเพียร โดยไม่มัวก่นด่าชะตากรรม หรือหันไปใช้วิธีการที่ผิดศีลผิดธรรม ซึ่งมีแต่จะทำให้ชีวิตตกต่ำลงไปอีก ดังคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า “บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร”

เรื่องนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ความยากลำบากหล่อหลอมให้เราเข้มแข็งและปูทางสู่ความสำเร็จ ความสำเร็จก็สามารถผลักเราสู่ความตกต่ำได้หากประมาทหรือลืมตัว ดังนั้น ยามใดที่ประสบความสำเร็จจะต้องตั้งสติให้ดี อย่าหลงตัว และควรมีกัลยาณมิตรคอยตักเตือน

ความเป็นราชนิกุลนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากยึดติดถือมั่นก็ทำให้หลงตัวลืมตนจนดูถูกผู้อื่นหรือเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ แต่ถ้ารู้จักใช้ ก็เป็นเครื่องเตือนใจให้หมั่นทำความดี ให้สมกับที่ผู้คนยกย่องนับถือ ชาติวุฒิฉันใด วัยวุฒิและคุณวุฒิ (ทางการศึกษา) ก็ฉันนั้น ไม่สำคัญเท่ากับคุณธรรมความดี คนดีแม้ไม่มีวุฒิใด ๆ เลย มีคุณค่าต่อโลก มากกว่าคนที่เพียบพร้อมด้วยวุฒิ แต่ห่างไกลจากความดี

 

ที่มา : นิตยสาร Secret

เรื่อง : สุกัญญา,  เสาวลักษณ์

ภาพ : วรวุฒิ  วิชาธร

Secret Magazine (Thailand)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.