บุญมากหรือบาปน้อย – บางครั้งทำน้อยแต่บาปมาก บางคราทำมากแต่ได้บุญน้อย มีเกณฑ์อะไรในการตัดสิน คำถามแบบนี้ละเอียดอ่อนและตอบยากมาก ๆ
คืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในปีหนึ่ง ผมเคยเข้าร่วมกิจกรรมการสวดมนต์ข้ามปี ระหว่างคืนนั้นมีพระอาจารย์หลายท่านสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นบรรยายธรรม แต่มีพระอาจารย์ท่านหนึ่งทำให้ผมตื่นจากความง่วงได้ด้วยการเสนอทฤษฎี “บาปมากหรือบุญน้อย จะใช้อะไรเป็นบรรทัดฐานในการวัดผล”
ระหว่างการบรรยาย พระอาจารย์มีแผนภูมิและภาพประกอบอย่างน่าสนใจ พระอาจารย์เริ่มยกตัวอย่างแรกว่า หากเรากินกล้วยแล้วทิ้งลงบนทางเท้า แล้วคนอื่นเดินมาเหยียบเปลือกกล้วยลื่นล้มหัวฟาดพื้นตาย เปรียบเทียบกับอีกกรณี เราเห็นคู่อริของเราเดินบนทางเท้าตามหลังเรามา แล้วเราขว้างเปลือกกล้วยไป โดยจงใจให้คู่อริลื่นล้มหัวฟาดพื้นตาย สองกรณีนี้แบบไหนบาปมากกว่ากัน
เริ่มแรกต้องมาคำนวณกันก่อนว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ทั้งสองกรณีนี้ผลกระทบคือ มีคนตาย 1 คนเหมือนกัน คราวนี้ก็ต้องมาพิเคราะห์กันต่อในเรื่องของ เจตนาและการจงใจให้เกิดขึ้น แบบนี้ก็จะได้ผลออกมาชัดเจนว่า กรณีแรกไม่ได้มีเจตนาจะฆ่าใคร แต่บังเอิญมีคนมาเหยียบเปลือกกล้วยของเราแล้วฟาดพื้นตาย ส่วนกรณีที่สองมีเจตนาที่จะให้คู่อริลื่นล้มด้วยเปลือกกล้วยที่เราขว้างไป แม้เราอาจไม่ได้อยากให้ถึงตายก็ตาม หากเปรียบด้วยจิตสำนึกสามัญแล้วก็เป็นอันชัดเจนว่า กรณีที่สองย่อมบาปมากกว่า
แค่เรื่องนี้ก็ทำให้ผมอุทานเบา ๆ ด้วยความอัศจรรย์ใจแล้ว
แต่มืออาชีพอย่างพระอาจารย์ไม่มีทางมีแค่ตัวอย่างเดียว
พระอาจารย์ยกตัวอย่างที่สองต่อว่า ลองเปรียบเทียบอีกที เหตุการณ์แรก เราวางแผนโกงเงินบริษัทที่เราทำงานอยู่แล้วได้เงินไปจำนวน 100,000 บาท ส่วนเหตุการณ์ที่สอง เราวางแผนโกงที่ของคุณยายแก่ ๆ คนหนึ่ง ได้เงินไป 100,000 บาทเท่ากัน ทั้งสองเหตุการณ์ถ้าพิเคราะห์ที่เจตนาแล้ว เรามีเจตนาทำผิดทั้งสองเหตุการณ์ เมื่อเจตนาเสมอกันแบบนี้ ก็ต้องมาดูที่ผลของเจตนาของเราต่อไป
ผลของเหตุการณ์แรกคือ บริษัทเสียเงินไป 100,000 บาท อาจทำให้ขาดทุนไปบ้าง แต่บริษัทอาจไม่ถึงกับล้มหรือต้องปิดกิจการลงเพียงเพราะเงินจำนวนเท่านี้ ส่วนเหตุการณ์ที่สอง ยายแก่คนนี้อาจมีที่ดินนี้เป็นผืนสุดท้ายที่จะเอาไว้ทำมาหากินและส่งต่อเป็นมรดกให้แก่ลูกหลาน เราไปโกงคุณยายคนนี้มา อาจทำให้ครอบครัวคุณยายถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัวและเดือดร้อนกันรุ่นต่อรุ่น เพราะฉะนั้นก็ชัดเจนว่า เหตุการณ์ที่สองย่อมบาปมากกว่า
แบบนี้สรุปได้ว่า บาปมากหรือบาปน้อยขึ้นอยู่กับสองตัวชี้วัด คือ หนึ่ง เจตนาในการทำให้บาปนั้นเกิดขึ้น สอง ผลกระทบที่ตามมาจากการทำบาปนั้นมากน้อยแค่ไหน โลกได้รับผลกระทบมากก็บาปมาก โลกได้รับผลกระทบ น้อยก็บาปน้อย
จบการบรรยายของพระอาจารย์ ผมยกมือท่วมหัว
ทุกอย่างในหัวกระจ่างแจ้งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อพระอาจารย์ลงจากเวทีแล้ว เจ้าหน้าที่ยกแผนภูมิและภาพประกอบลงมาวางด้านข้างเวที ผมจึงเดินเข้าไปชื่นชม และทำความเข้าใจใกล้ ๆ อีกครั้ง
ในใจคิดว่า นี่มันคือนวัตกรรมและทฤษฎีบาปบุญที่สมบูรณ์ที่สุดในโลกยุคนี้ ทันโลกทันสมัย และเข้ากับยุคดิจิทัลเป็นอย่างยิ่ง มันควรถูกส่งต่อและเผยแพร่สู่ผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ระหว่างกำลังนั่งชื่นชมทฤษฎีนี้อยู่ก็มีใครคนหนึ่งมาสะกิดไหล่ผมจากด้านหลัง ผมหันไปพบพระอาจารย์เจ้าของทฤษฎี “เป็นไงโยม พอใช้ได้ไหม” ผมทรุดลงนั่ง และยกมือไหว้พระอาจารย์ จากนั้นก็สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกันพักใหญ่ ผมบอกพระอาจารย์ก่อนที่จะแยกจากกันว่า “นี่คือธรรมะยุคใหม่ที่ไร้ข้อกังขา สามารถเข้าถึงผู้คนได้อย่างง่ายดาย” พระอาจารย์ตอบทิ้งท้ายก่อนจากว่า
“ธรรมะอยู่มาได้สองพันกว่าปี เป็นความจริงแท้ที่ไม่เคยล้าสมัย เรียบง่าย และไร้ข้อกังขา”
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง นับหนึ่ง