นิทานสอนใจ ” พระเจ้าอโศก ” ขุนศึกหน่ายสนามรบ
พระเจ้าอโศก แห่งเมืองปาฏลิบุตรเข้ากระทำศึกสงครามมาตั้งแต่เพิ่งสำเร็จวิชา เจ้าชายหนุ่มองค์นี้เข่นฆ่าประหัตประหารผู้คนมานับไม่ถ้วน มนุษย์ผู้ใดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นข้าศึกศัตรู คมดาบของเจ้าชายอโศกไม่เคยละเว้นชีวิตของผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้นเลย
ยิ่งสังหารชีวิตผู้คนได้มากเท่าไร กิตติศัพท์ทางการศึกของพระองค์ก็ยิ่งขจรขจาย อาณาจักรของพระองค์แผ่ขยายจนเจ้าชายอโศกขึ้นครองราชย์เป็น “พระเจ้าอโศกมหาราช” ภารกิจของพระองค์ในยามนั้นไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าการทำสงครามเพื่อขยายอาณาจักร แม้จะต้องเข่นฆ่าพี่น้องร่วมสายโลหิต พระองค์ก็ไม่ทรงละเว้น
อำนาจ ลาภยศ ตำแหน่ง ทรัพย์สิน บริวาร พระองค์ทรงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งสมบัตินอกกายเหล่านั้น แต่แล้ววันหนึ่งรอยเลือดและคราบน้ำตาที่หลั่งไหลท่วมแผ่นดิน ก็ทำให้พระเจ้าอโศกทรงตั้งคำถามถึงบาปที่ตนได้ก่อกรรมทำเข็ญว่า แท้จริงแล้วการฆ่าฟันเป็นคำตอบเดียวของการปกครองจริงหรือ
แล้วพระองค์ก็ทรงพบคำตอบว่าไม่จริง เพราะถึงแม้พระองค์จะขยายอาณาจักรจนจรดขอบฟ้า แต่ประชาชนของพระองค์ยังคงยากจนทนทุกข์อยู่เช่นเดิม และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ขุนศึกอย่างพระองค์หน่ายสนามรบ
เมื่อว่างเว้นจากสมรภูมิรบ จิตใจของพระเจ้าอโศกก็ว่างพอจะคิดทำประโยชน์อื่น เมื่อได้มีโอกาสพบกับพระสมุทระ พระเจ้าอโศกจึงทราบพุทธพยากรณ์จากพระสมุทระว่า ตัวพระองค์เองจะเป็นผู้แจกจ่ายพระบรมสารีริกธาตุให้แพร่หลายกว้างไกลออกไป
เมื่อทราบดังนั้น พระเจ้าอโศกจึงไม่รอช้า โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหีบทองคำและหีบเงินแปดหมื่นสี่พันใบ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนำไปประดิษฐานในพระสถูปเจดีย์แปดหมื่นสี่พันองค์ ที่สร้างขึ้นไว้ทั่วผืนพิภพจนจรดเขตแดนมหาสมุทร ศรัทธาของพระเจ้าอโศกหนักแน่นขึ้นเรื่อยๆ ทรงปรึกษาพระอุปคุปต์ให้นำทางจาริกแสวงบุญไปยังสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน พร้อมทั้งบริจาคทรัพย์สินมหาศาลเพื่อสร้างเจดีย์ไว้ ณ ดินแดนเหล่านั้น หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในนาม“สังเวชนียสถานสี่ตำบล” นั่นเอง
พระเจ้าอโศกทรงปวารณาตนเองทำนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องตลอดพระชนมชีพ พระองค์ทรงร่วมมือกับพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ขึ้นและโปรดเกล้าฯ ให้สมณทูตออกประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ โดยให้คณะของพระโสณเถระและพระอุตตระเป็นผู้นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ หรือบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของไทย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดนครปฐมนั่นเอง
นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสาหินทรายขนาดใหญ่ แกะสลักข้อความทางธรรมเพื่อนำไปประดิษฐานในสถานที่สำคัญ อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนาแพร่หลายและดำรงอยู่อย่างยั่งยืนดังเช่นปัจจุบัน
ข้อความบนเสาหินทรายต้นหนึ่งสลักไว้ว่า ชัยชนะที่แท้จริงคือการชนะจิตใจคนด้วยพระธรรม…ซึ่งพระองค์ได้ทรงบรรลุชัยชนะเช่นนี้แล้ว…อย่างงดงาม
เรื่อง อิสระพร บวรเกิด
บทความน่าสนใจ
ปัญหาธรรมประจำวันนี้: ปาฏิหาริย์ในพุทธประวัติ มีจริงหรือ
นางสิริมา หญิงงามเมืองแห่งกรุงราชคฤห์
เจ้าหญิงเคซัง โชเดน วังชุก แห่งภูฏาน กับชีวิตตามรอยธรรมแห่งพุทธศาสนา
พระภัททากัจจานาเถรี ภิกษุณีผู้เลิศทางมหาอภิญญา (พระนางยโสธราพิมพา)
พระจักขุปาละ ผู้มองเห็นแสงสว่างในความมืด
พร 8 ข้อที่ พระอานนท์ ทูลขอพระพุทธเจ้า
พระโกณฑธานเถระ ภิกษุผู้มีสตรีติดตามอยู่เบื้องหลัง
3 บุคคลที่หันหลังให้พระพุทธเจ้า - คนที่ถูกพระพุทธเจ้าทิ้ง บทความธรรมะจากท่าน ว.
เรื่องเล่าวันพระพุทธเจ้าลอยถาดลงในแม่น้ำก่อนตรัสรู้ บทความเตือนสติ จากท่าน ว.วชิรเมธี
จัดสวนสวยด้วย 9 พรรณไม้ใน พุทธประวัติ