สมาธิ

เหตุให้ได้มาซึ่งสมาธิ โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

เหตุให้ได้มาซึ่ง สมาธิ โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

เมื่อสมาธิเกิดขึ้น สมาธิ จะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา คือการเห็นสภาพจริงตามความเป็นจริง แต่ เหตุที่จะให้ได้มาซึ่งสมาธินั้นมีวิธีการอยู่ 2 ลักษณะ คือ

วิธีแรก ตั้งใจทำสมถกรรมฐานไปเลย คือตั้งใจทำสมาธิอย่างเดียวโดด ๆ โดยเอาอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเพ่งเทียน เพ่งดิน เพ่งไฟ ใช้คำบริกรรมภาวนา ดูลมหายใจ ดูท้องพอง – ยุบ ยกไม้ยกมือ ฯลฯ ได้ทั้งนั้น ขอเพียงทำให้จดจ่อต่อเนื่อง เพ่งอยู่ที่นั่นที่เดียว ไม่คิดถึงเรื่องอื่นใด ไม่หวังสติ ไม่หวังปัญญา มุ่งหมายเพียงเพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว กระชับ แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกับอารมณ์นั้น

เมื่อจดจ่อต่อเนื่องนานเข้า บริกรรมถี่เข้า ๆ สมาธิก็จะค่อย ๆ รวมลง จิตก็ค่อย ๆ อ่อนสลวย อ่อนโยนลง ซ่านไปที่อื่นน้อยลง อยู่กับสิ่งนั้นมากขึ้น ใกล้ชิดมากขึ้น ท่านเรียกสมาธิแบบนี้ว่า “อุปจารสมาธิ” เทียบกับการตักน้ำใส่ขันแล้วนำไปใส่ช่องฟรีซ ตอนที่เป็นวุ้นยังไม่เป็นก้อนน้ำแข็ง นั่นละลักษณะของอุปจารสมาธิ ซึ่งจิตจะซ่านออกไปข้างนอกน้อยลงมาก ความคิด ความตรึก ความปรุง จะคลุกอยู่กับอารมณ์ที่เราบริกรรมหรือตั้งไว้เพียงอย่างเดียว

เมื่อบริกรรมต่อไป จดจ่อต่อเนื่องต่อไปไม่หยุด ก็จะเกิด อัปปนาสมาธิ คือจิตแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้น เข้าไปอยู่ในสิ่งนั้น เป็นก้อนเป็นเนื้อเดียวกัน ตั้งแช่อยู่กับอารมณ์นั้นเลย ถ้าใช้เทียนก็เป็นหนึ่งเดียวกับเทียน ใช้ดินก็เป็นหนึ่งเดียวกับดิน ใช้อากาศก็เป็นหนึ่งเดียวกับอากาศ ใช้ความว่างก็เป็นหนึ่งเดียวกับความว่าง  ดูลมหายใจก็เป็นหนึ่งเดียวกับลมหายใจไปเลย นั่นคืออัปปนาสมาธิ หรือที่เรียกว่า “ฌาน” นั่นเอง

สมาธิ
Photo by Saffu on Unsplash

เมื่อเกิดสมาธิตั้งมั่นขึ้นแล้ว ก็ใช้จิตดวงที่ตั้งมั่นนี้เองมาเจริญสติปัฏฐานต่อ มาดูกาย เวทนา จิต ธรรม แต่ด้วยกำลังของจิตที่ผ่านอัปปนาสมาธิมาแล้ว จึงมีความตั้งมั่นที่แน่วแน่ ไม่ไหล ไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ ทำให้ทำหน้าที่เป็นผู้ดูผู้รู้ได้ยาวนานขึ้น ดีขึ้น หนักแน่นขึ้น กำลังจะต่างกันก็ตรงนี้

ส่วน อีกวิธีหนึ่งเกิดจากการมีสติรู้กายรู้ใจ รู้อารมณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นในขณะหนึ่ง ๆ ทางอายตนะบ้าง สติปัฏฐาน 4 บ้าง เมื่อเห็นหรือได้ยินขณะหนึ่งก็มีสติระลึกรู้ที่กายที่ใจไปเรื่อย ๆ มีสติขณะหนึ่งสมาธิก็ติดมาโดยอัตโนมัติ เป็นขณะ ๆ ต่อกันไปจนเกิดเป็นอุปจารสมาธิได้เช่นกัน แต่จะมีลักษณะไม่ลอย ไม่จม เพราะสมาธิที่มีสติเป็นประธานนี้จะตั้งมั่นอยู่ในการเห็นอารมณ์ เห็นลักษณะ เห็นความจริงของอารมณ์ต่าง ๆ แต่ไม่ตั้งแช่ เพราะไม่ได้ไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับตัวอารมณ์ แต่จะถอยออกมาเป็นผู้ดูผู้รู้ต่างหาก และเมื่อมีสัมมาสมาธิเข้ามาประกอบด้วยก็ยิ่งมีความตั้งมั่นมากขึ้น

หากสติยังน้อย สมาธิยังน้อยอยู่ ความตั้งมั่นก็จะน้อย ยังพร้อมที่จะถูกอารมณ์ดูดเข้าไป ไหลเข้าไป แต่ถ้ามีสติติดต่อกันมากขึ้น มีสมาธิที่มีสติเป็นประธานมากขึ้น ความตั้งมั่นซึ่งทีแรกยังน้อย ๆ อ่อน ๆ อยู่ก็จะค่อย ๆ เด่นดวงขึ้นมา และมีความตั้งมั่นอย่างแท้จริง

ทีแรกแม้จะคล้ายไม้หลักปักเลนอยู่ แต่ต่อไปจะเหมือนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเลย

 

ที่มา  ชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Photo by Raychan on Unsplash

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

Dhamma Daily : มือใหม่เพิ่งฝึกปฏิบัติธรรม ควรฝึกสมถะหรือควรฝึกวิปัสสนาก่อน

“อานาปานสติ” กรรมฐานที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ

ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของของเราอย่างแท้จริง โดย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ

เหนือกว่าศีล 5 คือ กุศลกรรมบถ 10 โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

4 วิธีการอันไม่บริสุทธิ์ในการปฏิบัติธรรม โดย พระอาจารย์ นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.