ผลของการเจริญสติที่ถูกต้อง โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
ก. ผลคือสะอาด
ดังนั้น การทำบุญให้ทานรักษาศีล การทำสมถกรรมฐานและการเจริญวิปัสสนา ต่างก็เป็นการกระทำเพื่อเอามาทำลายกิเลส คือ ความโลภความโกรธความหลง การทำลายกิเลสได้นี่แหละคือตัวบุญแท้ ๆ เป็นยอดบุญ ถ้าเป็นสวรรค์ก็เป็นสวรรค์แท้ ๆ เป็นแก่นของสวรรค์ เป็นยอดแท้ของสวรรค์ ถ้าเทียบกับพระนิพพานก็เป็นพระนิพพานแท้ เป็นแก่นเป็นยอดของนิพพาน ความหมดไปของกิเลส ก็คือ สะอาด
นิพพานแปลว่าความดับเย็นลง คือเราไม่ร้อนอกร้อนใจเพราะกิเลสดับเย็นลง ถ้าขณะนี้เราไม่มีความทุกข์มันก็เป็นนิพพานในขณะนี้เอง เมื่อเรามีนิพพานในขณะนี้แล้ว ก็ต้องได้ไปนิพพานแน่ ๆ เราควรจะรู้จักสวรรค์ที่ในใจของเรา ความไม่มีทุกข์นั่นแหละเป็นสวรรค์คือจิตใจเราร่าเริงเบิกบาน เราดูจิตดูใจเราอยู่มันเป็นเมืองสวรรค์ เมื่อเรามีสวรรค์อยู่ที่ใจอย่างนี้แล้ว พอตายไปจะได้ไปเกิดเมืองสวรรค์อย่างไม่ต้องสงสัย
ข. ผลคือสว่าง
หากใครไม่รู้จักเมืองสวรรค์ ก็ไม่สามารถไปเมืองสวรรค์ได้หรอก ตัวอย่างเช่น ในบ้านของเรามีไฟฟ้า เราอยากได้แสงสว่างแต่เอามือไปจับที่หลอดไฟแสงไฟก็จะไม่มี เมื่อเราได้เรียนรู้ว่าจะเปิดไฟต้องเปิดที่สวิตช์ไฟ เราก็ไปเปิดสวิตช์ ไฟก็ไปสว่างอยู่ที่หลอด นี่ก็เหมือนกัน วิธีที่จะจัดการกับความโลภความโกรธความหลงนั้น เราไม่ต้องไปคิดหาว่าความโกรธความโลภความหลงอยู่ที่ไหน เราเพียงกลับเข้ามาดูจิตดูใจของเราก็จะทำลายความโกรธความโลภความหลงได้เอง
พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า พระองค์ตรัสรู้ได้โดยการบำเพ็ญทางจิต เราก็ต้องมาดูจิตดูใจของเรา การดูจิตใจนี้แหละ เป็นการเปิดไฟฟ้าโดยจับที่สวิตช์ไฟฟ้า เมื่อเราทำบ่อย ๆ สติจะเกิดความคล่องแคล่วว่องไว สติจะไปสกัดกั้นความโกรธความโลภความหลงไม่ให้เกิดขึ้นได้ ตัวสติและตัวสมาธินั้นอยู่ด้วยกัน ส่วนปัญญาแปลว่าเห็น – รู้แจ้ง ภาษาบาลีว่า นัตถิ ปัญญา สะมาอาภา – อะไรจะสว่างเท่าปัญญาไม่มี สติ เตสัง นิวาระนัง – สติเป็นเครื่องกั้นกระแสของกิเลส ไม่มีอะไรจะไวพอที่จะกั้นกระแสอันนี้ได้นอกจากสติ สติปัญญาตัวนี้แหละที่เข้าไปสัมผัส – ไปรู้ – ไปเห็น – ไปสกัดกั้นไม่ให้เรามีความหลง ทั้งนี้เพราะสติ – สมาธิ – ปัญญา มันตรงข้ามกับโทสะ – โมหะ – โลภะเต็มตัวอยู่อย่างนั้น เปรียบก็เหมือนเวลากลางคืนมันมืด พอจุดเทียนสว่างขึ้น ความมืดก็หายไป เพเราะความมืดกลัวแสงไฟ พอไฟดับความมืดก็เข้ามาทันที
ค. ผลคือสงบ
ที่อาตมาให้ข้อคิดพร้อมกับวิธีปฏิบัติอย่างลัด ๆ มานี้ ก็เพื่อท่านทั้งหลายจะได้นำเอาไปปฏิบัติและจะได้รับผลเร็วไม่ต้องเสียเวลา วิธีนี้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่ต้องหยุดงานไปปฏิบัติ บางท่านเอาไปปฏิบัติแล้ว บางท่านเพียงแต่เคยได้ฟังมา บางท่านไม่เคยได้ยินอาจรู้สึกขัดอกขัดใจ ถ้ารู้สึกอย่างนั้นก็ให้เอาความรู้สึกนั้นทิ้งไว้ก่อน ความรู้ที่เคยเรียนมาแต่เดิมก็เก็บวางไว้ก่อน แล้วทดลองทำตามที่อาตมาพูดนี้ ลองดูจะทราบผลที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร อาตมากล้ารับรองว่า วิธีนี้ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าสอนอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ ถ้าพูดตามความรู้สึกของอาตมาเพียงผู้เดียว ก็ว่าถูก 100เปอร์เซ็นต์ เพราะ ปฏิบัติแล้วมันบรรเทาความโลภความโกรธความหลงได้ เมื่อสิ่งเหล่านี้ลดลง ความสงบก็เข้ามาแทนที่
ง. ผลคือสติสมบูรณ์
จะขอยกตัวอย่างอีกสักเรื่องเพราะยังมีเวลา เอาแก้วน้ำมาวางไว้ 1 ใบ เราจะเห็นว่าในแก้วมีอากาศ พอเราเทน้ำใส่ลงไปอากาศก็ไหลออก น้ำเข้าไปแทนที่ พอเทน้ำออกอากาศก็เข้าไปแทนที่ใหม่ อันนี้ก็เปรียบได้กับเราพลิกมือ เรารู้เรามีสติ สติเข้าไปแทนที่ความไม่รู้ความหลง ความไม่รู้ก็หลุดออกไปจากจิตใจของเรา ให้เราทำบ่อย ๆ จับความรู้สึกอยู่บ่อย ๆ ทุกอิริยาบถ สติก็จะมีมากขึ้น ๆ ความหลงความไม่รู้ก็จะลดลง ๆ เหมือนน้ำเข้าไปแทนที่อากาศในแก้ว ฉันนั้น
บางท่านอาจเคยได้ยินหรืออาจได้รับการสอนมาว่า ให้ทำบุญโดยการสร้างโบสถ์สร้างวิหาร เป็นต้น แล้วจะได้บุญเท่านั้นเท่านี้กัป และคงจะเคยได้ยินว่า 100 ปีของเมืองคนเท่ากับ 1 ปีทิพย์ของเทวดา เทวดาก็จะเอาเมล็ดงา 1 เมล็ดไปทิ้งใส่ในบ่อที่กว้าง 100 โยชน์ ลึก 100 โยชน์ ถ้าเต็มเมื่อใดก็จะเป็น 1 กัป นอกจากนี้ก็คงเคยได้ยินว่า การใส่บาตร 1 ครั้งได้อานิสงส์ 6 กัป ไปส่งปิ่นโตเช้าถวายพระได้อานิสงส์ 5 กัป ไปส่งเพลได้อานิสงส์ 4 กัป ดังนี้เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นปริศนาธรรมทั้งนั้น แต่บางคนฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ ถ้าจะเข้าใจได้เราต้องมาปฏิบัติ มาเจริญสติ โดยพลิกมือขึ้นคว่ำมือลง – รู้สึก เพราะเมื่อก่อนนั้น เราทำอะไรเราไม่มีสติ คือมันว่าง ๆ ไม่รู้สึกอะไรเลย เปรียบก็เหมือนบ่อหรือเหวที่ว่าง ๆ ไม่มีอะไร อย่างเดียวกับในปริศนาธรรมนั่นแหละ แต่เมื่อมาฝึกสติจับความเคลื่อนไหวในทุกอิริยาบถ เช่น กะพริบตา มองไปทางซ้าย มองไปทางขวา พลิกมือ คว่ำมือ ยืน เดิน นั่ง นอนก็รู้สึก ก็มีสติกำหนดรู้ เมื่อทำอยู่ดังนี้สติก็จะเพิ่มมากขึ้น เหมือนเอาเมล็ดงาไปใส่ในบ่อในเหวที่กว้าง 100 โยชน์ ลึก 100 โยชน์นั้น คำเปรียบอันนี้ก็มุ่งหมายว่า เราจะต้องฝึกสติมาก ๆ ทำมาก ๆ จึงจะได้ผล ให้สติมันเต็มอยู่จะได้ไม่เผลอไปหลง เมื่อเราได้เจริญสติปัฏฐานสี่แบบที่กล่าวนี้แล้วจะมีความดำริมีความคิดความเข้าใจ มีความสามารถที่จะขบคิดปัญหาต่าง ๆ ภายในจิตใจของเราได้จริง ๆ
ผลของการเจริญสติที่ถูกต้อง
ที่มา นิพพานอยู่ที่ใจ โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความน่าสนใจ