คิลานธรรม

คิลานธรรม กลุ่มพระอาสาเยียวยาจิตใจผู้ป่วยและญาติ : พระวรท ธมฺมธโร

คิลานธรรม กลุ่มพระอาสาเยียวยาจิตใจผู้ป่วยและญาติ : พระวรท ธมฺมธโร

คิลานธรรม คือกลุ่มพระจิตอาสาที่แวะเวียนไปเยี่ยมผู้ป่วยตามโรงพยาบาล เพื่อให้คำปรึกษาและเยียวยาจิตใจให้คลายทุกข์ ซีเคร็ตได้มีโอกาสมาพูดคุยถึงความเป็นมาและกิจกรรมของกลุ่มคิลานธรรมกับ พระวรท ธมฺมธโรแห่งวัดญาณเวศกวัน พระอาจารย์รุ่นใหม่หนึ่งในกลุ่มคิลานธรรมที่อุทิศตนเพื่อผู้ป่วยมาตลอด

 

กลุ่มพระคิลานธรรมเริ่มต้นมาอย่างไร

“ กลุ่มคิลานธรรมเริ่มต้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 บุกเบิกโดยพระอาจารย์มหาสุเทพ ธนิกกุล (สุทธิญาโณ) แห่งวัดสังเวชวิศยาราม กับพระครูศรีวิรุฬหกิจ (หรือพระอาจารย์มหาวสันต์ ฐานวโรแห่งวัดอมรคีรี) และกลุ่มพระเพื่อน ๆ ของท่าน เริ่มจากที่พระอาจารย์เป็นพระนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาชีวิตและความตาย ก็ได้เป็นอาสาสมัครไปเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ป่วยตามโรงพยาบาล จากนั้นหนึ่งปีถัดมาก็ตั้งชื่อกลุ่มพระที่เป็นอาสาสมัครว่า ‘คิลานธรรม แล้วดำเนินกิจกรรมของกลุ่มมาจนถึงทุกวันนี้ พอเวลาผ่านไปกลุ่มคิลานธรรมจากกลุ่มพระนิสิตก็มีพระจากหลาย ๆ วัดทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดมาร่วมด้วย ”

 

พระอาจารย์เข้าร่วมในกลุ่มพระคิลานธรรมตั้งแต่เมื่อไร

“ เริ่มแรกอาตมาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคิลานธรรมตอนมาอยู่ที่วัดญาณเวศกวัน พระอาจารย์ที่พรรษามากกว่าอย่างพระครูเมธังกร (ปณต คุณวฑฺโฒ) พระครูธรรมรัต (ธนัญชัย เตชปญฺโญ)ท่านรู้จักกับพระอาจารย์มหาสุเทพ ประธานกลุ่มคิลานธรรมมาตั้งแต่สมัยเป็นพระนิสิตมหาจุฬาฯแล้ว ได้ชักชวนอาตมาให้ไปอบรมและเรียนรู้เกี่ยวกับการให้คำปรึกษา และได้ไปลองเยียวยาผู้ป่วยตามโรงพยาบาล ”

 

เมื่อได้พบผู้ป่วยครั้งแรกรู้สึกอย่างไร

“ อาตมาไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมากมาย พยายามมีสติรักษาใจตนเองให้สงบ เพราะว่าถ้าทำใจของเราให้สงบไม่ได้ เราจะทำงานได้ไม่เต็มที่ ”

 

 

ผู้ป่วยส่วนมากจะปรึกษาเรื่องอะไร

“ มันมีความซับซ้อนนิดนึงคือ ชื่อกลุ่มบอกว่าเราไปเยี่ยมผู้ป่วยก็จริง แต่พอถึงเวลาทำงานจริง ๆ แล้ว กลายเป็นว่าเราต่างหากที่เป็นฝ่ายต้องให้กำลังใจญาติของผู้ป่วยที่กำลังวิตกกังวลและเศร้าโศกอยู่ เราต้องให้คำปรึกษาหรือกำลังใจผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ที่หนักกว่าผู้ป่วยคือญาติ เราจึงต้องให้กำลังใจทั้งผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยด้วย ”

 

ถ้าเป็นผู้ป่วยเคสหนัก ๆ จะใช้ธรรมะปลอบใจอย่างไร

“ การเข้าไปเยียวยาผู้ป่วยของกลุ่มคิลานธรรม เราไม่ได้เข้าไปเทศน์ แต่เป็นลักษณะของการเข้าไปฟัง ให้เขาเล่า แล้วเราจับประเด็น และตั้งคำถามเพื่อให้เขาได้คิดพิจารณาอย่างมีสติไตร่ตรองด้วยตนเอง ”

 

ความประทับใจต่อการเป็นพระกลุ่มคิลานธรรมคืออะไร

“ คือการได้ช่วยเหลือให้เขามีความสุขจากความทุกข์ที่ต้องป่วยด้วยโรคร้าย ตั้งแต่เริ่มแรกอาตมามีความตั้งใจอยู่แล้วว่าอยากช่วยเหลือผู้ป่วย ทุกครั้งที่อาตมาฟังและให้คำปรึกษาผู้ป่วยรวมถึงญาติด้วย พวกเขาจะรู้สึกดีเพราะได้ระบายความในใจออกมา ถ้าคนเราได้ระบายความในใจออกมา ความทุกข์ก็ได้ขับออกมาอย่างอัตโนมัติ จึงเต็มไปด้วยความสุขใจ เพราะทุกครั้งที่เราทำ เราทำอย่างเต็มที่ ญาติของผู้ป่วยคนหนึ่งทุกข์มาตลอด 4 ปี เพราะเขาไม่อยากให้ผู้ป่วยจากไป เขารู้สึกผิดที่คนที่เขารักต้องมาป่วยอย่างนี้ นั่นคือเหตุที่ทุกข์เพราะเขามีมิจฉาทิฏฐิ เราก็แค่เป็นคนเข้าไปบอกสัมมาทิฏฐิให้เขาได้รู้ และเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง แล้วยอมรับทุกข์ที่เกิดขึ้น

“ ผู้ป่วยคนหนึ่งเป็นมะเร็งทั้งที่อายุเพียงสิบกว่าปี แต่เขาไม่เศร้าโศกเลย ผู้ป่วยไม่เป็นอะไร แต่คนที่เป็นหนักคือคุณแม่ของผู้ป่วยที่นั่งร้องไห้อยู่ ผู้ป่วยก็สอนคุณแม่ตัวเองว่าให้ปล่อยวางและอย่าคิดมาก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาของชีวิต ซึ่งเป็นเคสที่น่าประทับใจมาก ในวันต่อมาผู้ป่วยก็จากไปอย่างสงบ

“ บางเคสเรารู้ว่าวันนี้ต้องมาเยี่ยมผู้ป่วยคนนี้ แต่มาไม่ทันเขาตายไปเสียแล้ว เราจึงต้องเยียวยาจิตใจของญาติแทน ”

 

 

 

เวลาไปพบผู้ป่วยต้องทำหรือเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

“ ด้วยกลุ่มคิลานธรรมทำกิจธรรมเยี่ยมเยียวยาใจผู้ป่วยมาเป็นเวลานาน จนมีตารางเวลาเยี่ยมผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ชัดเจน พอใกล้วันที่กลุ่มคิลานธรรมจะไปเยี่ยมผู้ป่วย พยาบาลจะถามผู้ป่วยและญาติว่า ‘จะมีพระกลุ่มคิลานธรรมมาให้คำปรึกษาผู้ป่วย อยากพูดคุยขอคำปรึกษากับพระไหม’ ถ้าผู้ป่วยหรือญาติต้องการ ทางพยาบาลจะส่งรายชื่อผู้ป่วยมาให้ทางกลุ่ม เราก็จะทราบว่าที่โรงพยาบาลนี้มีผู้ป่วยที่เราต้องไปเยี่ยมกี่ราย เป็นการแสดงเจตนาแล้วว่าเขาอยากพบพระกลุ่มคิลานธรรมจริง ๆ อาตมาก็จะไปอย่างโล่ง ๆ ว่าง ๆ เลย คือทำใจให้ว่างเปล่า และพอไปถึงโรงพยาบาล พยาบาลก็จะแจ้งอาการของผู้ป่วยว่าเป็นอะไร”

 

ถ้ามีผู้ป่วยติดเตียงอยู่ที่บ้าน และต้องการพบพระกลุ่มคิลานธรรม ญาติควรทำอย่างไร

อย่างแรกต้องเริ่มที่ญาติก่อน สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจคือการกลับมารักษาใจตัวเอง ด้วยความที่พระกลุ่มคิลานธรรมมีจำนวนจำกัด ไม่สามารถไปช่วยที่บ้านได้ แต่ว่าความตายเกิดขึ้นทุกวัน เพราะฉะนั้นคนที่ทำหน้าที่แทนพระได้ดีที่สุดคือ ญาติที่อยู่ข้าง ๆ ผู้ป่วยนั่นแหละ สิ่งแรกที่ญาติต้องทำคือการรักษาใจตัวเองให้สงบเป็นกุศลก่อน พอรักษาใจของตัวเองให้เป็นกลาง และยอมรับความจริงได้แล้ว เราจะเป็นเหตุปัจจัยให้ผู้ป่วยมีจิตที่เป็นกุศล และใจสงบตามไปด้วย พอใจญาติสงบแล้ว ไปคุยให้กำลังใจคนที่เรารัก น้ำเสียงท่าทีทุกอย่างมันจะมีพลังงานส่งออกมาให้เขาเอง หรือถ้าพูดไม่เป็น ไม่รู้วิธีการให้คำปรึกษา แต่ถ้ารักษาใจของเราด้วยความเมตตากรุณา ยิ้มแย้มแจ่มใสแล้ว ผู้ป่วยที่นอนอยู่เขาสามารถรับรู้พลังงานแห่งความเมตตา ความสุข และความสงบจากเราได้ ”

 

กลุ่มคิลานธรรมให้ความสำคัญต่อจิตสุดท้ายอย่างไร

“ ทางพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญต่อเรื่องจิตสุดท้ายก่อนตาย กลุ่มคิลานธรรมก็มีความปรารถนาที่จะให้ผู้ป่วยจากโลกนี้ไปอย่างสงบ และไปสู่สุคติ การตระหนักเรื่องจิตสุดท้ายก่อนตายเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรมองเรื่องนี้ให้รอบด้าน และกว้างกว่านี้ บางคนกังวลกับเรื่องจิตสุดท้ายก่อนตาย จนกลายเป็นความกังวลกับชีวิต อาตมามองว่าถ้าอยากให้จิตสุดท้ายก่อนตายดี เราต้องทำจิตในปัจจุบันให้ดี เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไร วินาทีต่อไปเราอาจตายก็ได้ การมีสติอยู่กับปัจจุบันควรสร้างให้เป็นอุปนิสัย เป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะในการดำรงชีวิตให้ได้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะพอถึงเวลาตายจิตสุดท้ายจะดึงความเคยชินในการรักษาจิตไปเป็นจิตสุดท้ายก็ได้ เราควรให้ความสำคัญต่อจิตในปัจจุบันจะดีกว่า แล้วจิตสุดท้ายของเราจะปลอดภัยเอง

“ การที่อยากให้ผู้ป่วยจากไปด้วยจิตที่ดีเป็นจิตสุดท้ายก่อนตาย จะได้ไปสู่สุคติ จึงไปสนใจตรงจุดนั้นซึ่งเป็นปลายทางแล้ว ว่าจะไปบอกข้าง ๆ หูอย่างไรดี บอกให้นึกถึงบุญกุศลที่เคยทำ เปิดซีดีธรรมะให้ฟัง มันกลายเป็นความกังวลของญาติไปเสียแล้ว เป็นการที่เราพยายามทำ แต่มันมาทีหลังที่จริงมันต้องเตรียมตัวตั้งแต่เขายังดี ๆ อยู่ ไม่ใช่ก่อนไม่กี่นาทีที่เขาจะจากไป ”

 

 

กิจกรรมส่วนใหญ่ของกลุ่มพระคิลานธรรมมีอะไรบ้าง

“ นอกจากกิจกรรมเยี่ยมผู้ป่วย ให้กำลังใจผู้ป่วยและญาติแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมน้ำชาภาวนา ซึ่งเป็นการปฏิบัติกรรมฐานอย่างหนึ่ง เพื่อให้ทุกคนเข้าใจเรื่องของการเจริญสติในรูปแบบของการดื่มชาไปพร้อมกับการภาวนา ให้เห็นว่าการเจริญสตินั้นเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน โดยทางกลุ่มยกตัวอย่างการดื่มน้ำชามาให้สัมผัส เราจะรับรู้ความร้อนอย่างมีสติ รับรู้กลิ่น รับรู้รส รับรู้เสียงน้ำชาที่รินออกจากกา ซึ่งเป็นการเจริญสติทั้งหมด เราสามารถประยุกต์ไปเป็นการทำกับข้าวภาวนา ล้างจานภาวนา หรือกิจกรรมอื่นในชีวิตประจำวันได้หมด

“ เรายังจัดกิจกรรมอบรมที่มีชื่อว่า “เยียวยาใจด้วยธรรมะ ” จัดมา 4 ครั้ง มีพระที่จบอบรมนี้ไปถึง 4 รุ่น พระที่เข้าร่วมอบรมจะเป็นพระที่สนใจเดินทางมาร่วมอบรมจากทั่วประเทศ การให้คำปรึกษาผู้ป่วย โดยมาเรียนรู้กับกลุ่มคิลานธรรม เมื่อพระได้มีองค์ความรู้ และผ่านการทดสอบจากสถานการณ์จริงแล้ว พระแต่ละรูปอยู่เขตไหน ชุมชนไหน จังหวัดไหน ท่านก็สามารถนำความรู้จากการอบรมนี้ไปช่วยเหลือผู้ป่วยและญาติในถิ่นที่ท่านอยู่ได้ และยังมีการอบรมให้ความรู้กับโรงพยาบาลและหน่วยงานเกี่ยวกับทางการแพทย์ต่าง ๆ อีกด้วย  ”

 

สิ่งที่ได้รับจากการมาเป็นพระกลุ่มคิลานธรรมคืออะไร

“ มหาศาลมาก เห็นทั้งความสุขจากที่เราได้ช่วยเหลือคนให้พ้นทุกข์โดยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือใจของเขา และเห็นภายในของเราที่ได้มีการเติบโต การช่วยเหลือคน การได้พูดคุยกับเขา อาตมาก็มองว่ามันเหมือนการภาวนาอย่างหนึ่ง การภาวนาโดยทั่วไปแล้วจะให้กลับมาดูกายและใจของเรา แต่การได้คุยกับคนอื่นต้องใช้วิปัสสนากรรมฐานเป็นพื้น เพราะเราต้องอยู่ต่อหน้าคนที่มีความทุกข์เศร้าโศก และทำอย่างไรไม่ให้เรากระเทือนตามไปด้วย เราต้องรักษาใจของเราให้เป็นกลาง มันจึงเป็นการภาวนาอยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่ได้คุยกับคนจึงเป็นการได้ดูกายอื่น และกลับมารักษาใจเราเอง

“ ในฐานะที่อาตมาเป็นพระวัดญาณเวศกวัน แล้วช่วยงานกลุ่มคิลานธรรมอยู่เรื่อย ๆ มีอบรมอะไรของกลุ่มก็ไปช่วยบ้าง อาตมาจึงจัดกิจกรรมหนึ่งขึ้นในวัดญาณฯ ชื่อว่า “คุยกับพระ” คือกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ญาติโยมที่มีปัญหาทุกข์ใจมาปรึกษาได้หมดทุกเรื่อง เพราะหลักการให้คำปรึกษาก็ใช้หลักการเดียวกับที่ไปเยี่ยมผู้ป่วย

“ วัดญาณฯคือบ้านของอาตมา อาตมาเลยอยากนำความรู้และประสบการณ์นี้มาใช้ในบ้านคือการจัดกิจกรรมนี้ ซึ่งก็มีโยมติดต่อเข้ามาเรื่อย ๆ โดยทำร่วมกับพระปฏิพล ภูมิเมโธหรือท่านบิ๊กและพระอาสาในวัดอีก 3-4 รูป ที่ไปอบรมการให้คำปรึกษาเชิงพุทธมาด้วยกัน ซึ่งกิจกรรมนี้จัดมาได้ 2 ปีแล้ว และจัดตามกระแสสังคมต่าง ๆ  อย่างล่าสุดอาตมาจะจัดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า เพราะเห็นว่าเป็นโรคที่เป็นกันมาก กิจกรรมนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เข้าร่วมมาก อย่างบางเคสก็สามารถเลิกกินยาโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งอาตมาก็มีความสุขมากแล้ว คือการกินยานั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เขาไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือ ความทุกข์ที่เขาสะสมมานานจนกลายเป็นปมที่ค้างคาอยู่ อาตมาแค่พูดคุยถามไถ่ไปเรื่อย ๆ จนเขารู้สึกสบายใจ และคลี่คลายความทุกข์ในใจออกมา พอเราเห็นปมปัญหา เห็นแผลแล้ว เราก็ช่วยเขารักษาแผลและปิดแผลให้เรียบร้อย พอเราเข้าไปแก้ปัญหาที่จิตใจซึ่งเป็นต้นเหตุแล้วเรื่องจึงจบ เขาก็จบปัญหาทั้งหมด ไม่ต้องไปกินยาแก้โรคซึมเศร้าอีกต่อไป เพราะตามจริงยาแค่ไปจัดการกับสารเคมีในสมอง เพื่อให้เขาหลับสบาย รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุเมื่อไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คุณก็ต้องกินยาต่อไปเรื่อย ๆ เราอยู่กับนักจิตวิทยาที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ”

 

เรื่อง : พระวรท ธมฺมธโร

ภาพ : จักรพงษ์  นุตาลัย

สามารถส่งเรื่องราวดี ๆ หรือปัญหาธรรมมาได้ที่ >>> Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ 

อานิสงส์แห่งการพิจารณากายคตาสติ

อานิสงส์แห่งการรักษาศีล 8 แม้สมบัติแห่งพระราชายังเทียบมิได้

อานิสงส์แห่งการทำบุญกับพระอาพาธ

พระพุทธเจ้าตรัส อานิสงส์แห่งการรักษาศีล ไว้อย่างไรบ้าง

อานิสงส์แห่งการระลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยการเปล่ง นะโม พุทธัสสะ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.