ผม (เชษฐ์-วรเชษฐ์ เอมเปีย) กลับมาบวชที่บ้านเกิดเป็นเวลาเกือบเดือน ชีวิตในผ้าเหลืองทำให้จิตใจสงบ ร่มเย็นผมมีโอกาสไปเทศน์ให้พ่อแม่ฟังที่บ้าน มองหน้าแม่ก็รู้ว่าท่านมีความสุขอย่างมาก
ช่วงเวลาหนึ่งเดือนที่บวช ผมรักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด และรู้สึกเป็นสุขกับความสงบเช่นนี้ แต่แล้ววันหนึ่งก็ถึงเวลาที่ผมต้องตัดสินใจครั้งใหญ่อีกครั้ง
เพื่อน ๆ วงสไมล์บัฟฟาโลมาเยี่ยมที่วัดและบอกว่า
“หลวงพี่ ตอนนี้ทางค่ายเพลง EMI รับเราเป็นศิลปินแล้วนะ”
ตอนที่ได้ยินหัวใจผมลิงโลดไปแล้ว แต่ต้องพยายามตั้งสติและสงบจิตใจ และถามย้ำอีกครั้ง ซึ่งทุกคนก็พูดคำเดิมว่า ตอนนี้วงสไมล์บัฟฟาโลจะได้ออกเทปแล้ว เพื่อน ๆ บอกว่า เราต้องไปทำเพลงเลยทันที ตอนนั้นผมรู้ว่าเพื่อน ๆ กำลังจะเอ่ยปากขอให้สึก แต่ผมไม่อยากให้เขาพูดออกมา เพราะกลัวเขาจะบาป จึงรีบพูดว่า
“เอาอย่างนี้นะ โยมไม่ต้องพูดอะไรกลับไปกันก่อน เดี๋ยวหลวงพี่จะติดต่อกลับไป”
ตอนนั้นผมคิดว่าความฝันกำลังจะเป็นจริงแล้ว คงต้องขอออกไปสู้อีกสักครั้ง จึงตัดสินใจไปหาพระอาจารย์ กราบเรียนท่านว่าขอสึก ท่านก็ตกใจ เพราะศึกษาและปฏิบัติมาด้วยดีตลอดจนเป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้านผมบอกว่าต้องไปทำเพลงเพื่อออกเทป ท่านฟังเหตุผลและเห็นว่าตั้งใจจริงจึงไม่ได้ขัดอะไร จากนั้นผมก็เดินมาบอกพ่อกับแม่ที่บ้านท่านก็อนุญาต วันรุ่งขึ้นจึงสึกออกมา
โลดแล่นไปในความฝันและกิเลส
เมื่อสึกแล้ว ผมเข้ากรุงเทพฯทันทีเพื่อไปเซ็นสัญญากับค่ายเพลง จากนั้นบริษัทก็ส่งวงของเราไปอัดเพลง การอัดเสียงสมัยนั้นเครื่องดนตรีทุกชิ้นต้องเล่นกันสด ๆ คนร้องก็ต้องร้องสด แล้วอัดเสียงกันตั้งแต่ต้นจนจบเพลง ถ้ามีส่วนไหนใช้ไม่ได้ก็ต้องเล่นใหม่ทั้งหมด แต่ละเพลงเราต้องเล่นไม่รู้กี่ร้อยรอบแต่ไม่ผ่านสักที ในใจเริ่มคิดว่า ตายแล้วสึกมาแล้วด้วย นี่โดนหลอกอีกแล้วเหรอจะแห้วอีกแล้วใช่ไหม ทำไมชีวิตเป็นอย่างนี้
ท้ายที่สุดทางบริษัทก็ให้เหตุผลว่า ที่ยังไม่ให้ผ่านเพราะเขารู้ว่าเราทำได้ดีกว่านี้ เราจึงตั้งใจทุ่มเทเต็มที่ ใส่กันอย่างไม่ยั้ง ไม่ว่าต้องอัดเพลงใหม่สักกี่รอบก็ไม่ท้อ ในที่สุดก็ได้ออกอัลบั้มแรกสมใจ พอปล่อยเพลงออกมาก็ดังเปรี้ยง กี่เพลง ๆ ก็ติดชาร์ตตลอด บางทีเราสี่คนแอบไปดูตามร้านเทปใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ เห็นคนยืนต่อแถวซื้อเทปเพลงของเรา รู้สึกปลื้มใจ สุขใจ และภูมิใจอย่างบอกไม่ถูก บางครั้งถึงกับมองหน้ากันแล้วน้ำตาซึมเลยก็มี
การที่วงมีชื่อเสียงทำให้ได้ไปออกรายการ ทไวไลท์โชว์ ของ ป๋าต๋อย - ไตรภพลิมปพัทธ์ ซึ่งเป็นรายการที่ดังมากในสมัยนั้นเราสี่คนไปอัดเทปรายการกันไว้สักพัก แต่ไม่รู้ว่ารายการจะออกอากาศเมื่อไหร่ เพราะช่วงแรก ๆ ยังไม่มีเงินใช้มากนัก จึงไม่มีทีวีที่บ้าน โทรศัพท์มือถือก็ไม่มี จนวันหนึ่งผมเดินออกจากบ้านเพื่อไปขึ้นรถเมล์ เห็นวินมอเตอร์ไซค์แถวนั้นมองและก็หันไปคุยกันจากนั้นเขาก็เรียกผมว่า
“ไอ้เชษฐ์ ๆ”
ผมตกใจมากว่าไปทำอะไรผิดหรือเปล่าจึงรีบเดินหนีไปขึ้นรถเมล์ พอขึ้นมาบนรถคนก็หันมามอง แล้วเข้ามาจับไม้จับมือพูดคุยกับผม เลยรู้ว่าตอนนั้นคนเริ่มรู้จักเราจากการที่ได้ออกรายการ ทไวไลท์โชว์ แล้ว แต่ก็ยังไม่คิดว่าเราดัง จึงชวนกันไปเดินห้าง คนก็เข้ามารุมเต็มไปหมด คงเป็นเพราะในยุคนั้นไม่ค่อยมีคนดังเยอะเหมือนสมัยนี้
การที่ผมเป็นที่รู้จักของแฟนเพลง คงเป็นเพราะเอกลักษณ์ความบ้าดีเดือด ทุกครั้งที่ออกคอนเสิร์ต ผมจะหวดกลองแบบไม่คิดชีวิต คือต้องสะใจทั้งตัวเองและคนดูต่างจากนักร้องสมัยนั้นที่เป็นดาราหน้าตาหล่อสวยกันทั้งนั้น
เมื่อคิดย้อนไปถึงชีวิตช่วงนั้น ก็เห็นว่าการที่เด็กหนุ่มอายุ 22 ปีอย่างผมได้รับชื่อเสียงเงินทองในชั่วข้ามคืน ทำให้เป็น“โรคติดความดัง” ไปโดยธรรมชาติ หลงตัวเองว่าเก่งว่าดัง หรือที่โบราณเขาว่า “วัวลืมตีน” พอสังคมเชิดชูว่าเป็นคนดัง ต้อนรับเราอย่างดี พาไปกินข้าวภัตตาคารหรู นอนโรงแรมห้าดาว ยิ่งทำให้หลงระเริงไปกันใหญ่ลืมไปเลยว่าตัวเองมาจากไหน
พอยิ่งดัง งานก็ยิ่งเยอะ เล่นดนตรีวันละสามงาน เงินทองเข้ามาเหมือนกับเสกได้ วันหนึ่ง ๆ แบ่งกันในวงแล้ว ได้อย่างต่ำวันละเจ็ดหมื่นบาท ผมฝากธนาคารหกหมื่นบาท อีกหนึ่งหมื่นบาทก็ใช้กับน้องชายที่มาทำงานด้วยกัน ตอนนั้นพอเล่นดนตรีเสร็จ เราก็เที่ยวต่อ เหนื่อยแค่ไหนก็จะเที่ยวไปให้คนกรี๊ด รู้สึกว่ามันเท่เหลือเกิน
ตลอดสี่ห้าปีที่มีงานเข้ามาไม่ขาดสาย ผมใช้เงินเป็นว่าเล่นเช่นกัน จากที่เคยเป็นเด็กยากจน ก็อยากได้อยากมีมากขึ้นเรื่อย ๆ บ้านที่ซื้อตอนแรกเป็นบ้านหลังใหญ่ แต่อยู่ไปกลับรู้สึกว่าใหญ่ไม่พอ ก็ดั้นด้นสรรหาซื้อให้มันใหญ่เข้าไปอีก รถที่ใช้อยู่ก็ไม่เคยถนอม อยากได้คันใหม่ก็รีบใช้ให้มันพังแล้วมีรถคันเดียวก็ไม่พอด้วยนะ ซื้อเข้าไปหลาย ๆ คัน ตอนนั้นมันไม่มีสติ มีแต่กิเลสอยากได้โน่นอยากได้นี่ไม่มีที่สิ้นสุด และคิดไปว่าสิ่งเหล่านี้คือความสุข ลืมไปเลยว่าเมื่อก่อนอยู่ห้องแคบเท่ารูหนูก็อยู่ได้ รถเมล์ก็นั่งไปทำงานได้ ลืมตัวไปหมดทุกอย่าง
แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมภูมิใจคือ พอลืมตาอ้าปากได้แล้ว ผมไม่เคยลืมพ่อแม่พี่น้อง ผมรีบพาแม่ไปรักษาโรคตาจนหายดีส่งเงินมาจ่ายค่าผ่อนรถกระบะของพ่อจนหมดช่วยเหลือพี่น้องจนอยู่กันสุขสบายทุกคนแต่ก็เป็นแค่การส่งเงินกลับมา ไม่ได้ส่งความรักด้วยการกลับมาดูแลเยี่ยมเยียนพ่อแม่สักเท่าไหร่
ก้าวที่พลาด
เมื่อแต่ละคนในวงมีชื่อเสียง มีฐานะกันแล้ว ต่างคนก็ต่างอยากแยกย้ายไปทำในสิ่งที่ตัวเองรัก สุดท้ายวงสไมล์บัฟฟาโลก็แตก ตัวผมเองออกมาเปิดโรงเรียนสอนดนตรี แล้วก็ชวน หนึ่ง สมาชิกของวงมาลงทุนด้วยกัน ตอนนั้นผมเปิดแบบยิ่งใหญ่เลย ทุ่มสุดตัวแบบทุบหม้อข้าว กะว่าสบายไปอีกนาน เงินมันเคยได้ยังไงมันก็ต้องได้อย่างนั้น
แรก ๆ ธุรกิจก็ไปได้สวย เพราะเรามีชื่อเสียง ใครก็อยากมาเรียนด้วย แต่ต่อมาเจอวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาทางการเมืองทำให้ธุรกิจซบเซาไม่ค่อยมีคนมาเรียน รายได้หดหาย เงินที่มีก็ร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็พังกันทั้งผมและหนึ่ง เพราะเหตุที่ทำอะไรเกินตัว ตอนนั้นผมเครียดมากเงินไม่รู้กี่ล้านที่หายไป ใจไม่อยากกลับไปลำบากเหมือนเดิมแล้ว คิดจะหางานอะไรทำก็ไม่ได้ เพราะเรามาทางสายนี้ จะไปทำอาชีพอื่นก็ตามเขาไม่ทันแล้ว
ทางออกที่ต้องทำคือขายโรงเรียนให้ได้เพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ และเหลือเงินก้อนมาตั้งหลักใหม่ ระหว่างที่เครียดกับเรื่องของตัวเอง ผมได้รับโทรศัพท์จากทางบ้านว่าแม่ป่วยหนักมาก
ผมทิ้งทุกอย่างแล้วขับรถกลับบ้านที่ชลบุรีทันที มาถึงแม่ก็อยู่ที่โรงพยาบาลแล้วอาการของแม่ค่อนข้างหนัก จึงต้องทำเรื่องย้ายไปโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่า หมอบอกว่าแม่อาจไม่รอด แต่ผมขอให้ช่วยรักษาให้เต็มที่ดูก่อน แม้จะหวังแค่เปอร์เซ็นต์เดียวผมก็สู้
ความทุกข์เรื่องแม่ถือเป็นความทุกข์ที่ใหญ่หลวงที่สุด ผมนึกเสียใจว่าที่ผ่านมาไม่ได้กลับมาดูแลท่าน ในใจภาวนาขอให้ท่านมีชีวิตรอด แม้ต้องแลกกับอะไรก็ยอม
(โปรดติดตามตอนต่อไปฉบับหน้า)
เรื่อง วรเชษฐ์ เอมเปีย เรียบเรียง เชิญพร คงมา ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์ ผู้ช่วยช่างภาพ กำพล ยอดเมือง แต่งหน้า - ทำผม ภูดล คงจันทร์