วัดบุคคโล

วัดบุคคโล ประกายศรัทธาแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา

วัดบุคคโล ประกายศรัทธาแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา

วัดบุคคโล ประกายศรัทธาแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตธนบุรี พร้อมประวัติความเป็นมาที่มีคุณค่าน่าจดจำ

 

วัดเก่าแก่สมัยอยุธยา บูรณะโดยเจ้าอุบลวรรณา

 

คุณลุงประสิทธิ์ ปั้นสำรอง เจ้าหน้าที่ประจำวัดเล่าให้ฟังว่า วัดบุคคโลเป็นวัดเก่าแก่แต่โบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ประมาณ พ.ศ. 2300 ในบริเวณที่เป็นชุมชนคุ้งน้ำเจ้าพระยา ชื่อว่าตำบลบุคคโล เมืองบางกอก ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างวัด แต่พบหลักฐานว่าวัดแห่งนี้ประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้รากฐานของอาคารสถานต่างๆ มีปัญหา ต้องมีการซ่อมแซมอยู่บ่อยๆ

ครั้นเวลาล่วงเลยมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เจ้าอุบลวรรณา ธิดาเจ้าหลวงแห่งเชียงใหม่ ประทับเรือผ่านมา ทอดพระเนตรเห็นสภาพเสนาสนะของวัดซึ่งทรุดโทรมลงอย่างมาก จึงโปรดให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และเปลี่ยนชื่อวัดตามพระนามของพระองค์ว่า “ วัดอุบลวรรณาราม ” แต่ชาวบ้านทั่วไปก็ยังคงเรียกกันติดปากว่า “วัดบุคคโล”

ตามตำนานเล่าว่า “เจ้าอุบลวรรณา” เป็นธิดาของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ลำดับที่ 6 กับแม่เจ้าอุสาห์ และเป็นขนิษฐาของแม่เจ้าทิพเกสร เจ้าอุบลวรรณาเป็นเจ้าหญิงที่ทรงสิริโฉมและมีเสน่ห์ เป็นสตรีที่ได้รับยกย่องว่ามีความเฉียบแหลมทางธุรกิจและมีใจเมตตาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากจะมีความรู้ความสามารถด้านเย็บปักถักร้อยและการดนตรี อันเป็นคุณสมบัติของสตรีชั้นสูงในยุคนั้นแล้ว ยังมีความเฉลียวฉลาดในการคบหาสมาคมกับผู้คน มีมารยาทสังคมที่งดงาม รู้จักเลือกที่จะเรียนรู้สิ่งดีๆจากชาวต่างชาติที่มาติดต่อด้วย

 

พระพุทธรูป” สื่อศรัทธาแห่งพุทธศาสนา

 

วัดบุคคโล

 

จุดเด่นของวัดบุคคโลแห่งนี้คือ การมีพระพุทธรูปที่สวยงามโดยเฉพาะ หลวงพ่อแพ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในอุโบสถนั้น ถือเป็นพระประธานที่มีความงดงาม มีพระพักตร์เปล่งปลั่ง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยเขียนเล่าไว้หนังสือ “พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์” ว่าด้วยวัดวาอารามว่า หลวงพ่อแพเป็นพระพุทธรูปที่ลอยมากับแพ วนมาอยู่หน้าวัดหลายวัน ชาวบ้านได้ทำพิธีอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้ และเนื่องจากการคมนาคมในสมัยนั้น เดินทางเรือสะดวกสบาย ชาวบ้านจึงนิยมมากราบไหว้ขอพรหลวงพ่อแพเพื่อให้ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง สมความปรารถนา

นอกจากนั้นที่วัดแห่งนี้ยังมีพระพุทธรูปจำลองของพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์องค์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น พระพุทธประทานพร พระพุทธชินราช หลวงพ่อพุทธโสธร หลวงพ่อวัดไร่ขิง พระสีวลีมหาลาภพระสังกัจจายนะ พระพากุละ พระพุทธมงคลทศพลมุนี (พระนาคปรก) ฯลฯ

สิ่งสำคัญที่สะดุดตาที่สุดของวัดแห่งนี้คือ มณฑปที่อยู่บนชั้นดาดฟ้าของอาคารสูง เรียกว่า “ศาลาจัตุรมุขลอยฟ้า” ด้านในมณฑป ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง พระแก้วมรกตจำลอง ส่วนด้านข้างประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิด ฯลฯ จากจุดนี้สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ยามค่ำคืนของกรุงเทพมหานครที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาพาดผ่านได้อย่างชัดเจน ส่วนในช่วงกลางวันผู้คนมักจะมานั่งสมาธิหรือนั่งสงบจิตสงบใจกันเงียบๆ

กิจกรรมที่สำคัญๆ ของวัดแห่งนี้ มีอาทิ การบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา การบวชสามเณรภาคฤดูร้อน การจัดทอดกฐินสามัคคี ฯลฯ โดยท่านเจ้าอาวาสคือพระครูพิศาลถิรธรรม ได้สร้างศาลาการเปรียญขนาดใหญ่ซึ่งสามารถรองรับผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหญิงและชายได้เป็นจำนวนมาก

 

IMG_0035

 

สิ่งที่ท่านเจ้าอาวาสเน้นเป็นพิเศษคือ อยากให้ชาวพุทธได้หันกลับมาเข้าวัดเข้าวากันมากขึ้น ปูชนียวัตถุต่างๆ ที่ประดิษฐานไว้ในวัดก็เพื่อดึงดูดให้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้น้อมนำจิตใจของตัวเองให้เข้าใกล้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากยิ่งขึ้น มิได้ต้องการให้หลงยึดติดในรูปเคารพใดๆ

ในวันที่จิตใจวุ่นวายสับสน ลองพาตัวเองมาไหว้พระ นั่งเงียบๆรับลมเย็นๆ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดแห่งนี้ดูบ้าง อย่างน้อยๆ ใจจะได้สงบเย็น คิดอ่านสิ่งใดด้วยใจที่ปลอดโปร่งยิ่งขึ้น

 

เมื่อธรรมะกับธรรมชาติอันงดงามของสายน้ำเจ้าพระยามาบรรจบกันสิ่งที่เราค้นพบคือ พลังอันยิ่งใหญ่ที่ครอบคลุมใจผู้มาเยือนทุกคนให้สงบเย็นนั่นเอง

 

วัดบุคคโลตั้งอยู่ที่ 142 ถนนเจริญนครซอย 63 แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร


เรื่อง :  เสาวลักษณ์ ศรีสุวรรณ ภาพ :  สรยุทธ พุ่มภักดี

ที่มา: นิตยสาร Secret

Secret Magazine (Thailand)


บทความที่น่าสนใจ

วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร การศึกษาคือหัวใจสําคัญของการเผยแผ่

ย้อนรอยธรรมตามพระราชา วัดบวรนิเวศวิหาร

วัดอัมพวัน สร้างเกราะให้จิตใจด้วยการเจริญสติและปฏิบัติกรรมฐาน

วัดระฆัง วัดสมเด็จโต พรหมรังสี วัดที่ใครๆ ก็อยากไป

วัดราชาธิวาส วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา

ตำนานพระแท่นศิลาอาสน์ ณ วัดพระแท่นศิลาอาสน์แห่งเมืองลับแล

 

 

 

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.