Dhamma Daily : ดูจิต อย่างไร ให้ดำรงอยู่ในสมาธิ ฝึกใจไม่ให้เตลิด
คำถาม คือ มีวิธี ดูจิต ขณะเดินจงกรมอย่างไรให้ได้ตลอดโดยที่จิตไม่ไปไกล
พระอาจารย์มานพ อุปสโม พระอาจารย์ผู้ไขปัญหา อธิบายว่า
“มองไปในตัว จิตก็ไม่ไปที่อื่นแล้ว อย่าทิ้งการมองดูตัวเราเอง มองดูตัวเอง จิตก็อยู่ในตัว หยุดมองดูตัวเองจิตก็ไปข้างนอก แล้วเราก็ห้ามไม่ได้ แต่เราสามารถสกัดได้โดยการเข้ามามองภายใน ก็จะเริ่มเห็นความเป็นจริง ก็ให้ตั้งใจดู แล้วจิตก็จะไม่เตลิดไปไกล ในขณะเดินจงกรม ให้เราเดินไปด้วย ดูความรู้สึกไปด้วย ฝึกดูความคิดบ่อย ๆ จิตก็จะไม่ส่งออก ไม่ทุรนทุราย ไม่ซัดส่าย”
แล้วถ้า ขณะที่นั่งสมาธิดูลมหายใจไปสักพัก ลมหายใจก็หายไป มีแต่ความว่างเปล่า อาการเช่นนี้คืออะไร
พระอาจารย์มานพ ตอบว่า ขณะที่พิจารณาลมหายใจแรก ๆ ลมหายใจของเรายังหยาบอยู่ จึงปรากฏชัด เมื่อพิจารณาไปเรื่อย ๆ ลมหายใจก็ละเอียดขึ้น จนเราตามดูไม่ทัน แต่จริง ๆ ยังมีอยู่ ถ้าปฏิบัติถึงขั้นนี้ให้เรามองดูบริเวณที่ลมหายใจเคยกระทบตั้งใจและใส่ใจดู เราก็จะมองเห็นลมหายใจ นั่นคือการที่จิตเริ่มเป็นสมาธินั่นเอง
ขณะไปปฏิบัติธรรม หลายแห่งมีกฎกำหนดให้ให้ปิดวาจา อยากทราบความหมายของคำว่าปิดวาจา หลายคนเข้าใจว่า เพื่อไม่ให้ผู้ปฎิบัติพูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ เข้าใจถูกหรือไม่
พระอาจารย์มานพ ตอบว่า ปิดก็คือไม่เปิด ปิดวาจาก็คืองดพูดเพราะว่าพูดแล้วอาจเกิดปัญหา คนเราเวลาพูดกันไม่ได้คุยกันแต่เรื่องของสองคน มักจะพาดพิงถึงคนอื่น เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา ถือเป็นการส่งจิตออก ทำให้จิตว้าวุ่น ขณะเดียวกันคนสองคนคุยกันก็มีปัญหาได้ คือชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้างการคุยกันจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อการกระทำความเพียร จึงควรงดคุย คนสองคนก็ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกัน
แต่จริง ๆ แล้วพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สรรเสริญการงดพูดโดยเด็ดขาด สมัยที่พระพุทธเจ้าทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ มีพระสงฆ์ไปจำพรรษาร่วมกันหลายรูปในป่าโดยตั้งกติกาไม่คุยกัน ยกเว้นกรณีที่อุบาสกอุบาสิกาถาม เมื่อไปบิณฑบาต พระจะอมน้ำ ถ้าโยมไม่ถามก็จะอมอยู่อย่างนั้น ถ้าโยมถามก็กลืนน้ำแล้วตอบ เมื่อถึงวันพระพระก็จะมาพบกันครั้งหนึ่ง แต่ผลคือ มีพระรูปหนึ่งหาย ก็สอบถามกันว่าไปไหนได้คำตอบว่าพระรูปนั้นถูกเสือกิน แต่ตั้งกติกาปิดวาจา จึงไม่ได้บอกกัน ดังนั้นการจำพรรษาด้วยกันแล้วไม่พูดกัน บางครั้งก็ทำให้เกิดโทษได้ จึงต้องพิจารณาให้ดีว่าควรพูดเวลาใด
คำถามต่อว่า ในขณะเดินจงกรมมักรู้สึกง่วงแต่เมื่อเราเห็น มันก็จะหายไป แต่เวลานั่งสมาธิ ความง่วงเกิดขึ้นมักมองไม่เห็น ทำให้เคลิ้มหลับไปเลย มีวิธีแก้ไขอย่างไร
พระอาจารย์มานพ ตอบว่า ต้องใส่ใจให้ชัดเจน ดูด้วยจิตที่มีกำลังตั้งใจมองเข้าไปในความรู้สึกง่วง ความง่วงคือความรู้สึกท้อถอย จิตถดถอยต่อการรับรู้อารมณ์ การดูความง่วงจึงต้องออกกำลังมากเหมือนการจะกระโดดข้ามท้องร่อง หากยืนที่ปากท้องร่องแล้วกระโดดข้ามก็ข้ามไม่ได้ ถ้าจะข้ามให้ได้ต้องถอยหลังก่อน เช่นกัน การขจัดความง่วงต้องตั้งสติเพิ่มขึ้นไปอีกสองเท่าและมองบ่อย ๆ ก็จะทันความรู้สึก
อีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ ขณะที่นั่งสมาธิดูลมหายใจไปสักพัก ลมหายใจก็หายไป มีแต่ความว่างเปล่า อาการเช่นนี้คืออะไรหรือคะ
พระอาจารย์มานพ ตอบว่า ขณะที่พิจารณาลมหายใจแรก ๆ ลมหายใจของเรายังหยาบอยู่ จึงปรากฏชัด เมื่อพิจารณาไปเรื่อย ๆ ลมหายใจก็ละเอียดขึ้น จนเราตามดูไม่ทัน แต่จริง ๆ ยังมีอยู่ ถ้าปฏิบัติถึงขั้นนี้ให้เรามองดูบริเวณที่ลมหายใจเคยกระทบตั้งใจและใส่ใจดู เราก็จะมองเห็นลมหายใจ นั่นคือการที่จิตเริ่มเป็นสมาธินั่นเอง
หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำ แฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ ที่นิตยสาร ซีเคร็ต คอลัมน์ Dhamma Daily หรือ dhammadaily2015@gmail.com
ขอขอบคุณภาพประกอบ
Photo by Aaron Burden on Unsplash