10 คำสอน “หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม” สำหรับเตือนสติในการดำเนินชีวิต
10 คำสอน “หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม” สำหรับเตือนสติในการดำเนินชีวิต
- ความดีเป็นศัตรูของชีวิต ความดีต้องมีอุปสรรค เขามาร้าย อย่าร้ายตอบ เขาไม่ดีมา จงใช้ความดีเข้าไปแก้ไข คนตระหนี่ ให้ของที่ต้องใจ คนพูดเหลวไหล เอาความจริงใจ ไปสนทนา
- จงอย่าหวั่นไหว จงทำใจให้ได้เมื่อมีทุกข์ คนที่ทำใจได้เพราะมีสติควบคุมใจได้ ถ้าผู้ใดเจริญสติวิปัสสนากรรมฐาน จิตมั่นคง ต้องช่วยตัวเองได้ ทำใจได้ จะไม่เสียใจ ไม่น้อยใจต่อบุคคลใด คนทำใจได้นั่นแหละ จะได้รับผลดี มีสติเป็นอาวุธของตนตลอดไป
- คนโบราณท่านมีคติดี เวลาไปไหนมาไหนต้อง นิ่งได้ ทนได้ รอได้ ช้าได้ ดีได้ คนสมัยนี้นิ่งไม่ได้ ปากไม่ดี ทนไม่ได้ อยู่ไม่ได้อีก รอก็ไม่ได้ ช้าก็ไม่ได้ จึงเอาดีกันไม่ค่อยจะได้ ในยุคสมัยใหม่ปัจจุบันนี้ สิ่งเหล่านี้มีความหมายมาก แต่ทุกคนไม่เคยคิด
- ใครตั้งใจ “ทำดี” อย่าไปกังวลเรื่อง “ปากคน” เพราะต่อให้เรา “ดี” ขนาดไหน หากไม่ถูก “กิเลส” เขา เขาก็ไม่ชอบ ไม่เข้าใจ เขาก็ตำหนิ ดังนั้น ดี-ชั่ว ไม่ได้อยู่ที่เขาว่าเรา แต่อยู่ที่เราเองทั้งหมด เรารู้เราเองก็เพียงพอแล้ว
- ชาวพุทธแท้ๆ ควรจะได้ดีมีสุขจากการนับถือศาสนาพุทธ โดยแก้ปัญหาที่เกิดด้วยอริยสัจ 4 ทุกข์เกิดแล้วหาสาเหตุของทุกข์ด้วยการกำหนดทุกข์หนอ มันทุกข์ตรงไหนหนอ บำเพ็ญจิตภาวนา สมาธิ ปัญญาจะบอกทุกข์เกิดขึ้นตรงนั้น ต้องแก้ตรงนั้น อย่าไปแก้ผิดจุด อย่าไปให้ผีให้เจ้ามาแก้ หรือเอาหมอดูมาแก้ มันไม่ถูกเรื่อง
- ความอดทนเป็นสมบัติของนักต่อสู้ ความรู้เป็นสมบัติของนักปราชญ์ ความสามารถเป็นของนักประกอบกิจ ความสามารถทุกชนิดเป็นสมบัติของผู้ดี
- วันไหนโยมถูกด่ามากวันนั้นเป็นมงคล วันไหนโดยถูกป้อยอเขาจะล้วงไส้เราโดยไม่รู้ตัว หลงเชื่อเราจะประมาท จะเสียท่าเสียทีต่อมารร้าย และที่เขามาป้อยอกับเรา ระวังให้ดี เขาไม่ได้รักเราจริง
- สร้างบุญใช้สติ ไม่ต้องใช้สตางค์ พวกเราหาแต่สตางค์ ไม่หาสติกันเลย
- คนเราจะทำอะไรได้ก็ช่วงมีชีวิตอยู่เท่านั้นเมื่อตายแล้วไม่สามารถจะทำความดีหรือความชั่วได้เลยฉะนั้นในช่วงที่มีชีวิตอยู่ควรที่จะทำความดีใช้ชีวิตให้เป็นสาระ จะต้องต่อสู้กับความไม่ดีงามทั้งหลายที่มีอยู่รอบตัวเรา
- จงพอใจในชีวิตของตัวเอง โดยมิต้องไปเปรียบเทียบชีวิตของผู้อื่น (ข้อความสุดท้ายใน ส.ค.ส.2559 ที่หลวงพ่อจรัญ เขียนไว้ก่อนละสังขาร)
พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) มีนามเดิมว่า จรัญ จรรยารักษ์ อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2491 เมื่อท่านอุปสมบทแล้ว หลวงพ่อจรัญได้ธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรและที่ต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความรู้และประสบการณ์ ทั้งทางสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน และได้ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิชากับพระอาจารย์หลายท่าน และมีชื่อเสียงในฐานะ พระนักพัฒนา พระนักเทศน์ และพระวิปัสสนาจารย์
ตลอดหลายสิบปีที่ หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม ยังคงจำพรรษาอยู่ ท่านได้เคย เทศนา สั่งสอนธรรม ให้กับลูกศิษย์ลูกหา เอาไว้หลายเรื่อง ซึ่งล้วนแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ตรงใจชาวพุทธ ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้รวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ ที่หลวงพ่อจรัญ เคยเทศนาสั่งสอนเอาไว้ ทั้งจาก การบรรยายธรรม หนังสือ และ การให้สัมภาษณ์ ตามสถานที่ และ โอกาสต่าง ๆ
แม้วันนี้ หลวงพ่อจรัญ จะละสังขารไปแล้ว แต่ทุกคำสอนของท่านยังคงอยู่ และทุกถ้อยคำนั้น ยังคงมีคุณค่า และ เป็นจริงเสมอ ไม่มีวันตกยุคสมัย หากคุณได้อ่านบทความเหล่านี้แล้ว อย่าลืมนำไปปฏิบัติตาม เพื่อความเป็นมงคลแก่ชีวิต
เรื่องโดย : นิตยสาร Secret
ภาพโดย : วรวุฒิ วิชาธร
บทความที่น่าสนใจ
ก้าวผ่านทุกข์ ด้วย 7 คำสอนหลวงปู่ขาว อนาลโย พระนักวิปัสสนาสายหลวงปู่มั่น
10 คำสอน เพื่อออกจากทุกข์ โดย พระอาจารย์ชยสาโร
10 คำสอนให้ข้อคิด โดยท่าน ติช นัท ฮันห์
กรรม กฎแห่งการกระทำ ข้อคิดโดย พระอาจารย์ นวลจันทร์ กิตติปัญโญ