โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

หลักโยนิโสมนสิการ และกัลยาณมิตรสู่การมีชีวิตที่ดี โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

หลักโยนิโสมนสิการ และกัลยาณมิตรสู่การมีชีวิตที่ดี โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

โยนิโสมนสิการ” ไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยินชื่อหลักธรรมนี้อย่างแน่นอน แต่ทว่าน้อยคนนักที่จะเข้าใจและอธิบายหลักธรรมนี้ได้อย่างแจ่มแจ้ง หากอยากทำความเข้าใจหลักธรรมนี้ เราลองมาอ่านจดหมายที่เขียน โดยท่าน ว.วชิรเมธี ส่งถึงหลานรักอย่างน้องปุณณ์และปัณณ์กันเถอะ

ปุณณ์และปัณณ์ หลานรัก

ชีวิตคนเราจะดีหรือเลว จะสำเร็จหรือล้มเหลว จะรุ่งโรจน์หรือร่วงโรย ย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 2 ประการด้วยกัน กล่าวคือ

1. การรู้จักคิด (โยนิโสมนสิการ)

2. การมีมิตรที่ดี (กัลยาณมิตร)

การรู้จักคิดหมายความว่า การรู้จักตั้งข้อสังเกต การรู้จักตั้งคำถาม การรู้จักพินิจพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างเปี่ยมไปด้วยความสนใจใฝ่รู้ การรู้จักใช้ความคิดอย่างพินิจพิเคราะห์ และการรู้จักใช้ความคิดอย่างมีเหตุผล

ส่วนการมีมิตรที่ดีหมายความว่า การรู้จักคบคนที่คิดดีพูดดี ทำดี หรือการรู้จักคบคนดีที่มีสติปัญญาเป็นเพื่อนเป็นต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต หรือเป็นที่ปรึกษา

เพื่อให้หลานเห็นว่า การรู้จักคิดเป็นอย่างไร ปู่ขอยกนิทานเรื่อง “เณรน้อยเจ้าปัญญา” มาเล่าให้ฟัง

กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว…

มีเด็กน้อยคนหนึ่งชื่อ “บัณฑิต” ได้มีโอกาสเข้ามาบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา เจ้าเด็กน้อยคนนี้เป็นเด็กมีปัญญาช่างคิด ช่างสังเกต ช่างตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ด้วยอุปนิสัยใฝ่เรียนใฝ่รู้อย่างนี้เมื่อบวชเข้ามาแล้ว จึงกลายเป็นสามเณรน้อยผู้ชอบค้นคว้าหาความจริงของสิ่งต่าง ๆ ด้วยการตั้งคำถาม

วันหนึ่งสามเณรบัณฑิตติดตามพระอุปัชฌาย์ออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ระหว่างทางสามเณรน้อยพยายามเดินด้วยความสำรวมระมัดระวังอิริยาบถให้สงบ สง่างาม สมกับเป็นสมณะ

ขณะที่กำลังเดินอย่างสงบไปตามท้องถนนที่ทอดผ่านจากชายป่าลัดเลาะไปสู่หมู่บ้านตามลำดับนั้นเอง สามเณรน้อยเจ้าปัญญาก็เริ่มสังเกตเห็นปรากฏการณ์และกิจกรรมบางอย่างระหว่างสองข้างทาง และด้วยความเป็นคนช่างสังเกต เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้อยากค้นคว้าหาความจริงของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเมื่อเห็นสิ่งใดไม่เข้าใจ สามเณรน้อยก็เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็นนั้น ๆ ทันที

เบื้องแรกสามเณรเดินผ่านท้องนา ซึ่งชาวนากำลังไขน้ำจากเหมืองเข้านาอยู่พอดีพอเห็นปรากฏการณ์เพียงเท่านี้ สมองของสามเณรน้อยก็ปุจฉาทันทีว่า

“เอ…น้ำไม่มีชีวิต ไม่มีจิตใจ ทำไมถึงรู้ว่าจะไหลไปทางโน้นหรือทางนี้ ดูสิ น้ำนี้กำลังไหลเข้าไปสู่ท้องนา

“น้ำรู้ได้อย่างไรว่าท้องนาอยู่ทางไหน”

ต่อมาเดินไปอีกหน่อย สามเณรน้อยพบกับช่างไม้ ซึ่งกำลังถากไม้อยู่ใต้ถุนบ้านคราวนี้ปัญญาของสามเณรก็เริ่มสงสัยทันที

“เอ๊ะ ช่างไม้กำลังถากไม้ที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ทั้งยังเป็นปุ่มเป็นปมขรุขระให้ดูเกลี้ยงเกลาสวยงาม ไม้ที่เป็นปุ่มเป็นปมพื้นผิวขรุขระ ทำไมช่างไม้จึงสามารถถากให้เป็นของสวยสดงดงาม ล้ำค่าขึ้นมาได้นะ”

สุดท้ายสามเณรน้อยเดินผ่านบ้านของช่างศร ผู้กำลังเอาไม้คดจ่อเข้าไปในเตาไฟพอไม้ถูกไฟลนจนอ่อนตัวแล้ว ช่างศรก็นำไม้นั้นมาดัดให้ตรงตามที่ต้องการ พร้อมจะใช้เป็นลูกธนูต่อไป เห็นเช่นนั้นแล้วสามเณรเจ้าปัญญาก็เริ่มเอ๊ะ!ขึ้นมาในใจ

“โอ้โฮเฮะ ไม้คด ไม่มีชีวิตจิตใจแท้ ๆ แต่พอช่างศรนำมาดัดแล้ว ก็ยังกลายเป็นไม้ตรงได้ ช่างศรทำได้อย่างไรนะ”

ปรากฏการณ์ทั้งสามอย่างที่สามเณรน้อยผู้ช่างสังเกตและช่างตั้งคำถามพบเห็นระหว่างทางนั้น ทำให้เธอน้อมนำเข้ามาพิจารณาเปรียบเทียบกับตนเองแล้วตั้งคำถามขึ้นมาว่า

 

“ถ้าน้ำที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ก็ยังไขให้ไหลไปได้ตามที่ปรารถนา

ถ้าไม้ที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ก็ยังถากให้เกลี้ยงเกลาสวยงามได้

ถ้าไม้ที่คดงอ ไม่มีชีวิตจิตใจ ก็ยังดัดให้เป็นลูกศรที่ตรงได้

โอ! ถ้าเช่นนั้นแล้ว ทำไมเราจะฝึกตนให้เป็นยอดคนไม่ได้”

 

ครั้นคิดได้อย่างนี้แล้ว สามเณรน้อยจึงขออนุญาตพระอุปัชฌาย์เพื่อเดินทางกลับวัดก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่กุฏิหลังน้อยปิดประตู บรรจงนั่งสมาธิจดจ่ออยู่กับลมหายใจ เวลาผ่านไปครึ่งวัน เมื่อจิตสงบอย่างลึกซึ้ง สามเณรน้อยก็เกิดปัญญาสว่างไสวมองเห็นความจริงของสิ่งต่าง ๆ อย่างแจ่มแจ้งเธอได้บรรลุธรรม กลายเป็นสามเณรน้อยอรหันต์ขณะอายุเพียง 7 ขวบเท่านั้นเอง

เมื่อพระอุปัชฌาย์กลับมาจากบิณฑบาตก็พบว่า ลูกศิษย์สามเณรน้อยผู้ชอบตั้งคำถามผู้ช่างสงสัยไปเสียทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ไม่ใช่เด็กน้อยอีกต่อไปแล้ว แต่เธอคือนักปราชญ์รุ่นเยาว์ ผู้บรรลุถึงจุดสูงสุดของการบวชเรียนเรียบร้อยแล้ว พระอุปัชฌาย์ดีใจมากประนมมือขึ้นพลางโมทนาสาธุการกับความสำเร็จของสามเณรน้อยด้วยใบหน้าที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มอย่างมีความสุข

 

ที่มา : นิตยสาร Secret

สามารถส่งปัญหาธรรมและเรื่องราวดี ๆ สร้างแรงบันดาลใจมาได้ที่ >>> Secret Magazine (Thailand)


บทความที่น่าสนใจ

พระมหาชนกบนท้องถนน ท่านว.วชิรเมธี ยกย่อง ตูน อาทิวราห์ ผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี

น้ำตาซึม! เปิด จดหมายจากท่านว.วชิรเมธี ถึงพี่ตูน ก้อย และทีมงานก้าวคนละก้าว

เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นคนคิดบวกด้วยโยนิโสมนสิการ

ทำอย่างไรถึงจะเป็นคนคิดบวก เผยเคล็ดลับการตั้งเป้าหมายให้เป็นคนคิดบวก

ทุกข์มีคุณได้ ใช้เป็นก็ได้ประโยชน์ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.