ชีวิตที่ใช้ “ใจ”นำทางของ ธนากร ศรีชาพันธุ์
การเป็น “นักกีฬาทีมชาติ” นำพาทั้งชื่อเสียงและเงินทองเข้ามาในชีวิตมากมาย แต่ที่สุดแล้วผม ( ธนากร ศรีชาพันธุ์ ) กลับหันหลังให้สิ่งเหล่านี้ และขอเดินตามทางอุดมการณ์ที่ตั้งใจไว้
ผมฝึกเล่นเทนนิสมาตั้งแต่ 10 ขวบ เพราะคุณพ่อชักชวน เมื่อฝึกเล่นไปได้สักพัก ท่านเห็นว่าฝีมือเข้าท่าจึงส่งเสริมให้เล่นจริงจัง ส่วนตัวผมก็ชอบกีฬานี้ จึงตั้งความหวังว่าจะต้องเอาดีทางนี้ให้ได้
เมื่อฝีมือการเล่นของผมพัฒนาขึ้น คุณพ่อก็พาไปตระเวนแข่งขันรายการต่าง ๆ อายุ 13 ปีผมได้เหรียญทองแดงจากการแข่งขันกีฬาระดับเขตพื้นที่การศึกษาภาคอีสาน อายุ 14 ปีได้เป็นแชมป์เยาวชนแห่งประเทศไทยและติดเยาวชนทีมชาติ คุณพ่อเห็นว่าฝีมือการเล่นของผมดีขึ้นเรื่อย ๆ จึงคิดว่าถ้าได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯน่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า
ผมจึงย้ายจากจังหวัดขอนแก่นเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯคนเดียวตั้งแต่อายุ 16 ปี ชีวิตช่วงนั้นมีแต่การเรียนและการฝึกซ้อมเทนนิส ช่วงแรกผมยังปรับตัวไม่ได้จึงต้องย้ายกลับไปอยู่ที่ขอนแก่นอีก จนคุณพ่อยอมลาออกจากงานประจำเพื่อมาดูแลผม ต่อมาคุณแม่และน้องชายอีก 2 คนก็ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯด้วยกันทั้งครอบครัว
ผมเดินตามเส้นทางการเป็นนักกีฬาเทนนิสมาตลอด ติดทีมชาติชุดใหญ่ตอนอายุ 17 ปี ได้ลงแข่งกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13 (พ.ศ. 2528) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และก้าวสู่การแข่งขันระดับนานาชาติอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน
การเป็น “นักกีฬาทีมชาติ” ทำให้ผมมีโอกาสได้เข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการคัดเลือกนักศึกษาผู้มีความสามารถดีเด่นทางด้านกีฬา ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งผมเลือกเรียนสาขาวิชาที่ชอบและคิดว่าถนัดที่สุดคือ คณะครุศาสตร์ เอกพลศึกษา เพราะ อยากจะกลับไปพัฒนากีฬาเทนนิสให้กับเด็ก ๆ ที่บ้านเกิด
ในขณะที่เป็นนักกีฬาทีมชาติ ผมมีรายได้จำนวนมาก ทั้งเบี้ยเลี้ยงเงินรางวัล เงินอัดฉีดจากสปอนเซอร์ จนสามารถเลี้ยงครอบครัวให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ชื่อเสียงของผมยังปูทางให้น้องชายทั้งสองคน
ก้าวสู่วงการลูกสักหลาดด้วย แม้ใคร ๆ มองว่าผมมีชีวิตที่สุขสบายแล้ว แต่เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของผมกลับไม่ใช่ชื่อเสียงเงินทองเหล่านี้เลย
หลังจากเรียนจบปริญญาโท มีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ สปอร์ตคลับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานราชการหลายแห่งเสนอให้ผมไปทำงานด้วย แต่ผมกลับปฏิเสธโอกาสดี ๆ ที่จะนำพาทั้งชื่อเสียงและรายได้มหาศาลมาให้ในภายภาคหน้า
ผมเลือกหันหลังให้โอกาสเหล่านี้ เพราะต้องการทำตามอุดมการณ์ที่ตั้งใจไว้ นั่นคือการกลับไปพัฒนากีฬาเทนนิสให้เยาวชนที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าทำแล้วจะมีความสุขมากกว่า
ผมจึงสมัครเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาพลศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โชคดีที่ทางคณะมีตำแหน่งว่าง และท่านคณบดีก็เห็นความสำคัญของการพัฒนากีฬาเทนนิสให้แก่นักศึกษา ผมจึงมีโอกาสเข้าไปเป็นอาจารย์ และเมื่อการเตรียมลู่ทางเพื่อกลับไปอยู่ที่ขอนแก่นพร้อมแล้ว ผมก็เข้าไปขออนุญาตคุณพ่อว่า
“พ่อครับ ผมขอกลับไปสอนหนังสือที่ขอนแก่นนะครับ”
“ทำไมอยากจะกลับไปล่ะ อยู่กรุงเทพฯเถอะ ที่นี่เรามีทุกอย่างพร้อมแล้ว”
คุณพ่อพยายามเปลี่ยนความคิดของผม
“ที่ผ่านมาผมไม่เคยขออะไรคุณพ่อเลย แต่ครั้งนี้ผมต้องขอขัดใจสักครั้ง ผมอยากกลับไปอยู่ที่ขอนแก่นจริง ๆ”
เมื่อคุณพ่อเห็นว่าผมตั้งใจจริงและมีงานที่ดีรออยู่จึงยอมให้กลับขอนแก่น ผมสร้างสนามเทนนิสซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นสถาบันที่มุ่งหวังพัฒนาฝีมือให้เยาวชนที่สนใจกีฬาเทนนิส มีรายได้พอเลี้ยงตัว ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะต้องเป็นธุรกิจที่ทำกำไร นอกจากนั้นผมยังไปสอนเทนนิสให้เยาวชนในหลายจังหวัด โดยเป็นวิทยากรให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ส่งเสริมกีฬาเทนนิส
ทุกงานที่ทำในวันนี้ผมได้ทั้งความสุขและความภูมิใจ เพราะเส้นทางชีวิตที่ผมเลือกนั้นให้ความ “สุขใจ”
มากกว่าสิ่งอื่นใด
Secret BOX
ความสุขใจเกิดขึ้นจากความรู้สึก“พอเพียง” และ “พอดี”
ธนากร ศรีชาพันธุ์
เรื่อง:ธนากร ศรีชาพันธุ์ เรียบเรียง:เชิญพร คงมา
ภาพ:วรวุฒิ วิชาธร ผู้ช่วยช่างภาพ:พิชญา สิทธิโชควงกมล
บทความน่าสนใจ
ความรักรสบาร์บีคิว ของ “ครูอารี” ฝรั่งคนเก่งขับซาเล้งขายบาร์บีคิว
น้องโอ เด็กดี ผู้มีมานะ ขายข้าวไข่เจียวเลี้ยงตนและน้อง สานฝันเรียนให้จบดั่งใจหวัง
เรื่องเล่าของคุณลุงขายไข่ไก่ ข้อคิดสำหรับคนชอบต่อราคาพ่อค้าแม่ค้า
จากเด็กขายไม้ขีดไฟกลายเป็นมหาเศรษฐี “อิงวาร์ คัมพรัด” ผู้ก่อตั้ง IKEA
ปัญหาธรรมประจำวันนี้: เพื่อนไม่ดื่มเหล้า แต่เปิดร้าน ขายเหล้า ผิดศีลหรือไม่
รักแท้มีอยู่จริง! คุณตาวัย 80 ยืนขายฟืนริมถนน หาเงินจ่ายค่ารักษามะเร็งให้ภรรยา
“สมหมาย ขายกางเกง ” ธุรกิจของวัยรุ่นหัวการค้า
Organic Supply เป็นมากกว่าร้านขายของเพื่อสุขภาพ
เอาตัวรอดอย่างไร เมื่อพนักงานขายครีม ลากเข้าบูธ ?